14 พ.ย. 2022 เวลา 11:03 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (10-14 พ.ย. 2565) หลายคนน่าจะเห็นข่าวของ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น MORE ขึ้นมาบนฟีดอยู่บ่อยๆ
ช่วงแรกก็เป็นการรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่ร่วงหนัก ซึ่งก็ไม่แปลกสำหรับหุ้นเล็กในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ที่มีสภาพคล่องน้อย
แต่ไปๆ มาๆ จากข่าวหุ้นร่วง ก็กลายเป็นดราม่าครั้งใหญ่ที่สารพัดองค์กรในตลาดหุ้นต้องเข้ามามุง แต่จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้คืออะไร TODAY Bizview จะสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ภายใน 10 ข้อ
1. วันที่ 10 พ.ย. 2565 ราคาหุ้น MORE ปรับลงแรงประมาณ 30% จากตอนเช้าที่ 2.90 บาทต่อหุ้น ก่อนปิดตลาดเหลือ 1.95 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของวัน (Floor) คาดว่านักลงทุน Panic Sell เพราะช่วงนั้นมีข่าวลบเกี่ยวกับหุ้น
2. ข่าวที่ว่าคือ ข่าวลือว่ามีนักลงทุนรายใหญ่คีย์ออเดอร์ผิด โดยเคาะราคาต่ำผิดปกติ (แล้วดันมีคนมาแมชออเดอร์ด้วย) กับข่าวที่ราคาหุ้นแปลงสิทธิ (Warrant) ของบริษัทฯ MORE-W2 ร่วงเหลือ 0.01 บาท ทั้งที่ราคาแปลงสูงถึง 2.00 บาท (อัตราแปลง 1 : 1)
3. แต่ในวันเดียวกับ บริษัทฯ ก็ส่งหนังสือชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัทฯ ไม่ได้มีพัฒนาการสำคัญอะไรที่ส่งผลให้ราคาหุ้นผันผวนผิดปกติ และถ้ามีจะแจ้งให้ทราบต่อไป
1
4. วันที่ 11 พ.ย. 2565 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ออกแถลงการณ์ เตือนนักลงทุนให้ใช้ความระมัดระวังก่อนเทรดหุ้น MORE เพราะราคาหุ้นยังร่วงต่อเนื่องจากราคา Floor (วันนั้นปิดที่ 1.37 บาทต่อหุ้น) รวมถึงกำชับให้บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ดูแลการซื้อขายอย่างใกล้ชิด
5. ในวันเดียวกัน หุ้น MORE แจ้งงบไตรมาส 3 ปี 2565 ขาดทุน 6.83 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 89.48 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนแรกของปีนี้ยังกำไร 22.15 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 111.27 ล้านบาท
6. ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (12-13 พ.ย. 2565) กระแสหุ้น MORE ยังได้รับความสนใจต่อเนื่อง เพราะมีข้อสันนิษฐานว่า ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรงอาจเป็นความตั้งใจของนักลงทุนรายใหญ่ที่ตั้งนอมินีมารับซื้อหุ้นที่ขาย แต่เป็นการซื้อด้วยบัญชี Margin (กู้เงิน Broker มาซื้อหุ้น) วงเงินประมาณ 4,500 ล้านบาท
1
7. ข้อสันนิษฐานนี้ได้รับการยืนยันในคืนวันที่ 13 พ.ย. 2565 เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) เตรียมจัดงานแถลงข่าวเช้าวันที่ 14 พ.ย. 2565 เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น MORE
8. ประเด็นการทุบหุ้น MORE เริ่มบานปลาย เพราะมีรายงานข่าวว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้เข้ามาตรวจสอบความผิดปกติ และจะใช้อำนาจของ ปปง.ขอให้ธนาคารระงับการถอนเงินค่าขายหุ้นออกไปก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้
9. วันที่ 14 พ.ย. 2565 ตลาดหลักทรัพย์ฯ กับ ASCO ชี้แจงว่า กรณีหุ้น MORE ไม่ได้ส่งผลกระทบกับบริษัทหลักทรัพย์ การส่งมอบหุ้น และภาพรวมของตลาดหุ้น แต่ได้สั่งระงับการซื้อขาย (SP) ไปก่อนจนกว่าจะมีความคืบหน้า และปฏิเสธจะให้รายละเอียดที่เกี่ยวกับหุ้น MORE เพิ่มเติม เพราะอาจมีผลต่อรูปคดี
10. ล่าสุด บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง ทยอยออกมาชี้แจงว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับหุ้น MORE ไม่กระทบต่อพื้นฐานและฐานะทางการเงินของตัวเอง ส่วน 'อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ' ซีอีโอและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MORE ชี้แจงว่ายังถือหุ้นครบและไม่คิดจะขายออก
[ อดีตของหุ้น MORE ]
อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้นักลงทุนไม่สบายใจ คือ ประวัติที่ผ่านมาของหุ้น MORE โดยในช่วงปี 2561 อดีตผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ DNA ชื่อเดิมของหุ้น MORE เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฉ้อโกงบิตคอยน์ (Bitcoin) และคดีฟอกเงิน
ในปีเดียวกัน DNA ยังขายบริษัทย่อย บริษัท ดีเอ็นเอ รีเทล ลิ้งค์ จำกัด (DRL) ที่เป็นรายได้หลัก ซึ่งเป็นการกระทำที่สวนทางกับความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) และอาจเสี่ยงถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้น อีกทั้งยังทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องออกหนังสือเตือนนักลงทุนให้ศึกษาข้อมูลให้รอบครอบอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีความไม่สบายใจต่อแพทเทิร์นของราคาหุ้น MORE ในตอนนี้ ที่คล้ายกับราคาหุ้น DNA กล่าวคือ ถูกลากขึ้นไปสูงๆ ในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็ถูกทุบราคาลงมาเพราะข่าวร้าย
รวมถึงการมีรายชื่อนักการเมืองเคยเป็นอดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเดิมก่อนเปลี่ยนชื่อ
ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรกของหุ้น MORE คือ
1. อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ จำนวน 1,547,200,165 หุ้น สัดส่วน 23.69%
2. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวน 886,525,028 หุ้น สัดส่วน 13.57%
3. ศิริศักดิ์ ปิยทัสสีกุล จำนวน 742,862,800 หุ้น สัดส่วน 11.37%
4. อภิมุข บำรุงวงศ์ จำนวน 586,778,233 หุ้น สัดส่วน 8.98%
5. วสันต์ จาวลา จำนวน 431,989,100 หุ้น สัดส่วน 6.61%
#TODAYBizview
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
โฆษณา