16 พ.ย. 2022 เวลา 08:39 • การศึกษา
หากที่บ้านของเพื่อนๆ เดินสายไฟฟ้าระบบเก่า คือ ที่แผงไฟฟ้าใช้คัทเอ้าท์ฟิวส์เป็นแผงไฟฟ้าหลักของบ้าน แล้ววันหนึ่งต้องการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นสัก 1 เครื่องมาใช้งาน จะมีการเดินสายอย่างไรจึงมีความปลอดภัยในการใช้งานครับ
แนะนำ
ก่อนที่จะเลือกซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นมาใช้งาน เพื่อนๆจะต้องสำรวจดูว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องทำน้ำอุ่นที่จะซื้อมาใช้งาน ขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าที่บ้านเพียงพอต่อการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นเพิ่มได้หรือไม่ครับ
ถ้าขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า 5(15) แอดมินแนะนำให้เพื่อนๆติดต่อการไฟฟ้าในพื้นที่เพื่อขอขยายขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าเป็น 15(45) ดีกว่าครับ ซึ่งกรณีนี้เพื่อนๆจะต้องเปลี่ยนขนาดสายเมนไฟฟ้าใหม่ , ปรับปรุงตู้ไฟฟ้าใหม่โดยใช้งานตู้คอนซูมเมอร์ที่ได้มาตรฐาน มอก. 1436-2540 , จัดทำหลักดินที่ได้มาตรฐานและต้องติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว ( เบรกเกอร์กันไฟรั่ว ) ตามข้อกำหนดการไฟฟ้าในพื้นที่ครับ
ตัวอย่างตู้คอนซูมเมอร์ที่ได้มาตรฐาน
หากพิจารณาดูแล้วขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้งานอยู่เพียงพอต่อการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นได้ เพื่อนๆก็สามารถซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นที่ถูกใจมาติดตั้งได้ครับ
การติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นกับระบบแผงไฟฟ้าที่เป็นระบบเก่าโดยทั่วไป ก็มักจะนิยมติดตั้งเบรกเกอร์กันไฟรั่วก่อนเข้าเครื่องทำน้ำอุ่น และนิยมตอกแท่งหลักดินใหม่สำหรับเครื่องทำน้ำอุ่นโดยเฉพาะ ดังรูปตัวอย่างครับ
ตัวอย่างการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นกับระบบไฟฟ้าเก่า
ซึ่งการติดตั้งลักษณะนี้หากเครื่องทำน้ำอุ่นเกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว ก็จะไหลผ่านสายกราวด์ไปยังแท่งหลักดิน ที่ดินจะมีความต้านทานสูง ทำให้กระแสไฟรั่วไหลกลับไปยังแหล่งจ่ายไฟหม้อแปลงการไฟฟ้าไม่สะดวก อาจส่งผลทำให้ที่เครื่องทำน้ำอุ่นมีกระแสไฟรั่วอยู่ที่โครงของเครื่อง หากคนไปสัมผัสก็จะเกิดกระแสไฟฟ้าส่วนนึงไหลผ่านคนที่ไปสัมผัสได้ และถ้าเบรกเกอร์กันไฟดูด-ไฟรั่วที่ติดตั้งเกิดไม่ตัดวงจรก็จะเกิดอันตรายได้ครับ
ทิศทางการไหลของกระแสไฟรั่วจากเครื่องทำน้ำอุ่นลงหลักดิน
ในเมื่อเพื่อนๆจะต้องติดตั้งเบรกเกอร์กันไฟดูด-ไฟรั่วและทำหลักดินใหม่อยู่แล้ว แอดมินแนะนำการแก้ไขสายวงจรของแผงไฟฟ้าระบบเก่าเพื่อให้มีความปลอดภัย เพื่อเป็นแนวทางหรือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการติดตั้งให้กับเพื่อนๆครับ
ปกติบ้านที่ติดตั้งแผงไฟฟ้ากับระบบไฟฟ้าเก่า ก็จะติดตั้งสายวงจรดังรูปตัวอย่างนี้ครับ
ตัวอย่างการเดินสายของแผงไฟฟ้าระบบเก่า
ส่วนแรกที่แผงไฟฟ้า เราจะเพิ่มกราวด์บาร์หรือจุดต่อสายกราวด์ครับ อาจจะติดตั้งที่แผงไฟหรือติดตั้งในกล่อง PVC แบบมีฝาปิดก็ได้มีความปลอดภัยดีครับ แต่รูปนี้แอดมินขอยกตัวอย่างโดยการติดตั้งที่แผงไฟนะครับ เพื่อนๆจะได้เห็นการเดินสายวงจรได้ชัดเจนครับ และที่สำคัญหากเพื่อนๆที่ไม่ชำนาญงานติดตั้งไฟฟ้า แนะนำให้ติดตั้งโดยช่างไฟที่มีความชำนาญงาน เพื่อความปลอดภัยครับ
โดยเราจะแก้ไขสายนิวทรัลเส้นที่มาจากมิเตอร์มาเข้าที่กราวด์บาร์ครับ และเดินสายนิวทรัลจากกราวด์บาร์มายังขั้ว N ด้านไฟเข้าของคัทเอ้าท์ดังรูปตัวอย่างครับ
ที่กราวด์บาร์จะเดินสายต่อหลักดิน โดยใช้สาย 60227 IEC01 ( THW ) เบอร์ 10 จากกราวด์บาร์มายังแท่งหลักดิน แท่งหลักดินที่ใช้จะต้องได้มาตรฐาน ขนาด 5/8 นิ้ว ยาว 2.4 เมตร โดยตอกแท่งหลักดินลงในดินครับ
ตัวอย่างการแก้ไขสายวงจรใหม่โดยเพิ่มกราวด์บาร์และแท่งหลักดิน
ส่วนที่สอง การเลือกใช้งานเบรกเกอร์กันไฟรั่ว ชนิด RCBO โดยเบรกเกอร์ชนิดนี้จะมีคุณสมบัติตัดวงจรเมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจร , ตัดวงจรเมื่อกระแสไฟฟ้าเกินพิกัด และตัดวงจรเมื่อเกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว ( เริ่มตัดวงจรเมื่อมีกระแสไฟฟ้ารั่วตั้งแต่ 15 มิลลิแอมแปร์ขึ้นไป ) เบรกเกอร์กันไฟรั่ว RCBO ที่ดีควรได้มาตรฐาน IEC61009-1 และมาตรฐาน มอก. 909-2548 ครับ
ส่วนตัวแอดมินแนะนำให้เพื่อนๆ เลือกใช้งานเบรกเกอร์กันไฟรั่ว RCBO ( เหมือนกับเมนเบรกเกอร์ในตู้คอนซูมเมอร์ DIN Type ) มาใช้งานครับ เพราะเบรกเกอร์ (RCBO Breaker) แบบนี้จะทำงานได้แม่นยำและเหมาะที่จะติดตั้งที่แผงไฟฟ้ามากกว่า Safety Breaker (ELCB) ที่มีคุณสมบัติตัดไฟรั่วที่จะนิยมติดตั้งก่อนเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเฉพาะจุดครับ
RCBO Breaker กับ Safety Breaker (ELCB)
การติดตั้ง RCBO Breaker แอดมินแนะนำให้เพื่อนๆ ติดตั้งที่บริเวณแผงไฟฟ้าเลยครับ เพื่อเป็นการป้องกันสายวงจรทั้งเส้นตั้งแต่ต้นทางที่แผงไฟฟ้าถึงตัวเครื่องครับ
ส่วน Safety Breaker เพื่อนๆจะติดตั้งอีกจุดบริเวณหน้าห้องน้ำก็ได้เอาไว้ตัด-ต่อไฟ เวลาที่ไม่ได้ใช้งานเครื่องทำน้ำอุ่นครับ
ตัวอย่างการเดินสายที่แนะนำ
ส่วนที่สาม การเดินสายวงจร : การเดินสายวงจรจะเดินสายไลน์ (L) และสายนิวทรัล (N) มาเข้าที่ RCBO Breaker ครับ (เข้าสายให้ถูกขั้วตามที่ผู้ผลิตกำหนด) และเดินสายไลน์ (L) และสายนิวทรัล (N) ออกจาก RCBO Breaker ไปยังขั้ว L และขั้ว N ที่เครื่องทำน้ำอุ่นครับ ส่วนสายกราวด์ (G) ก็จะเดินสายจากกราวด์บาร์มายังขั้ว G ของเครื่องทำน้ำอุ่น ดังรูปวงจรตัวอย่างครับ
สำหรับขนาด AT ของ RCBO Breaker , ขนาดสายไลน์ (L) , ขนาดสายนิวทรัล (N) และขนาดสายกราวด์ (G) เพื่อนๆจะต้องเลือกขนาดให้เหมาะสมกับขนาดเครื่องทำน้ำอุ่นที่ติดตั้งด้วยครับ
ตารางแนะนำขนาดเบรกเกอร์และขนาดสายไฟฟ้า
ข้อดีของการติดตั้งตามรูปแบบที่แอดมินนำเสนอให้เป็นทางเลือกในการติดตั้ง คือ เมื่อเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วจากเครื่องทำน้ำอุ่น ธรรมชาติของกระแสไฟฟ้าจะไหลไปในทิศทางที่มีความต้านทานต่ำเสมอ เพื่อไหลกลับไปสู่แหล่งกำเนิดหม้อแปลงของการไฟฟ้าครับ ซึ่งทิศทางการไหลที่สะดวกที่สุดก็คือ สายไฟฟ้าเพราะสายไฟฟ้าจะมีความต้านทานในสายต่ำกว่าความต้านทานของดินครับ
ทิศทางการไหลของกระแสไฟรั่วผ่านสายกราวด์ไปยังสายนิวทรัล
ดังนั้นทิศทางการไหลของกระแสไฟรั่ว จะไหลผ่านสายกราวด์ไปยังกราวด์บาร์ ที่กราวด์บาร์ก็จะเชื่อมต่อกับสายนิวทรัลกระแสไฟรั่วก็จะไหลกลับไปสู่แหล่งจ่ายผ่านทางสายนิวทรัลของการไฟฟ้า และไหลกลับไปยังหม้อแปลง ดังรูปตัวอย่างครับ
ทิศทางการไหลกระแสไฟรั่วทางสายนิวทรัลไปยังหม้อแปลง
ส่วนกรณีที่ต่อหลักดินจากเครื่องทำน้ำอุ่นโดยตรง ทิศทางกระแสไฟรั่วก็จะไหลไปยังแท่งหลักดินเพื่อไหลลงดินที่มีความต้านทานสูง เพื่อไหลกลับไปหาหลักดินที่ตอกอยู่ที่หม้อแปลงไฟฟ้าครับ เนื่องจากความต้านทานดินที่มีค่าสูง กระแสที่ไหลไม่สะดวก อาจเกิดความร้อนที่จุดต่อหลักดิน และมีกระแสไฟบางส่วนยังคงอยู่ที่โครงของเครื่องทำน้ำอุ่นได้ครับ
ทิศทางการไหลกระแสไฟรั่วทางดินไปยังหม้อแปลง
การตัดวงจรของ RCBO Breaker ( มาตรฐาน IEC61009-1 และมาตรฐาน มอก.909-2548 ) หากกระแสไฟฟ้าที่ขั้ว L และขั้ว N ของเบรกเกอร์มีค่าแตกต่างกันถึงค่าพิกัดที่เบรกเกอร์ตั้งค่าไว้ ( ค่า I Delta N ระบุบนตัวเบรกเกอร์ ) RCBO Breaker ก็จะตัดวงจรภายใน 0.3 วินาทีครับ
เงื่อนไขการตัดวงจรของ RCBO Breaker ( I delta N = 30 mA )
การเดินสายระบบไฟฟ้าปัจจุบัน การไฟฟ้าฯก็จะบังคับให้นำสายนิวทรัล (N) ที่มาจากมิเตอร์ถูกต่อลงหลักดินที่กราวด์บาร์ ก่อนเดินสายนิวทรัลต่อไปยังเมนเบรกเกอร์ครับ
เนื่องจากหากเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วที่วงจรย่อยต่างๆ กระแสไฟรั่วก็จะไหลผ่านสายกราวด์มายังกราวด์บาร์และไหลกลับสู่แหล่งจ่ายผ่านทางสายนิวทรัลนั่นเองครับ
หากเพื่อนๆที่มีงบเพียงพอ แอดมินแนะนำให้ใช้งานตู้คอนซูมเมอร์ดีกว่าการใช้แผงไฟฟ้าครับ เนื่องจากตัวตู้คอนซูมเมอร์และเบรกเกอร์ที่ติดตั้งในตู้ จะได้รับรองมาตรฐาน IEC และ มอก. จุดต่อสายจากขั้วของเบรกเกอร์และบัสบาร์ที่มีความแข็งแรงและมีความปลอดภัยสูงครับ
ตัวอย่างการเดินสายวงจรเครื่องทำน้ำอุ่นกับตู้คอนซูมเมอร์
หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์และเป็นแนวทางในการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นให้กับเพื่อนๆทุกท่านครับ
ลิ้งค์ Facebook กลุ่มวิชาชีพช่างไฟไทย https://www.facebook.com/groups/405888071372487
👉 เบรกเกอร์กันไฟรั่ว ชนิด RCBO แบรนด์ Eaton Din Type แบบ 2 โพล ขนาด 10AT , 16AT , 20AT , 25AT , 32AT , 40AT
📌 ลิ้งค์สั่งสินค้าจากตัวแทนจำหน่าย https://bit.ly/3bllVwD
📌 รับชมคลิปเรื่องควรรู้เกี่ยวกับไฟฟ้าก่อนซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นจาก https://youtu.be/szHMrOnvCxk
โฆษณา