15 พ.ย. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เปิดความเสี่ยงเศรษฐกิจที่อาจจะต้องเจอในปีหน้า!
เผลอแปปเดียวก็ใกล้จะหมดปี 2022 แล้ว ปีนี้ดูเหมือนจะเป็นปีที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไม่รู้ว่าเพราะโลกหมุนไวขึ้น หรือเพราะมีเรื่องราวมากมายเต็มไปหมด โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนมากมายเข้ามา
นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครน ก่อให้เกิดผลกระทบอีกมากมาย ทั้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และสั่นสะเทือนเศรษฐกิจโลก
ไม่มีอีกแล้วยุคที่เงินเฟ้อต่ำ แต่กลายเป็นยุคที่เงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
ไม่มีอีกแล้ว Fed ที่เคยกดดอกเบี้ยให้ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน กลับกลายเป็นยุคที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยแรงและเร็วไม่หยุดหย่อน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวความเสี่ยงที่จะตามเราไปในปีหน้า และยังมีความเสี่ยงอีกมากมายที่ยังคงรอเราอยู่
ในบทความนี้ Bnomics จึงได้รวบรวมการวิเคราะห์จาก Bloomberg ถึงความเสี่ยงต่างๆ ต่อเศรษฐกิจในปีหน้า
เปิดความเสี่ยงเศรษฐกิจที่อาจจะต้องเจอในปีหน้า!
📌 ดอกเบี้ยขาขึ้น
ถ้าคุณคิดว่าอัตราดอกเบี้ยตอนนี้สูงแล้ว ขอให้เตรียมใจได้เลยว่าปีหน้ายังสูงได้มากกว่านี้ เพราะดอกเบี้ยนโยบายที่ Fed ตั้งเป้าไว้อยู่ที่ 5% ในช่วงต้นปี 2023 ซึ่งถือเป็นการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดที่สุดในรอบทศวรรษ เนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อสูง นี่จึงอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่สามารถ Soft landing อย่างที่เคยคิดไว้ได้
ทาง Bloomberg ได้คาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะกระทบกับอุตสาหกรรมที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงภาคยานยนต์ และที่สำคัญคืออาจมีคนอเมริกันกว่า 2 ล้านคนต้องตกงาน เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงกลางปีหน้า
และไม่ได้มีแต่ Fed เท่านั้นที่ดำเนินนโยบายเข้มงวด เพราะทั่วโลกก็เผชิญกับเงินเฟ้อสูงเหมือนกับที่สหรัฐฯ เผชิญเช่นกัน ทำให้ธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศก็ต้องดำเนินนโยบายไปในทิศทางเดียวกับ Fed
📌 ความเสี่ยงหนี้สาธารณะที่หวนคืน
สิ่งที่ตามมาต่อจากดอกเบี้ยสูง คือในปีหน้าเราอาจเห็นความเสี่ยงปัญหาหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น
ถ้าพูดง่ายๆ ในอดีตที่ผ่านมา หนี้สาธารณะจะไม่เป็นปัญหาอะไร หากการเติบโตของเศรษฐกิจยังคงมากกว่าอัตราดอกเบี้ย รัฐบาลก็จะยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่เสมอ
แต่สถานการณ์ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว ด้วยความที่เศรษฐกิจเติบโตช้าลง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ประเทศเศรษฐกิจหลักๆ อาจจะต้องเผชิญกับปัญหาหนี้ที่ไม่ยั่งยืน ไม่สามารถชำระหนี้คืนตามกำหนดได้ในที่สุด
จะเห็นได้ว่าเพียงแค่ในปีนี้ ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ก็เริ่มผุดขึ้นมาในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไล่มาตั้งแต่เลบานอน แซมเบีย จนมาถึงศรีลังกา
📌 ตลาดที่อยู่อาศัยที่ช่างเปราะบางเหลือเกิน
สถานการณ์การเงินที่ตึงตัว ก็เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากเป็นอย่างยิ่งสำหรับตลาดบ้านทั่วโลก เมื่อวัดจากสัดส่วนราคาบ้านต่อรายได้ แคนาดาและนิวซีแลนด์ ถูกจัดอันดับว่ามีความเสี่ยงฟองสบู่ในตลาดบ้านสูงที่สุด
ส่วนสหรัฐฯ ก็อาจไม่ได้เผชิญเสี่ยงสูงระดับต้นๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่เสี่ยงเลย ทาง Bloomberg คาดว่าถ้าราคาบ้านทั่วสหรัฐฯ ลดลง 15% จะทำให้ค่างวดบ้านไปสอดคล้องกับรายได้มากขึ้น
📌 ปัญหาของจีน จะกลายเป็นปัญหาของทุกคน
อย่างที่ทราบกันว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้ ถูกปรับลดคาดการณ์ลงเนื่องจากมีการล็อกดาวน์อยู่บ่อยครั้งและยังมีวิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์
หากจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid แล้วเริ่มดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง ก็อาจจะช่วยชดเชยการที่เศรษฐกิจหดตัวลงจากภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่กำลังมีปัญหาได้
แต่ในตอนนี้ ทางรัฐบาลจีนก็ดูเหมือนยังไม่ได้มีกำหนดออกมาชัดเจนว่ารัฐบาลจีนยกเลิกมาตรการ Zero Covid เมื่อไหร่ และอย่างไร
ดังนั้นการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนต่อจากนี้ ก็อาจก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจทั้งโลก โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของจีนแถบเอเชีย และประเทศผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์หลักๆ เช่น ออสเตรเลีย และบราซิล
📌 สถานการณ์พลังงานในยุโรปที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย
หลังจากรัสเซียบุกยูเครน กลุ่มประเทศแถบยุโรปหลายประเทศต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ และราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทาง Bloomberg คาดว่า จากทั้งสถานการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาพลังงานที่สูงเช่นนี้ ก็อาจทำให้เศรษฐกิจแถบยุโรปตกอยู่ในภาวะถดถอย โดยคาดว่า GDP จะหดตัว 0.1% ในปีหน้า
แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะลดลงจากจุดสูงสุดที่ 130 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงครึ่งปีแรก แต่จากมาตรการแทรกแซงราคาของรัสเซีย ความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นของจีน และการลดปริมาณการผลิตน้ำมันของ OPEC ก็อาจทำให้ราคาเพิ่มขึ้นได้ในปีหน้า และมีโอกาสที่จะเกิดวิกฤติพลังงาน ทั้งในยุโรปและที่อื่นๆ ซึ่งจะยิ่งเร่งให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นไปอีก
แต่หากโชคดีว่าสภาพอากาศไม่ได้ย่ำแย่จนเกินไป และรัฐบาลมีนโยบายที่สามารถจัดการการขาดแคลนก๊าซได้ ยุโรปก็อาจหลีกหนีภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปได้ แต่ถ้าโชคร้ายว่าสภาพอากาศย่ำแย่ และรัฐบาลไม่สามารถจัดการความขาดแคลน เศรษฐกิจก็อาจจะหดตัวมากเทียบเท่ากับตอนที่เกิดวิกฤติการณ์การเงินโลกก็เป็นได้
📌 ความร่วมมือระหว่างประเทศอาจถึงคราวต้องปล่อยมือกันไปเรื่อยๆ
สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน บีบบังคับให้ประเทศยุโรปต้องเลือกข้าง ทำให้ประเทศที่ตัดสินใจเลือกอยู่ฝั่งตรงข้ามรัสเซียต้องเผชิญกับวิกฤติขาดแคลนพลังงาน สถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการแตกเป็นเสี่ยงๆ ทางภูมิรัฐศาสตร์
นอกจากปัญหาที่เกิดในยุโรปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ก็ดูเหมือนจะแย่ลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากประธานาธิบดีไบเดนก็ยังคงใช้นโยบายกำแพงภาษีเหมือนสมัยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ และยังระงับการส่งออกหรือนำเข้าสินค้า (Embargo) ประเภทเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นอีกด้วย
รอยร้าวทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศนี้ จะกลายเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะ โดยเฉพาะจีนที่อาจจะต้องเจ็บหนัก
ถ้าในกรณีที่เลวร้ายที่สุด หากทุกความเสี่ยงเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน คาดว่าอาจทำให้ผลผลิตทั่วโลกลดลงไปถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว สถานการณ์เศรษฐกิจที่ดูมืดมนในเบื้องหน้าจึงดูเหมือนเป็นหนทางที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
ถึงเวลาที่เราต้องยอมรับว่าโลกทุกวันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ไม่มีโลกที่เป็นยุคเงินถูก ยุคที่เต็มไปด้วยอุปสงค์มหาศาลจากจีน ยุคที่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อยู่ในระดับต่ำ แต่กลายเป็นยุคที่เงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และตลาดการเงินสูญเสียมูลค่าไปหลายล้านล้าน
อย่างไรก็ตาม ถ้า Fed สามารถทำให้เกิด Soft landing ได้จริง โดยไม่กระทบตลาดแรงงาน สภาพอุณหภูมิในยุโรปอุ่นขึ้น จีนยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์เร็วขึ้น สถานการณ์เศรษฐกิจโลกก็อาจจะไม่แย่อย่างที่คิดก็ได้….
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
Reference:
โฆษณา