14 พ.ย. 2022 เวลา 13:42 • ไลฟ์สไตล์
กิจในอริยสัจ คือสิ่งที่ต้องทำต่ออริยสัจ 4 แต่ละข้อ ได้แก่
ปริญญา - ทุกข์ ควรรู้ คือการทำความเข้าใจปัญหาหรือสภาวะที่เป็นทุกข์อย่างตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง เป็นการเผชิญหน้ากับปัญหา
ปหานะ - สมุทัย ควรละ คือการกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เป็นการแก้ปัญหาที่เหตุต้นตอ
สัจฉิกิริยา - นิโรธ ควรทำให้แจ้ง คือการเข้าถึงภาวะดับทุกข์ หมายถึงภาวะที่ไร้ปัญหาซึ่งเป็นจุดมุ่งหมาย
ภาวนา - มรรค ควรเจริญ คือการฝึกอบรมปฏิบัติตามทางเพื่อให้ถึงความดับแห่งทุกข์ หมายถึงวิธีการหรือทางที่จะนำไปสู่จุดหมายที่ไร้ปัญหา
กิจทั้งสี่นี้จะต้องปฏิบัติให้ตรงกับมรรคแต่ละข้อให้ถูกต้อง การรู้จักกิจในอริยสัจนี้เรียกว่ากิจญาณ
กิจญาณเป็นส่วนหนึ่งของญาณ 3 หรือญาณทัสสนะ (สัจญาณ, กิจญาณ, กตญาณ) ซึ่งหมายถึงการหยั่งรู้ครบสามรอบ ญาณทั้งสามเมื่อเข้าคู่กับกิจในอริยสัจทั้งสี่จึงได้เป็นญาณทัสนะมีอาการ 12 ดังนี้
(1) สัจญาณ หยั่งรู้ความจริงสี่ประการว่า
1 นี่คือทุกข์
2 นี่คือเหตุแห่งทุกข์
3 นี่คือความดับทุกข์
4 นี่คือทางแห่งความดับทุกข์
(2) กิจญาณ หยั่งรู้หน้าที่ต่ออริยสัจว่า
1 ทุกข์ควรรู้
2 เหตุแห่งทุกข์ควรละ
3 ความดับทุกข์ควรทำให้ประจักษ์แจ้ง
4 ทางแห่งความดับทุกข์ควรฝึกหัดให้เจริญขึ้น
(3) กตญาณ หยั่งรู้ว่าได้ทำกิจที่ควรทำได้เสร็จสิ้นแล้ว
1 ทุกข์ได้กำหนดรู้แล้ว
2 เหตุแห่งทุกข์ได้ละแล้ว
3 ความดับทุกข์ได้ประจักษ์แจ้งแล้ว
4 ทางแห่งความดับทุกข์ได้ปฏิบัติแล้ว
อ้างอิง
ราชบัณฑิตยสถาน. (2548). พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. หน้า 65-66.
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พุทธธรรม" มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2546
ภาพ วัดหนองเสือ จ.กาญจนบุรี
โฆษณา