Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ส
สตรรม
•
ติดตาม
15 พ.ย. 2022 เวลา 20:11 • ไลฟ์สไตล์
ธรรมะเพื่อความพ้นทุกข์
ไม่ต้องคิดมาก คัดลอกมาทั้งหมด เพื่อใช้ในการฝึกวิปัสนากรรมฐาน โดยการฟังและเดินจิตไปตามเนื้อหา... หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจ ธรรมะที่เป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ธรรมะเพื่อความพ้นทุกข์
วางขันธ์ 5 เป็นลำดับไป
บางคนเวลาส่งการบ้านแล้วหลวงพ่อบอกว่าดี ก็งง มันดีอย่างไรหนอ สงสัย สงสัยก็พยายามดูตรงไหนมันดี มันไม่มีให้ดูแล้ว ตรงที่สงสัยแล้วไม่รู้ว่าสงสัย ตรงที่ดีมันก็หายไปแล้ว เพราะสติมันไม่มีเสียแล้ว ภาวนาที่หลวงพ่อว่าดีๆ เป็นสภาวะที่สติ สมาธิ ปัญญา มันอัตโนมัติ ก่อนที่มันจะอัตโนมัติได้ก็ต้องฝึก ฝึกพัฒนาสติด้วยการเจริญสติปัฏฐาน มีเครื่องอยู่ คือวิหารธรรมอันใดอันหนึ่ง เหมือนมีบ้าน มีบ้านให้จิตอยู่ แล้วเราก็คอยรู้ คอยระลึก
หลวงพ่อพุธท่านใช้คำหนึ่งว่า มีเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ฉะนั้นเรามีวิหารธรรมไว้สักอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า แล้วเวลามันมีอะไรเปลี่ยนแปลง แปลกปลอมขึ้นในวิหารธรรม มีสติรู้ทันมัน ฉะนั้นจิตต้องมีเครื่องอยู่ เครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ หลวงพ่อพุธพูดเรื่อยๆ หลวงพ่อพุธท่านเป็นพระค่อนข้างออกมาทางปัญญาชนหน่อย จะแตกต่างกับครูบาอาจารย์สายวัดป่าอื่นๆ คือท่านสอนคนในเมืองได้ สอนพวกปัญญาชนได้ ภาษาท่านไม่เหมือนภาษาครูบาอาจารย์รุ่นเก่า
ฉะนั้นพวกเราก็ต้องมีอารมณ์อันใดอันหนึ่งเป็นเครื่องอยู่ประจำของจิต ให้อยู่กับลมหายใจ อยู่กับพุทโธอะไรก็ได้ แล้วเวลาจิตมันหนีไปจากอารมณ์อันนั้น หนีไปจากเครื่องอยู่ เราก็มีสติรู้ทันว่าตอนนี้จิตมันทิ้งเครื่องอยู่ไปแล้ว หนีไปเที่ยวแล้ว ถ้าฝึกอย่างนี้บ่อยๆ สติจะเกิดเอง ไม่ได้เจตนาที่จะระลึกว่าตอนนี้มีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ มันระลึกได้เอง ไม่ได้เจตนาจะให้จิตตั้งมั่น มันตั้งมั่นได้เอง
ฉะนั้นเวลาที่เราเจริญสติปัฏฐาน มีเครื่องอยู่ไป เช่น หายใจไป หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก พอจิตมันหนีไป รู้ทัน สติเป็นตัวรู้ หนีปุ๊บก็รู้ๆ ต่อไปสติจะเร็วขึ้นเรื่อยๆ แล้วทันทีที่สติมันรู้ว่าจิตมันหนีไปจากเครื่องอยู่ จิตมันก็กลับมารู้เนื้อรู้ตัวได้ รู้เครื่องอยู่ของเราต่อไป
ตรงที่จิตมันสงบอยู่ในเครื่องอยู่ของมัน อยู่ในบ้าน ตรงนั้นเราได้สมาธิชนิดสงบ ตรงที่จิตมันหนีไปแล้วสติระลึกรู้ จิตจะตั้งมั่นขึ้นมา หลุดออกจากโลกของความหลง มาอยู่ในโลกของความรู้สึกตัว ตรงนี้จิตผู้รู้มันจะเกิด ฉะนั้นอยู่กับเครื่องอยู่เรื่อยๆ ไป อย่างต่ำที่สุดจะได้สมาธิชนิดสงบ แล้วพอจิตหนีแล้วรู้ๆ ต่อไปก็จะหนีปุ๊บรู้ปั๊บ สติอัตโนมัติมันเกิด แล้วตรงสติอัตโนมัติเกิด สมาธิชนิดตั้งมั่นมันก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
ค่อยๆ ฝึกจนสติ สมาธิ ปัญญา มันเป็นอัตโนมัติไปหมด ถึงตรงนี้ไม่ได้มีความจงใจที่จะปฏิบัติ ไม่มีโลภเจตนา ไม่ใช่เจตนาธรรมดาหรอก เจตนาที่อยาก อยากดี ลงมือปฏิบัติก็อยากดี อยากสงบ อยากสุข อยากได้มรรคผลนิพพาน อยากตัวนี้ มันเป็นโลภเจตนา โลภเจตนาเป็นการทำงานทางใจ มันจะทำให้จิตเกิดการทำงานขึ้นมา พอเราจงใจจะปฏิบัติ จิตก็เกิดการทำงานขึ้นมา
ในตำราเขาสอนถูกตรงนี้ เขาสอนได้ถูก โลภเจตนานั้นเป็นเจตนาทางใจที่จะหมายรู้อารมณ์ทางใจ เขาเรียกมโนสัญเจตนา มโนสัญเจตนาเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำกรรม การกระทำกรรมก็คือการที่จิตมันปรุงแต่งดิ้นรนไป
เราฝึกจนสติ สมาธิ ปัญญาอัตโนมัติ ไม่ได้เจตนาปฏิบัติ ตรงนั้นการปฏิบัติยังเจตนาอยู่ ยังไม่ค่อยได้ประโยชน์เท่าไหร่ ก็มีประโยชน์เหมือนกัน แต่ประโยชน์ยังไม่มาก อย่างเราอยากให้จิตสงบๆ เราก็เจตนาบังคับจิต ไม่สงบหรอก ถ้าเรามีสติเรื่อยๆ ไม่ได้เจตนา สงบเอง ต้องฝึกทุกวันๆ เริ่มต้นก็มีเจตนาที่จะปฏิบัติไปก่อน แล้วต่อมาก็รู้ทันจิตมันมีเจตนา เจตนามันก็ดับ จิตมันก็ทำงานอัตโนมัติ ตรงนี้ล่ะที่มันจะก้าวหน้า แต่สภาวะนี้เกิดยาก ตรงที่สติ สมาธิ ปัญญา อัตโนมัติมียาก
อาศัยการสั่งสมของเรายาวนาน ทำสติปัฏฐานไป ถนัดใช้กายเป็นวิหารธรรม ใช้กายเป็นเครื่องอยู่ก็เอากาย ถนัดใช้เวทนาก็เอาเวทนา ถนัดใช้จิตตสังขารก็เอาจิตตสังขารไป เอาสิ่งที่เราถนัด ที่เราทำได้จริง เวลาภาวนา อารมณ์กรรมฐานที่จะทำวิปัสสนาเป็นอารมณ์รูปนาม รูปนามก็แยกออกไปได้
เป็นขันธ์ 5 ก็ได้ อายตนะ 6 ก็ได้ ธาตุ 18 ก็ได้ อินทรีย์ 22 ก็ได้ แล้วแต่จะแยก แยกละเอียด แยกหยาบ แยกเบสิกเลย แยกเป็นขันธ์ 5 ขันธ์ 5 เหมาะกับพวกดูจิต เหมาะกับพวกดูนามธรรม ถ้าแยกเป็นอายตนะ 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นรูปธรรม ใจเป็นนามธรรม อันนี้เหมาะกับพวกถนัดดูรูปธรรม ธรรมะมีหลากหลาย บางคนต้องการความรู้เยอะๆ ก็แบ่งรูปนามออกไปเป็นธาตุ 18 มีรูปจำนวนมาก มีนามจำนวนมาก หรืออินทรีย์ 22 อินทรีย์ 22 ส่วนใหญ่มันจะเป็นนามธรรม เราภาวนาไปเรื่อยๆ เราจะเห็น เห็นเองล่ะ ไม่ต้องไปห่วงมันหรอก
เบื้องต้นเราดูขันธ์ 5 ก่อน ส่วนที่เป็นรูป รูปขันธ์คือร่างกายนี้ล่ะ ร่างกายนี้ประกอบด้วยก้อนธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก แล้วจิตอาศัยเครื่องมือคือร่างกายนี้เป็นเครื่องไปเชื่อมต่อกับโลกภายนอก ตรงตัวที่เชื่อมต่อเรียกว่าอายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กายเป็นเครื่องเชื่อมต่อ ไปรู้รูปธรรม ใจเป็นเครื่องเชื่อมต่อไปรู้นามธรรม จิตมันอาศัยเครื่องมือเหล่านี้ไปรู้โลกข้างนอก รูป เรารู้ด้วยตา ตาก็เป็นรูปธรรม เสียง รู้ด้วยหู หูเป็นรูปธรรม เสียงก็เป็นรูปธรรม
ภาวนาไปเรื่อยๆ วันหนึ่งจิตมันก็เห็นความจริงของรูป รูปนี้มันไม่ใช่ตัวเรา การเห็นรูปว่าไม่ใช่ตัวเราเป็นของง่าย ง่ายมาก พระพุทธเจ้าท่านบอก ปุถุชนที่ไม่ได้สดับ คือคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธ ไม่เคยเรียนธรรมะของพระพุทธเจ้าเลย สามารถเห็นได้ว่ารูปธรรมไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง เพราะมันเห็นคนโน้นก็แก่ คนนี้ก็เจ็บ คนนี้ก็ตาย เราก็แก่ เราก็เจ็บ อีกหน่อยเราก็ตาย เราก็รู้ความจริงของรูปว่ามันไม่ใช่ตัวเราหรอก ตัวนี้เห็นง่าย
แต่เห็นตรงนี้มันยังไม่เป็นพระโสดาบันหรอก มันต้องเห็นขันธ์ 5 ทั้งหมด เป็นพระโสดาบันได้ ตัวที่เห็นยากก็คือตัวนามธรรม โดยเฉพาะตัวจิตใจ หรือตัววิญญาณนั่นเอง เห็นยาก
ทำอย่างไรเราจะสามารถเห็นว่าตัวขันธ์ตัวที่ 5 คือตัววิญญาณ หรือตัวจิต จิต วิญญาณ กับใจนี้อันเดียวกัน เรียกหลายภาษา ทำหน้าที่อย่างนี้เรียกจิต ทำหน้าที่อย่างนี้เรียกว่าใจ ทำหน้าที่อย่างนี้เรียกว่าวิญญาณ การที่เราจะเห็นความจริงของตัววิญญาณจนกระทั่งปล่อยวางมันได้ก็ยากหน่อย ตัวรูปเห็นได้ง่ายว่าไม่ใช่ตัวเรา ตัวจิตใจเห็นได้ยากว่าไม่ใช่ตัวเรา พระพุทธเจ้าบอกว่าต้องเป็นสาวก เป็นพระสาวกของท่าน จริงๆ ก็คือต้องเป็นพระอริยสาวก ถึงจะเห็นว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา
เราจะภาวนา บางคนภาวนาเข้ามาที่จิตเลยไม่ทัน เข้ามาไม่ไหว ไม่ใช่ไม่ทัน เข้ามาไม่ได้ ก็ดูกายไปก่อน ร่างกายที่หายใจออกไม่ใช่เรา ร่างกายที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา ร่างกายที่ยืน ที่เดิน ที่นั่ง ที่นอนไม่ใช่เรา ร่างกายที่เคลื่อนไหว ร่างกายที่หยุดนิ่งไม่ใช่ตัวเรา
ร่างกายเป็นอะไร เป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ มีธาตุไหลเข้าไป มีธาตุไหลออกมา ไหลเข้าทางจมูก หายใจเอาลมเข้าไป เดี๋ยวก็หายใจออกมา กินอาหารเข้าไป ดื่มน้ำเข้าไป เดี๋ยวก็ขับถ่ายออกมา ร่างกายเป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุ เป็นสมบัติของโลก ธาตุทั้งหมดเป็นของโลก มันเห็นง่าย
การที่จะมาดูนามธรรมให้เห็นว่าจิตไม่ใช่เรา กายไม่ใช่เราดูง่ายอย่างที่ว่า ดูไปเรื่อยๆ อย่างที่ว่า หายใจออกไม่ใช่เรา หายใจเข้าไม่ใช่เราอะไรอย่างนี้ ดูไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เห็น คนนอกศาสนาพุทธเขาก็เห็นได้ จะมาเห็นว่าจิตไม่ใช่เราทำอย่างไรดี ในขันธ์ 5 มีนามขันธ์ในส่วนที่เป็นนามธรรมอยู่ 4 ขันธ์ ในขันธ์ 5 เป็นรูปขันธ์เสียหนึ่ง และเป็นนามเสียสี่
เริ่มจากเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่พระพุทธเจ้าท่านเรียงลำดับไว้ ไม่ได้เรียงแบบมั่วๆ ถ้าเราภาวนาเป็น เราจะรู้เลยการเรียงลำดับของพระพุทธเจ้านี้มีขั้นมีตอน เป็นขั้นเป็นตอน อย่างเรียงขันธ์ 5 อย่างนี้ ของที่หยาบที่สุดคือรูปแล้วก็ถึงนามธรรม นามธรรมก็มีส่วนที่หยาบ ส่วนที่ละเอียด เวทนาหยาบที่สุดเลย ดูง่าย ในนามธรรมทั้งหลาย
อย่างเราจะหัดดู ก่อนที่เราจะมาเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา หรือวิญญาณไม่ใช่เรา มาดูเวทนาก่อน เวทนาทางใจ เกิดตลอดเวลา มีจิตเมื่อไหร่ต้องมีเวทนา เกิดด้วยกันทุกที ต้องมีเวทนาอันใดอันหนึ่ง เวทนาทางใจมันก็มี 3 แบบ มีความรู้สึกเป็นสุข ความรู้สึกเป็นทุกข์ ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ฉะนั้นเราจะหัดดูจิตดูใจ เบื้องต้นง่ายที่สุด ดู 3 ตัวนี้ล่ะ ขณะนี้ใจเราเป็นสุข รู้ทัน ขณะนี้ใจเราเป็นทุกข์ รู้ทัน ขณะนี้มันไม่สุขมันไม่ทุกข์ รู้ทัน หัดรู้มันไปเรื่อยๆ มันจะไปยากอะไร ตอนนี้จิตใจนี้มันสุขหรือมันทุกข์ รู้ไหม
ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย เหมือนเมื่อวานสอนเรื่องร่างกาย รู้ร่างกายมันยากนักหรือ ร่างกายหายใจออก รู้ได้ไหม ร่างกายหายใจเข้า รู้ได้ไหม ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้ได้ไหม ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย เวทนาในใจก็ไม่ใช่เรื่องยาก ขณะนี้สุขหรือทุกข์ รู้ไหม หรือว่าเฉยๆ มี 3 อันเท่านั้นเอง
หัดรู้ไปเรื่อยๆ รู้ไปๆ เราก็จะเริ่มเห็นเวทนามันเกิดจากอะไร มีผัสสะแล้วเวทนามันก็เกิดขึ้น พอใจมันกระทบอารมณ์ มันก็เกิดเวทนาในใจของเราขึ้นมา อย่างใจเราไปคิดในอารมณ์บัญญัติ ใจเราไปคิดถึงสาวงามสักคนหนึ่ง เกิดความสุข นึกถึงหน้าเขา แหม มันมีความสุขขึ้นมา หรืออยู่ๆ มีหน้าของคนที่เราเกลียด ความทุกข์มันก็เกิด ค่อยๆ สังเกตไป
ดูไปเรื่อยๆ ความสุขเกิดขึ้นก็รู้ มันเกิดจากผัสสะนั่นล่ะ มีผัสสะถึงจะมีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน มีภพ มีชาติ มีทุกข์ได้ เริ่มมาจากการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ กระทบแล้วใจมันก็กระเทือนขึ้นมา เป็นความสุขบ้าง เป็นความทุกข์บ้าง คอยรู้ไปเรื่อยๆ สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ เฉยๆ ก็รู้
เดี๋ยวเราก็เห็นความสุขก็ไม่เที่ยง ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง ความเฉยๆ ก็ไม่เที่ยง ความสุขก็บังคับมันไม่ได้ มันเป็นอนัตตา สั่งให้สุขก็ไม่ได้ ความทุกข์ก็เป็นอนัตตา ห้ามทุกข์ก็ไม่ได้ สั่งใจว่าจงเฉยๆ ตลอด ก็เฉยไม่ได้ เราก็จะเห็นว่าเราบังคับเวทนาไม่ได้จริงหรอก ฉะนั้นเวทนาเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ค่อยๆ ดูไปเรื่อย
เราเริ่มเห็นนามธรรม ตัวที่หนึ่งคือตัวเวทนา ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์แล้ว พอตัวนี้เราแจ่มแจ้ง เวทนามาหลอกลวงเราอย่างไร สังเกตต่อไปอีก เวลาเวทนามันทำงานขึ้นมา สัญญามันทำงานไปด้วย ที่จริงมันเกิดพร้อมกัน แต่มันแสดงบทบาทคนละเสต็ปกัน บทบาทเด่น ผลัดกันเป็นพระเอก
อย่างเวลามีความสุขเกิดขึ้น จิตมันก็ไปสำคัญมั่นหมาย มันไปหมายรู้ จำได้หมายรู้ ตัวสัญญาคือตัวจำได้กับหมายรู้มี 2 อัน จำได้ เช่น จำได้ว่านี่สีเขียว สีแดง คนนี้ชื่อนี้ นี่จำได้ บางทีก็รู้ลงไปอีกชั้นหนึ่ง จำสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ได้
อย่างตรงนี้สีเขียว ตรงนี้สีแดง มันชั้นเดียว มันมีหมายรู้ 2 ชั้นอีก สีเขียวแปลว่าให้ขับรถไปได้ สีแดงแปลว่าให้หยุด มีความหมาย นี่เป็นเรื่องของความจำได้ แล้วก็หมายรู้ หมายรู้มันเป็นการตีความสิ่งที่เรากำลังประจักษ์อยู่ แล้วเราไม่รู้จักมัน เราก็เทียบเคียงกับข้อมูลเดิม ก็จะหมายรู้ว่านี่น่าจะเป็นอย่างนี้
อย่างเราเห็นแมว เราเลี้ยงแมว แมวอยู่ตรงไหนก็มี เต็มบ้านเต็มเมือง เลี้ยงแมวไปเรื่อยๆ ก็รู้นิสัยแมว แมวบางทีมันดื้อ บางทีมันก็ดุ กับเจ้าของบางทีมันยังข่วนเลย นิสัยไว้ใจไม่ค่อยจะได้หรอก เอาแต่ใจ วันหนึ่งไปเจอแมวยักษ์ตัวใหญ่มาก เรารู้ว่าแมวตัวเล็กมันกัดสัตว์เล็กกว่า แมวยักษ์หรือเสือมันก็น่าจะกัดเราได้เหมือนกัน เริ่มประเมิน เริ่มให้ค่าตีความ หมายรู้ลงไปว่าตัวนี้น่ากลัว พอหมายรู้ลงไปอย่างนี้ ใจก็กลัวขึ้นมา ตรงกลัวขึ้นมาเป็นตัวสังขาร มีสัญญาทำงานแล้วก็ส่งทอดมาเกิดปรุงแต่งสังขารขึ้นมา
เฝ้ารู้ลงไป อย่างตาเรามองเห็น เห็นรูปอย่างหนึ่ง ถ้าจิตยังไม่เข้าไปสำคัญมั่นหมาย สัญญายังไม่เข้าไปแปลว่ารูปอะไร มันก็เฉยๆ ไม่มีความรู้สึกอะไร ไม่ปรุงอะไรขึ้นมา แต่พอตาเห็นรูปแล้ว สัญญาไปแปล สัญญามันไปแปลว่า อุ๊ย นี่นางงามจักรวาล สวย ดีอย่างโน้น ดีอย่างนี้ สังขารก็ปรุงเลย โห อยากได้มาเป็นแฟนเราอะไรอย่างนี้ ราคะมันเกิด มันทำงานเชื่อมต่อกัน เวทนา สัญญา สังขารทำงานต่อเนื่องกัน พอเราภาวนามาถึงตัวสังขาร สังขารคือความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงดีปรุงชั่ว
เช่น ปรุงโลภ โกรธ หลง นี่ปรุงชั่ว ปรุงดี เช่น ศรัทธา วิริยะ สติ ปัญญา นี่เป็นความปรุงดี เป็นสิ่งที่ดี ฉะนั้นสังขาร บางทีก็ปรุงดี บางทีก็ปรุงชั่ว ก็แล้วแต่การตีความ ตีความอารมณ์ตัวนั้น อารมณ์นั้นตีความแล้วถูกใจ สังขารก็ปรุงเป็นราคะขึ้นมา ตีความแล้วไม่ถูกใจ สังขารก็ปรุงโทสะขึ้นมา
ถ้าสัญญามันดี มันตีความดี เช่น เห็น นางงามจักรวาลมา สัญญามันตีความเลย นี่ก็ไม่เที่ยง อีกหน่อยก็แก่ สังขารก็ปรุงกุศลขึ้นมา รู้สึกว่าไม่ควรยึดถืออะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นสัญญาเวลามันตีความมันทำงาน มันมีทั้งสัญญาที่ดีกับสัญญาที่ไม่ดี สัญญาที่ไม่ดีมี 4 อย่าง คือหมายรู้ของที่ไม่สวยไม่งาม เป็นอสุภะว่าเป็นของสวยของงาม อย่างนางงามจักรวาลที่จริงไม่ได้สวยอะไรหรอก มันสวยที่ผิวเท่านั้นเอง
จับมันมาถอนขน ถอนผม จับมาลอกหนัง ถอนฟัน ดูไม่ได้แล้ว น่าเกลียดที่สุดเลย มันดูดีอยู่ที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเท่านั้นเอง มันหลอกตา หนังจริงๆ ก็ไม่สวย หาอะไรไปพอกให้ดูสวยอีก ผมก็ไม่ได้สวย จริงๆ สกปรก โสโครก เหม็นสาบ ก็เอาไปสระผม ไปเซ็ทผม ซอยผมอะไร ทำให้ดูดี ถ้าสัญญาหมายรู้ผิด ก็จะไปเห็นของไม่สวยไม่งาม ของสกปรกว่าเป็นของสวยของงาม ของดีของสะอาด นี่สัญญา
ระหว่างหมายรู้ถูกกับหมายรู้ผิด หมายรู้ผิดก็คือเห็นของไม่สวยไม่งามเป็นของสวยของงาม เห็นของไม่เที่ยงเป็นของเที่ยง เห็นของเป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นของเป็นอนัตตาว่าเป็นสิ่งที่เราบังคับได้ เขาเรียกว่าสัญญาวิปลาส ถ้าจิตใจเราเคยอบรมสติ อบรมปัญญามา มันเริ่มมีสัญญาที่ดีขึ้นมา เห็นสาวสวยว่ามองปุ๊บ มันสวยแต่ผิวเท่านั้นเอง ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเท่านั้นที่สวย นางงามฟันหลอ น่ารักไหม แค่นางงามฟันหักอยู่ข้างหน้า 2 ซี่ก็น่าเกลียดแล้วเห็นไหม ความงามเป็นของที่ผุพังง่ายที่สุดเลย ไม่สวย
ถ้าสัญญามันปรุงไปทางดี มันแต่งไปทางดี ชี้นำไปทางดี เห็นความไม่สวยไม่งาม อสุภะ เห็นความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่คือสัญญาที่ดี แต่ถ้ามันเห็นแต่ว่ามันสวย มันงาม มันเที่ยง มันสุข มันบังคับได้ เป็นตัวเราของเรา นี่เป็นสัญญาเพี้ยน เรียกว่าสัญญาวิปลาส สัญญาดีมันก็ทำจิตให้เกิดกุศล ค่อยฉลาดขึ้นๆ
ตาเห็นรูป รูปนั้นสวยงาม จิตใจพอใจ พอสัญญาไปแปลเข้าไปอีกที รูปนี้ไม่เที่ยง รูปนี้ไม่ได้สวยจริง ใจเกิดความสลดสังเวช คลายความยึดถือ สังขารมันปรุงไป มันปรุงไปใต้อาณัติของสัญญาและเวทนา เวทนาทำงาน สัญญาทำงาน แล้วเกิดการปรุงสังขารขึ้นมา ฉะนั้นตัวสัญญากับเวทนา 2 ตัวนี้ เขาเลยเรียกว่าเป็นตัวจิตตสังขาร เป็นตัวที่ปรุงแต่งสังขาร ปรุงแต่งจิต
พอเราภาวนา เราจะเห็นมันจากหยาบๆ เวทนา สัญญาเข้าไปตีความ สังขารปรุง สังขารนั้นวิจิตรพิสดาร ดีก็มี ชั่วก็มี หยาบก็มี ละเอียดก็มี ค่อยๆ หัดรู้ ค่อยๆ หัดดูไปเป็นลำดับ ดูของที่มีบ่อยๆ ขี้โกรธก็ดู จิตโกรธก็รู้ จิตไม่โกรธก็รู้ ทีแรกก็เห็นว่าจิตมันโกรธ แล้วจิตมันหายโกรธ จิตมันโลภ แล้วจิตมันหายโลภ จิตมันหลง แล้วจิตมันหายหลง ต่อมาพอภาวนาได้ชำนิชำนาญขึ้น เราแยกลงไปได้อีก ความโกรธที่เกิดขึ้นไม่ใช่จิตหรอก จิตเป็นคนรู้ว่าโกรธ ตรงนี้ความโกรธไม่ครอบงำจิตแล้ว
ถ้ายังภาวนาไม่เก่ง กุศลอกุศลยังครอบงำจิตได้ แต่ถ้าภาวนาดีๆ แล้ว เราจะเห็นเลย โลภ โกรธ หลงไม่ใช่จิตหรอก เป็นความปรุงแต่งอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ถ้ารู้ไม่ทันมันเข้ามาครอบงำจิต เราก็เลยรู้สึกว่า เราโลภ เราโกรธ เราหลงขึ้นมา สามารถแยกได้ระหว่างสังขารกับจิต หรือสังขารกับวิญญาณ 2 ขันธ์นี้แยกออกจากกัน
พอเรารู้จักตัววิญญาณแล้ว วิญญาณเป็นตัวรู้ สังขารนี้ตัวถูกรู้ เป็นสิ่งที่เข้ามาครอบงำปรุงแต่งจิต ทีแรกจิตมันปรุงสังขารขึ้นมา โดยอาศัยสัญญา เวทนา สังขารก็ปรุงขึ้นมา พอมีสังขารขึ้นมาแล้ว สังขารมันมาครอบงำจิต มันมาปรุงแต่งจิตอีก เฝ้ารู้เฝ้าดูเราก็จะเห็น สังขารมันปรุงแต่งจิตบ้าง จิตมันปรุงแต่งสังขารบ้าง
เฝ้าดูเรื่อยๆ ไป ก็จะเห็นสังขารอะไรหาสาระไม่ได้ เวทนาก็ไม่มีสาระ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สัญญามันก็ทำงานไปอย่างนั้น ดีบ้างชั่วบ้าง ไม่ใช่ดีบ้างชั่วบ้าง สัญญาทำงานถูกบ้าง ผิดบ้าง หมายรู้ถูกบ้าง ผิดบ้าง ส่วนสังขาร ตัวสังขาร ก็ดีบ้างชั่วบ้าง ล้วนแต่ของไม่เที่ยง ล้วนแต่ของเป็นทุกข์ ล้วนแต่ของบังคับไม่ได้ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ตัวจิตเป็นคนรู้
เราค่อยๆ เรียนจากของหยาบที่สุดคือรูปใช่ไหม มาเวทนา สัญญา สังขาร เราก็ค่อยแยกๆๆๆ ไปจนถึงตัวจิต จิตเป็นคนรู้ จิต ตัวรู้ ผ่องใส สว่าง ผ่องใส สงบ มีความสุข แต่ไม่ฉลาด ตัวจิตรู้หรือตัววิญญาณชั้นเลิศมันมีอวิชชาซ่อนอยู่ข้างใน หัวหน้าโจรที่พาเราเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร ซ่อนอยู่ที่จิตนี้เอง เราไม่สามารถรู้ได้ว่าจิตนี้ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็น เราเห็นว่าจิตเที่ยง จิตของเราวันนี้กับจิตเมื่อปีกลายก็คนเดิม จิตเราเดี๋ยวนี้กับจิตเมื่อชาติก่อนก็คนเดิม
เรามาภาวนาต่อไปอีก เราค่อยๆ ดูตัวจิตผู้รู้ มันเที่ยงไหม ตรงนี้ที่ท่านใช้คำว่า วิญญาณ วิญญาณคือจิตที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วิญญาณคือจิตที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บางทีจิตก็ไปดูรูป จิตก็ไปฟังเสียง จิตไปดมกลิ่น ลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย บางทีจิตก็ไปรู้ธรรมารมณ์ทางใจ หรือบางทีจิตก็ไปรู้รูปได้ รูปธรรมบางอย่างก็รู้ด้วยจิต นามธรรมทุกอย่างก็รู้ด้วยจิต นิพพานรู้ด้วยจิต สมมติบัญญัติทั้งหลาย รู้ด้วยจิต ฉะนั้นจิตนั้นทำหน้าที่กว้างขวางมากเลย
อย่างตานี่ทำหน้าที่อย่างเดียว เห็นรูปอย่างเดียว หูได้ยินเสียงอย่างเดียว เอาหูไปดมกลิ่นก็ไม่ได้ มันทำงานได้อย่างเดียว แต่จิตสารพัดเลย มันวิจิตรจริงๆ ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ดูมันไป เราจะเห็นว่าจิตผู้รู้ก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็หลงไปดูรูป เดี๋ยวก็ไปฟังเสียง เดี๋ยวก็ไปดมกลิ่น เดี๋ยวก็ไปลิ้มรส เดี๋ยวก็ไปรู้สัมผัสทางกาย เดี๋ยวก็ไปหลงอยู่ในความคิดทางใจ
เดี๋ยวก็ไปหลงเพ่งอารมณ์กรรมฐานทางใจ ดูลงไป วิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดดับสืบเนื่องกันตลอดเวลา พอเราเห็นอย่างนี้ ต่อไปปัญญามันค่อยแทงตลอดลงไป ตัวจิตเองก็ไม่เที่ยงหรอก เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตคิด เดี๋ยวก็เป็นจิตเพ่ง เดี๋ยวก็เป็นจิตไปดูรูป เป็นจิตไปฟังเสียง เป็นจิตไปดมกลิ่น เป็นจิตไปลิ้มรส เป็นจิตไปรู้สัมผัสทางกาย
อย่างลมพัดมา จิตก็ไปรู้ มีลมกระทบผิวกาย แล้วสัญญาก็ไปแปล อันนี้หนาว พอหนาวมากเกินไป สังขารก็เริ่มปรุง โอ๊ย น่ากลัว หนาวจัดๆ เดี๋ยวเป็นไข้อะไรอย่างนี้ สังขารปรุง จิตมันไปรู้ตรงนี้ปุ๊บ มันมาทำงานต่อที่ใจ ตรงนี้เห็นไหม จิตทีแรกมันไปรู้ที่กาย แล้วก็กลับมารู้เรื่องราวทางใจ บางทีจิตมันตีความสัญญา สังขารมันทำงาน ตัวจิตมันก็เกิดดับทางทวารทั้ง 6 หมุนไปเรื่อยๆ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป ก็จะเห็นจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่มีปฏิกูลอสุภะ ไม่เหมือนรูป มีแค่ไตรลักษณ์
พอรู้ๆ ลงไป สุดท้ายจิตก็ปล่อยวางจิตได้ บางท่านปล่อยวางจิต เพราะเห็นว่าจิตนี้ไม่เที่ยง เกิดดับสืบเนื่องกันตลอดเวลา บางท่านเห็นอนัตตา เราบังคับไม่ได้ จิตจะเกิดดับทางทวารไหนเราก็เลือกไม่ได้ จิตเป็นของจิตเอง บางท่านเห็นทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ พวกที่จะเห็นจิตเป็นตัวทุกข์ ส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่ทรงฌาน ทรงสมาธิ จิตที่ทรงสมาธิอยู่ มันมีความสุขอยู่ มันสุขมหาศาลเลย จิตที่ทรงสมาธิ ทรงฌานอยู่
ถ้าเราเฝ้ารู้เฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงของธาตุของขันธ์เรื่อยไป สังเกตความเปลี่ยนแปลงของจิต จิตที่ทรงฌานบางทีก็เป็นฌานที่ละเอียด บางทีก็เป็นฌานที่ตื้นๆ ขึ้นมา บางทีก็หลุดออกมาจากฌาน จิตที่ทรงฌานก็ไม่คงที่เหมือนกัน ไม่เที่ยงเหมือนกัน แต่ว่าพอฝึกชำนิชำนาญ จิตมันทรงฌานอยู่ได้นาน ถ้าทรงฌานอย่างพวกพรหมก็ทรงฌานทีหนึ่งได้เป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่นกัป อยู่ได้นาน จักรวาลแตกแล้วก็ยังทรงสมาธิ มีความสุขอยู่อย่างนั้น มีความสงบอยู่อย่างนั้น
ดูอย่างไรๆ จิตก็เป็นตัวสุข ไม่เห็นจิตมันจะเป็นตัวทุกข์ตรงไหนเลย แล้วยิ่งภาวนาเก่งๆ ชำนาญในฌาน เหมือนเที่ยงเลย มันทรงฌานอยู่อย่างนั้น เหมือนกับว่าการเข้าฌานมันเที่ยง ฉะนั้นพวกฤๅษีไปเป็นพรหม เขาจะรู้สึกเลยว่าจิตของเขาเที่ยง เห็นไหมจิตเป็นอัตตาแล้ว มันคงที่ มันเป็นอัตตา บังคับได้ ควบคุมได้ จิตนี้มีความสุข นี่เขาก้าวไม่ถึงอีกขั้นสุดท้าย เขาไปไม่ถึง
เหมือนอาฬารดาบส อุทกดาบสก้าวมาถึงจุดสุดท้ายแล้ว มาถึงจุดที่เห็นว่าจิตนี้เที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา พระพุทธเจ้าท่านรู้ คนนี้บุญบารมีสูง ท่านก็จะไปโปรด เผอิญตายเสียก่อน แล้วไปเป็นอรูปพรหม สอนไม่ได้แล้ว ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กายที่จะมารับรู้ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ เรียกว่าหายนะไปแล้ว แต่ถ้าบุญบารมีมากพอ เคยได้ยิน ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นทุกข์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา
เคยรู้เคยสังเกตอยู่ เวลาที่จิตมันทรงสมาธิอยู่ ถึงจุดที่อินทรีย์มันแก่กล้าแล้ว มันสุกงอมแล้ว จิตมันจะพลิกตัวนิดหนึ่ง มันไหวตัว จากจิตที่บรมสุขกลายเป็นจิตที่บรมทุกข์ทันทีเลย มันทุกข์โดยที่ไม่มีอะไรมากระทบ มันทุกข์เพราะว่ามันเป็นจิต
เห็นไหมฟังยากไหม มันทุกข์เพราะมันเป็นจิต มันไม่ใช่ทุกข์เพราะว่ามันกระทบอารมณ์ที่ไม่ดี มันไม่ได้กระทบอะไรหรอก มันทรงตัวอยู่ กระทบอารมณ์คือฌานสมาบัติอยู่อย่างนั้น อยู่ๆ มันไหวตัว มันพลิกตัวนิดเดียว มันกลายเป็นตัวทุกข์ไปหมดแล้ว ดูลงไปความทุกข์ก็ไม่ดับ มีแต่ความทุกข์มากขึ้นๆๆ จนจิตมันจะระเบิด ก็ดูต่อไป ระเบิดก็ระเบิดตายก็ตาย
สุดท้ายมันก็พลิกตัวเองถล่มทลายลงไป วัฏฏะที่หมุนอยู่กลางอกเรามันถล่มลงไป ธาตุรู้ที่บริสุทธิ์มันก็ปรากฏขึ้นมา วิญญาณนั้น จิตปล่อยวางวิญญาณไป เหมือนที่ปล่อยวางรูป เวทนา สัญญา สังขารมาแล้ว แล้วมันก็ปล่อยวางวิญญาณเป็นตัวสุดท้าย หลังจากนั้นยังมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไหม มี เพียงแต่จิตมันปล่อย ไม่ยึดถือในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันรู้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเกิดขึ้นแล้ว ต่อไปก็ดับ
จิตไม่ได้ยึดถือ ค่อยภาวนามันจะเห็น ตรงนี้อวิชชาถูกทำลายไปพร้อมๆ กับที่วัฏสงสารถล่มตัวลงไป จิตก็พ้นจากทุกข์ คือพ้นจากขันธ์ แต่ยังไม่ตาย ขันธ์ก็ยังมีอยู่ ขันธ์ก็ยังทำงานอยู่ แต่มันเข้าไม่ถึงจิต ค่อยๆ ฝึก สุดท้ายมันก็วางขันธ์ พอวางขันธ์มันก็คือจิตมันวางกองทุกข์ลงไปแล้ว มันพ้นทุกข์ ดำรงชีวิตไปถึงวันหนึ่ง ขันธ์แตกขันธ์ดับ ธาตุรู้มันไม่มีขันธ์ ตัวนี้ไม่มีขันธ์ มันเหนือขันธ์ ค่อยๆ ฝึกไป แล้วจะเห็นด้วยตัวเอง
หลวงพ่อเทศน์ให้ฟังล่วงหน้าไว้ วันหนึ่งข้างหน้าพวกเราจะได้เอาไปใช้ เหมือนหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนอย่างนี้ สอนล่วงหน้าไว้ แต่ท่านสอนประโยคเดียว แต่หลวงพ่อมากระจายธรรมะออกมาให้พวกเราฟังเป็นชั่วโมงๆ เลย ท่านสอนประโยคเดียว “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง”
ท่านสอนอย่างนี้ วันนี้วันที่ 6 กุมภาพันธ์ เมื่อ 40 ปีก่อน วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ปี 2525 หลวงพ่อเข้าไปกราบหลวงปู่ดูลย์เป็นครั้งแรก แต่ท่านก็ยังไม่ได้สอนเรื่องทำลายผู้รู้ ท่านสอนว่า “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” สอนเท่านี้ หลวงพ่อก็มาอ่านสังเกตไป ธรรมะก็ค่อยคลี่คลายตัวเองออกมาให้เราเห็น
ค่อยเรียนค่อยรู้ไป 36 วันก่อนท่านจะมรณภาพเดือนกันยายน ประมาณวันที่ 24 กระมัง ปี 2526 ก็ไปกราบท่านครั้งสุดท้าย ท่านถึงสอน “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” สอนอย่างนี้ ท่านถาม “เข้าใจไหม” “ไม่เข้าใจครับ” “เชื่อไหม” “ผมยังไม่เห็น ผมจะจำไว้” ท่านบอก “เออ จำไว้นะ” ให้จำเอาไว้ ฉะนั้นพวกเราฟังที่หลวงพ่อพูด ก็เดี๋ยววันหนึ่งภาวนาไปเรื่อยๆ ก็ได้ใช้จนได้ล่ะ ถ้าไม่ภาวนา หรือภาวนาผิดก็ไม่ได้ใช้หรอก
ภาวนาจะดีได้ต้องถือศีล 5 ต้องเสียสละความสุขโลกๆ อย่าไปหลงกับมันมาก โลกนี้เป็นที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น ไม่นานเราก็ต้องทิ้งมันไป ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง เกียรติยศ พ่อแม่ ลูกเมีย สามีภรรยาอะไร เหมือนกันหมด ทรัพย์สมบัติทั้งหมด มันของโลก ถึงวันหนึ่งก็ต้องทิ้งมันไปหมด ฉะนั้นอยู่กับโลกก็อยู่ให้เป็น อย่าโง่ ถ้าโง่ก็คือไปแบกโลกเอาไว้ ที่จริงมันแค่เครื่องอาศัยไม่กี่ปีหรอก บางคนก็อาศัย 1 – 2 ปีก็ไม่ได้อาศัยแล้ว ตายแล้ว บางคนก็อายุยืนหน่อย แต่สุดท้ายก็ต้องทิ้งทุกๆ สิ่งทุกอย่างไป
อย่าไปยุ่งกับโลกเกินความจำเป็น ยุ่งเท่าที่จำเป็น เอาเวลามาถือศีล มาฝึกจิตฝึกใจ ให้สงบ ให้ตั้งมั่น มาพัฒนาจิตใจให้ฉลาด ค่อยๆ ฝึกไป อันนี้เป็นของดีของวิเศษ ถึงเราตายไป จิตมันสะสมกุศลอันนี้ไว้ ชาติต่อไป มันภาวนาง่าย ถ้าชาตินี้ยากก็ภาวนา ชาติต่อไปก็ง่ายขึ้นๆ ถ้าชาตินี้ยากแล้วยังขี้เกียจภาวนา หรือทำชั่วให้มากขึ้นอีก ชาติหน้ายิ่งยากกว่านี้อีก เพราะฉะนั้นเอาเวลามาทำสิ่งที่มีสาระแก่นสารในชีวิตจริงๆ
ค่อยๆ ภาวนาไป แล้วไม่ใช่ว่าต้องภาวนาจนบรรลุมรรคผลนิพพานแล้วถึงจะมีความสุข ไม่ใช่ แค่ถือศีลได้ เราก็มีความสุขแล้ว แค่จิตสงบได้เราก็มีความสุขแล้ว แค่เจริญปัญญาเห็นความจริงของโลก มันก็ทุกข์น้อยลงไปเยอะแล้ว ยิ่งเห็นทุกข์ ยิ่งมีความสุข ประหลาดอันนี้
ถ้าเราภาวนาไปเรื่อยๆ เราจะรู้สึกเลย โอ้ เราเห็นทุกข์เยอะแยะเลย อันโน้นก็ทุกข์ อันนี้ก็ทุกข์ แต่ย้อนมาที่จิตที่ใจทำไมมันสุขมากขึ้นๆ เพราะมันพ้นความเสียดแทงได้เยอะขึ้นๆ ค่อยๆ ฝึกตัวเอง เรามีความสุขตั้งแต่ปัจจุบัน แล้วถ้าตายไปก็มีความสุขในอนาคต คือชาติต่อไปก็ภาวนาง่ายกว่านี้อีก มีความสุข จิตใจสบาย หรือถ้าบุญกุศลเรามากพอ เราก็ได้รับความสุขที่ยิ่งใหญ่ตั้งแต่ในชาตินี้เลย ถึงพระนิพพานในชาตินี้เลย เพราะฉะนั้นการภาวนา เราจะได้ความสุขอันมหาศาลมากขึ้นๆ ความสุขสูงสุดคือพระนิพพาน
นิพพานมีลักษณะอย่างไร นิพพานสงบ มีลักษณะสงบ สงบจากอะไร สงบจากกิเลส สงบจากความปรุงแต่ง สงบจากความยึดถือ จิตเป็นอิสระ คนเป็นอิสระกับคนเป็นทาสรู้สึกไม่เหมือนกันหรอก พวกเราตอนนี้เป็นทาส ให้รู้ตัวไว้ก่อนว่าเป็นทาส ทาสของตัณหา รู้ไว้ก่อน ถ้าเรารู้ว่าตัณหามันจิกหัวใช้เราทั้งวัน เดี๋ยวสั่งให้ทำโน่นทำนี่
ใจมันจะเริ่มเป็นกบฏ มันจะยอมไม่ได้แล้ว เรื่องอะไรมันต้องเป็นทาสตลอด ใจมันก็จะมีกำลัง ห้าวหาญ ไม่ทอดทิ้งการปฏิบัติ ค่อยๆ ฝึกตัวเองไป รักษาศีลให้ดี ทำในรูปแบบ ให้ได้สมาธิสงบ ให้ได้สมาธิตั้งมั่น เจริญปัญญาไป เห็นความจริงของธาตุของขันธ์ ของรูปของนาม
อย่างตอนที่เทศน์ช่วงแรกๆ มันเรื่องการฝึกให้เกิดปัญญา เห็นรูปเห็นนามเป็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ แล้วก็วางเป็นลำดับๆ ไป มันวางรูปได้ก่อน ตรงที่เห็นรูปไม่ใช่เรายังเป็นปุถุชนอยู่ ตรงที่เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่ใช่เรา นั่นล่ะเป็นพระโสดาบัน ตรงที่เห็นความจริงว่ารูปไม่ควรยึดถือเพราะมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั้นล่ะได้พระอนาคามี ตรงที่วางจิตได้ หมดความยึดถือจิต มันก็เห็นจิตเองก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตรงนั้นล่ะเป็นพระอรหันต์ วางขันธ์ 5 ได้สิ้นเชิง ค่อยๆ ฝึก.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
6 กุมภาพันธ์ 2565
ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดา
ต้องมีวิหารธรรม
©
dhamma.com
2015- 2022 | All Rights Reserved
1 บันทึก
2
3
1
2
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย