14 พ.ย. 2022 เวลา 10:03 • หุ้น & เศรษฐกิจ
S2. EP6. Stock Exit : การขายหุ้น
มาถึง Step ท้ายสุด ใน Investment approach ของเราแล้วนะครับ
หลังจากที่เราได้ลงทุนซื้อหุ้นไปแล้ว ทำการติดตามความเป็นไปของบริษัทไปเรื่อยๆ โดยเราคาดหวังให้ บริษัทที่เราลงทุนไปนั้น จะมีพื้นฐานกิจการที่พัฒนาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ราคา ที่จุดเริ่มต้นเทรน ค่อยๆ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จนเป็นกราฟในเทรนขาขึ้นอย่างชัดเจน นี่เป็นรูปแบบที่เราต้องการ
แต่ในความเป็นจริงนั้น สิ่งต่างๆ ในอนาคต มีความไม่แน่นอนสูง มีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ สิ่งต่างๆ อาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ ดังนั้น เราจำเป็นต้องมีเกณฑ์ในการตัดสินใจ ปรับพอร์ต ขายหุ้น (Stock Exit) ให้ชัดเจน เตรียมแผนการรับมือในสถานการณ์ต่างๆ ให้เรียบร้อย เอาไว้ก่อน เพราะเมื่อเราอยู่ในสถานการณ์นั้นๆจริง จะได้รู้ตัวว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง จะได้ทำได้ทันที อย่างไม่ลังเล
***** ในบทความนี้ ผมจะอ้างอิงเนื้อหาความรู้ที่มาจาก 2 บทความ ที่เคยได้เขียนเอาไว้ก่อนหน้านี้ คือ
ผมจะแบ่ง หุ้นช่วงเวลาของราคาหุ้น ออกเป็น 6 phases ตามที่เขียนไว้ในบท “Margin of safety ในการลงทุน”
และใช้ หลักทฤษฎี reflexivity ของ Soros ตามที่เขียนไว้ในบท “ภาวะกระทิงของหุ้นเกิดได้อย่างไร”
ท่านผู้อ่าน สามารถทบทวน บทความดังกล่าว ก่อนเข้าสู่เนื้อหาใน step นี้นะครับ
****
โดยผมแบ่ง สถานการณ์ที่เราจะเจอ ออกเป็น 4 แบบ และ ในแต่ละสถานการณ์ เรามีการปฏิบัติ ที่แตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้
When to Sell : 4 Situation
1. Improving Fundamental / Great Technical คือ พื้นฐานดีขึ้น และ กราฟสวย เป็นเทรนขาขึ้น
นี้คือ สถานการณ์ ที่เราต้องการเจอ คือการที่ เราเห็น งบการเงิน ในแต่ละไตรมาสที่รายงานออกมาแล้ว บริษัทมียอดขายและกำไรที่เติบโตขึ้น ไปเรื่อยๆ ในแต่ละไตรมาส ตามที่คาดหวัง หรือ ดีกว่าที่คาดหวัง ภาพความคาดหวังในอนาคตยังสดใสต่อเนื่อง พร้อมทั้ง กราฟราคาหุ้นที่ สามารถรักษาตัวให้อยู่ใน Zone ที่เป็น bullish phase (Price>ema50>ema200) เอาไว้ได้ต่อเนื่องเช่นกัน ตลอดช่วงระยะเวลาที่บริษัทยังเติบโตอยู่
หุ้นที่อยู่ในสถานการณ์แบบนี้ คือที่สุดของการลงทุนที่เราหวัง เราควรที่จะ “ถือ” หุ้นเหล่านี้ เอาไว้เพื่อ run trend ขาขึ้น ให้ได้นานที่สุด ถึงแม้ว่า หุ้นเหล่านั้น ขึ้นไปจนราคา เกิน มูลค่าทางพื้นฐาน ที่เราเคยหวังไว้แล้วก็ตาม
เพราะหากกลับไปดู ในทฤษฏี reflexivity ของ Soros จะเห็นได้ว่า ในสภาวะ bull run แบบนี้ จะเป็นตัวกระตุ้น ดึงดูดให้นักลงทุน (ที่มีหลายรูปแบบ หลายแนวทางความคิด) เข้ามามีส่วนร่วมกับตลาด เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกมากมาย และ จะทำให้ ราคาหุ้นสามารถ เหวี่ยงไปจนเกิน มูลค่าพื้นฐานที่เหมาะสม ได้อีกมาก ตราบใดที่ ตลาดยังจะ เชื่อแบบนั้นอยู่
ดังนั้นผมคิดว่า เรายังไม่จำเป็นต้องขาย ให้ อดทนที่จะรวยไปกับหุ้นตัวนี้ ให้นานที่สุด จนกว่าจะมีสัญญาณ เตือน จากทั้งพื้นฐาน และ ทางเทคนิค มาเตือนว่าถึงเวลาแล้ว
2. Improving Fundamental / Poor technical คือ พื้นฐาน(ยังดู) ดีขึ้น แต่ กราฟราคาตกลง จากเทรนขาขึ้น
หลังจาก หุ้นที่ วิ่งขึ้นมาใน Bullish phase เรื่อยๆ และ อยู่ๆ กราฟราคา เริ่มมีการเสียทรงขาขึ้น คือ ราคาหุ้นลงไปต่ำกว่าเส้น ema 50 วัน (เข้าสู่ Warning phase: EMA50>Price>EMA200) จน เลยเถิด ลงไปเรื่อยๆ จนต่ำกว่าเส้น ema 200 วัน (เข้าสู่ Distribution phase : EMA50>EMA200> Price)
หุ้นที่อยู่ใน ลักษณะแบบนี้ ถือว่า มีสัญญาณทางเทคนิคคอลสำคัญ ที่เตือนว่า ตลาดกำลังปรับเปลี่ยนมุมมอง เราควรให้ความระมัดระวัง และ พิจารณาว่า อาจจะถึงเวลาที่จะต้อง exit ค่อยๆ ทะยอย ขาย Exit ทำกำไร ออกมาในช่วงนี้ ตามระดับแนวรับทางเทคนิคคอลต่างๆ (ถึงแม้ว่าเราจะยังมองว่า พื้นฐานมันก็ยังดูเติบโตอยู่ก็ตาม)
หรือ ในกรณีที่ เราเพิ่งซื้อหุ้นต้นเทรน มาใหม่ๆ แล้วเกิดราคาไม่สามารถ set up เป็นเทรนขาขึ้นได้ ผลประกอบการให้ออกมาดี ก็ยังไม่ได้ช่วยให้ ราคาหุ้น วิ่งไปเป็น เทรนขาขึ้นได้ ซ้ำยังกลับไปเป็น เทรนขาลงเหมือนช่วงก่อนหน้า หุ้นลักษณะนี้ แสดงว่า คงยังไม่ถึงเวลาของมัน ยังไม่ใช่ในสิ่งที่เราต้องการ ผมคิดว่าควรหลีกเลี่ยง หุ้นลักษณะนี้ exit cut loss ไปตั้งแต่เนิ่นๆ เช่นกัน
เพราะหากกลับไปดู ในทฤษฏี reflexivity ของ Soros จะเห็นได้ว่า ในช่วงเวลาแบบนี้ นักลงทุนกลุ่มต่างๆ (ที่มีหลายรูปแบบ หลายแนวทางความคิด) ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในหุ้นตัวนี้ตลอดช่วง bullish phase ที่ผ่านมา จะเริ่มมี กลุ่มนักลงทุนบางกลุ่ม (ที่ไม่ใช่ “เรา” ที่ยังมองว่าดีอยู่) จะเริ่มเกิดข้อสงสัย หรือ เล็งเห็นถึงความเสี่ยง ความกังวล บางอย่าง และ ค่อยๆ เริ่มเทขาย ทำกำไรออกมา
และ หากยิ่งเทขายกันมากขึ้น จนราคาหุ้น เข้าสู่ bearish phase (EMA200>EMA50>Price) เมื่อไหร่ จะยิ่งมีความเสี่ยงมาก เพราะราคาหุ้นสามารถเหวี่ยง ตัวลงไปได้ต่ำกว่า มูลค่าพื้นฐานของกิจการได้อีกมาก จากแรงขายหนีออก ที่รุนแรง
ผมคิดว่าเราควรหลีกเลี่ยงการ(ทน)ถือหุ้น ที่อยู่ในช่วงที่ ราคาหุ้นนั้นเป็นต่ำกว่า เส้น ema200 วัน ทั้งที่เป็น distribution phase หรือ bearish phase ถึงแม้ว่าตอนนั้นเราจะคิดว่า พื้นฐานน่าจะดีอยู่ก็ตาม เรื่องนี้หากคุณเป็นนักลงทุนแนวพื้นฐานเป็นหลัก คุณจะรู้สึกขัดแย้ง กับความรู้สึกของคุณอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม หากคิดให้ถี่ถ้วนจะพบว่า rewards ที่ได้จากการทนถือ นั้น ไม่คุ้มค่าต่อ risk ที่อาจจะเกิดขึ้นเลย
เพราะ ถึงแม้ว่าเรามองจะได้ถูกต้อง (ตลาดมองผิด) และราคาหุ้นกลับมาใหม่ได้ แต่ในช่วงระยะเวลาที่เรารออยู่นั้น เราก็ไม่ได้อะไร อีกทั้งเราก็ต้อง เสียเงินที่ถูก lock อยู่ในหุ้นตัวนั้น ไปในช่วงเวลาที่ตลาด(ยัง)ไม่เชื่อ เอาไปสร้างผลประโยชน์ในหุ้นตัวอื่นๆ ไม่ได้ ซึ่งอาจจะเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากก็ได้
อีกทั้ง ยังเป็นการเปิด ความเสี่ยงสำคัญ ในกรณีเลวร้าย คือ เราเองต่างหากที่มองผิด ตลาดนั้นมองได้ถูกต้องอยู่แล้ว กว่าเราจะมารู้ว่าพื้นฐานมันเปลี่ยนไปแล้ว ราคาหุ้นก็ลงมามาก สร้างความเสียหายไปมากแล้ว คือ ไม่ว่าจะเป็น กรณีใด rewards ที่ได้ไม่คุ้มค่ากับ risk ที่เกิดขึ้น ทั้งนั้น
ดังนั้น การ exit ออกมาตั้งหลัก ถือเงินสดรอ ในช่วงต้นของ distribution phase และอดทนที่จะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมใดๆ ในช่วงขาลงของหุ้นตัวนั้นๆ ถือเป็นวิธีการหนึ่ง ในการบริหารความเสี่ยงของ portfolio หากบริษัทนั้นดีจริง เราค่อยกลับไปซื้อ เมื่อ ราคาหุ้นพลิกกลับไปเป็น จุดเริ่มต้น เทรน ขาขึ้นอีกครั้ง
3. Deteriorating Fundamental / Great technical  พื้นฐานแย่ลง แต่ กราฟราคา ยังอยู่ในเทรนขาขึ้นอยู่
กรณีนี้ คือ หุ้นที่เราถือ มีราคาวิ่งขึ้นและวิ่งอยู่ bullish phase มาได้ดี แต่ใน ขณะ ที่เราทำการติดตาม ปัจจัยทางพื้นฐานต่างๆ ของบริษัทนั้น เราเริ่มมองเห็น ความเสี่ยงบางอย่าง ที่จะมีผลกระทบต่อ ผลการดำเนินงานในอนาคต จนทำให้ upside ที่เคยมองไว้ตอนทำ valuation ในตอนแรกที่ซื้อนั้น เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ แย่ลง ไม่ดี อย่างที่เคยคิดเอาไว้
สถานการณ์ในลักษณะนี้ แสดงให้เห็นว่า เราอาจจะมองความเสี่ยงของบริษํท ได้ก่อน คนส่วนใหญ่ในตลาด เราเป็นนักลงทุนกลุ่มแรกๆ ที่ตั้งข้อสงสัย ต่ออนาคตของหุ้นตัวนั้น โดยที่ตลาดส่วนใหญ่ยังไม่รู้ถึงประเด็นความเสี่ยง
ดังนั้น เราจะสามารถ ค่อยๆ ทะยอย exit ขายทำกำไรออก แบบไม่ต้องรีบร้อนนัก ขายไปตามแนวโน้มของขาขึ้น ให้ได้ราคาที่ดี ในช่วงนี้ จะมีคนมารับซื้อต่อได้ง่ายเพราะตลาดยังคึกคักอยู่ แต่ควรจะขายให้หุ้นหมด ก่อนที่ งบการเงินจะออก มิฉะนั้น งบที่ออกมาแย่ (กว่าที่ตลาดมอง) จะไปกดดันทำให้แนวโน้มขาขึ้นนั้นเสียไปได้
4. Deteriorating Fundamental / Poor technical  พื้นฐานแย่ลง และ กราฟราคาตกจาก เทรนขาขึ้น
กรณีนี้ คือ หุ้นที่เราถือ กำลังมีปัจจัยลบเข้ามากระทบ จนทำให้ พื้นฐานของกิจการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง หรือ แย่กว่าที่เราเคยคิดไว้จากตอนแรกที่ลงทุนไป พร้อมกับ ราคาหุ้นที่ลงไปต่ำกว่าเส้น ema 200 วัน
สถานการณ์ลักษณะนี้ มักจะเกิดขึ้นเมื่อมี การประกาศผลการดำเนนงานที่ผิดหวัง พร้อมการเทขายของ นักลงทุน ที่ผิดหวัง ในเมื่อเหตุผลที่เราซื้อในตอนแรก ว่า กิจการของบริษัทจะดีขึ้น กลับแย่ลง ไม่ได้เป็นไปดังหวัง สิ่งที่จะผลักดันให้ราคาหุ้นขึ้นนั้น หายไป เราควรรับความจริง ว่า เราคิดผิดได้ และ ตัดสินใจ cut loss exit ให้รวดเร็ว
และอย่างลืมว่าจาก ทฤษฏี reflexivity ของ Soros การที่ราคาหุ้น วิ่งเข้าสู่ bearish phase แล้วนั้น จะทำให้ราคาหุ้น สามารถลงได้ต่ำกว่า ราคามูลค่าที่เหมาะของกิจการนั้นๆ ได้อยู่มาก จากการเทขายของนักลงทุน กลุ่มต่างๆ ที่มี ต่างฝ่ายๆ ต่างมี เหตุผลของตัวเองในการขาย และ ยิ่งพื้นฐานของกิจการแย่ลงแบบนี้ยิ่งทำให้ อะไรๆ ยิ่งแย่ไปกว่าเดิมอีก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ในบรรดา สถานการณ์อื่นๆ ทั้งหมด
ในพอร์ตการลงทุนของเรา ควรที่จะมีหุ้นที่อยู่ใน สถานการณ์ที่ 1 คือ พื้นฐานดีขึ้นและอยู่ใน bullish phase เป็นหลัก จึงจะทำให้สามารถสร้างพอร์ตให้เติบโตต่อเนื่องได้ หุ้นที่เราอยู่ในสถานการณ์อื่นๆ ไม่ได้มีส่วนช่วยอะไรให้พอร์ตเราดีขึ้น ซ่ำยังจะเป็นตัวดึงที่ทำให้ พอร์ตเราไม่เติบโตไปไหน
เมื่อ เราได้ผ่าน Step Exit นี้ ออกมาแล้ว เงินสดที่มีอยู่ เก็บเอาไว้เพื่อรอหาโอกาสดีๆ โอกาสใหม่ๆ ขั้นตอนต่อมาคือการ วน loop กลับไปยัง ขั้นตอนแรก คือ การคัดกรองหุ้น (stock screening) ใหม่อีกครั้ง ทำเป็นลักษณะวน loop ต่อไปแบบนี้เรื่อยๆ ตราบที่เรายังลงทุนอยู่
ขั้นตอนทั้งหมดนี้ คือ วิธีการลงทุน เป็น playbook ที่ผมนำมาใช้ ขอบคุณทุกท่าน ที่รอติดตามอ่าน และขออภัยที่ทิ้งช่วงแต่ละตอนค่อนข้างนานนะครับ เนื้อหาในตอนหน้า จะเป็น บทสรุปสุดท้าย อีกซักเล็กน้อย ก่อนจบ series นี้ อย่างเป็นทางการ
ขอบคุณครับ
Alpha Investing
14 November 2022

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา