Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ศาสนวิทยา
•
ติดตาม
18 พ.ย. 2022 เวลา 11:09 • ปรัชญา
เทพ และเทวดา
ถามกันเสมอว่า ศาสนาพุทธมีเทพเหมือนศาสนาพรามณ์หรือไม่? หรือ เทพในศาสนาพราหมณ์กับศาสนาพุทธเหมือนกันหรือไม่? ซึ่งก็รวมทั้งคำถามที่ว่า ในเมือในศาสนาพุทธก็มีเทพแล้วถูกจัดเป็นศาสนา "อเทวนิยม" ได้อย่างไร?
ขอตอบว่า ศาสนาพุทธแบบเถรวาทก็มีการใช้คำว่า "เทพ" เช่นเดียวกับศาสนาพราหมณ์ เพียงแต่เทพในศาสนาพุทธมีความหมาย และบทบาทไม่เหมือนกับเทพในศาสนาพราห์มเสียทีเดียว ความเชื่อเรื่องเทพของสองศาสนาแตกต่างกัน"เทพ" ในศาสนาพราหมณ์หมายถึง "เทพเจ้า" แต่คำว่าเทพที่ใช้ในศาสนาพุทธ จะใช้หมายถึง "เทวดา"
เทพ คือวิญญาณผู้เป็นใหญ่และมีอำนาจบนสวรรค์ ส่วนเทวดาคือ วิญญาณของมนุษย์ที่เสียชีวิตไปแล้วไปมีสภาพเป็นทิพย์อยู่บนสวรรค์ตามภพภูมิต่างๆ
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเชื่อว่าเทพหรือเทพเจ้านี้ มีอำนาจควบคุมความเป็นไปของชีวิตสรรพสิ่งต่างๆ และโลก สามารถทำให้ดีหรือร้าย และหากคนไปวิงวอนขอให้ช่วยก็จะดลบันดาลให้เกิดสิ่งดีๆและปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปได้ ฉะนั้นเทพเจ้าจึงอิทธิพลต่อวิธีชีวิตมาก
แต่ศาสนาพุทธ(แบบเถรวาท) เชื่อเพียงว่าเทพคือสิ่งมีชีวิตในภพภูมิต่างๆ เท่านั้น เทพไม่ได้สร้างโลก และไม่มีอำนาจควบคุมหรือให้คุณให้โทษแก่ชีวิตมนุษย์ มนุษย์จึงไม่ต้องไปวิงวอนขออะไร เพราะเทพเหล่านั้นช่วยอะไรไม่ได้
แต่ก็มีปัญหาอีกว่า ทำไมศาสนาพราหมณ์กับพุทธ มีเทพบางองค์ชื่อเหมือนกัน?
การที่เทพของศาสนาพุทธบางองค์ที่ชื่อพ้องกับเทพในศาสนาฮินดูนั้น ยังมีข้อถกเถียงว่าอาจไม่ใช่องค์เดียวกัน เป็นแค่ชื่อพ้องกันเท่านั้น เช่น "พระอินทร์" พระอินทร์ของศาสนาพราห์ม มีตำแหน่งเป็นจอมเทพ เป็นประมุขแห่งเทวดาทั้งปวง มีหน้าที่ปกครองสวรรค์และอภิบาลโลก ถือกำเนิดขึ้นในสมัยฤคเวท ต่อมาในสมัยที่ตรีมูรติ (พระพรห์ม พระวิษณุ และพระศิวะ) อุบัติขึ้น พระอินทร์ก็ถูกลดบทบาทลงและเริ่มมีพฤติกรรมทางเพศ(เจ้าชู้สำส่อน)มากขึ้น กระทั่งกลายเป็นเทวดาชั้นรองจากมหาเทพตรีมูรติในปัจจุบัน
แต่ของศาสนาพุทธ (รวมทั้งศาสนาเชน) มักเรียกพระอินทร์โดยทั่วไปในชื่อท้าวสักกะหรือท้าวศักระ ซึ่งเป็นเทวดาผู้ปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกะนั้นในบางครั้งมักถูกเรียกด้วยชื่อ "อินทระ" หรือในชื่อที่เรียกขานทั่วไปอีกชื่อว่า "เทวานัม อินทระ" อันหมายถึง "จอมเทพ" หรือ "หัวหน้าแห่งเทพทั้งหลาย" ชื่อของ "พระอินทร์" หรือท้าวสักกะเทวราช ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏกหลายพระสูตรด้วยกัน
บางคนจึงบอกว่า พระอินทร์ของพราห์มเป็นเทพ แต่พระอินทร์ของพุทธเป็นเทวดา บางคนก็บอกเลยบอกว่าเป็นคนละองค์
ไม่ใช่แค่เรื่องพระอินทร์เท่านั้น แต่ในศาสนาพุทธก็ยังมี "พระพรหม" เหมือนกับศาสนาพราห์มด้วย องค์เดียวกันไหม หรือเหมือนกันไหม?
พระพรหมในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ คือเทพเจ้าผู้สูงสุด เป็นหนึ่งในตรีมูรติ เป็นพระผู้สร้าง แต่ในความเชื่อของศาสนาพุทธ พระพรหมเป็นเพียงชาวสวรรค์ชั้นสูงขั้นหนึ่งที่สูงกว่าเทวดาทั่วไป เรียกว่าสวรรค์ชั้น "พรหม" (หรือพรหมภูมิ)
และพระพรหมก็ยังอยู่มีการวนเวียนว่ายตายเกิดด้วยอำนาจกิเลส และพระพรหมก็ยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ พรหมที่มีรูป ซึ่งมีทั้งหมด 16 ชั้น และพรหมที่ไม่มีรูป (อรูปพรหม) มีทั้งหมด 4 ชั้น โดยอรูปพรหมจะสูงกว่ารูปพรหม ซึ่งนี่ก็แสดงว่า พระพรหมของพราหมณ์นั้นมีองค์เดียว แต่ของพุทธนั้นมีอยู่มากมายจนแบ่งออกเป็น ๒๐ ภพภูมิ
ฉะนั้นพระพรห์มของพราห์มกับพระพรหมของพุทธจึงน่าจะเป็นคนละองค์กัน พรหมของพราหมณ์เป็นเทพเจ้า แต่พรหมของพุทธเป็นเทวดา
ยังมีปัญหากับเทพอีกองค์ คือ "พระยม" หรือที่คนไทยเรียกเป็นภาษาปากว่า "พญายม" ในศาสนาพราห์มเชื่อว่าพระยมเป็นท้าวโลกบาลประจำทิศใต้ ดาวอังคารเป็นดาวประจำองค์ ซึ่งนี่เป็นลักษณะเทพ แต่ศาสนาพุทธเถรวาทถือว่าพระยมมีชาติกำเนิดเป็นเทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกา และเป็นเจ้าแห่งเวมานิกเปรต
คัมภีร์ปปัญจสูทนีระบุว่าในมหานรกแต่ละขุมมีพระยมประจำอยู่ทั้ง 4 ประตู มหานรกมี 8 ขุม จึงมีพระยมทั้งสิ้น 32 องค์ ในเทวทูตสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระยมมีหน้าที่ซักถามสัตว์นรกเกี่ยวกับเทวทูต เพื่อให้สัตว์นรกนั้นได้ระลึกถึงกุศลกรรมที่ตนเคยทำมา หากสัตว์นรกจำได้ก็จะพ้นจากนรก หากจำไม่ได้ยมบาลก็จะนำตัวสัตว์นรกนั้นไปลงโทษตามบาปกรรมที่ได้ทำมา ส่วนลัทธิข้างจีนฝ่ายมหายานว่า พญายมเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ทำหน้าที่พิพากษาแก่ดวงวิญญาณทั้งหลาย
ฉะนั้น พระยมของพราห์มจึงเป็นเทพ แต่พระยมของพุทธก็เป็นเทวดาอีกเช่นกัน
โดยภาพรวมพูดได้ว่า เรื่องเทวดาของศาสนาพุทธเอามาหรือได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องเทพของศาสนาพราห์มแน่ แต่นำเสนอออกมาในรูปแบบใหม่ จากที่เป็นเทพเจ้า ก็เป็นเทวดา ซึ่งมาจากวิญญาณมนุษย์ที่ทำดีแล้วตายไปเกิดในสวรรค์
(หมายเหตุ: ผู้เขียนขอยังไม่พูดถึงทฤษฎี syncretism หรือผสานความเชื่อ ที่บอกว่า นี่เป็นการ "เอาศาสนาเดิมมาผสมผสานแล้วดัดแปลงเป็นศาสนาใหม่" หรือนำบางส่วนของศาสนาเดิมมาประยุกต์และดัดแปลงตามแนวคิดใหม่ แล้วทำให้เป็นส่วนหนึ่งของศาสนาใหม่ เพื่อทำให้ผู้คนที่ยังเคยชินและยึดติดกับศาสนาเดิมให้สามารถรับศาสนาใหม่ได้ง่ายขึ้น)
อย่างไรก็ตาม การจะบอกว่า "ศาสนาพุทธมีแต่เทวดา แต่ไม่มีเทพเจ้า" นั้น ก็อาจเป็นการพูดที่ผิวเผินเกินไปสักหน่อย เพราะหากดูรายละเอียดแล้วจะพบว่า ลักษณะของเทวดาตามความเชื่อในศาสนาพุทธก็อำนาจวิเศษมากจนเรียกได้ว่า "ใกล้เคียง" หรือ "ไม่ต่าง" จากแนวความเชื่อเรื่องเทพเจ้าสักเท่าใดนัก
อย่างเช่น เทวดามีสภาพกายทิพย์ เหมือนเทพ มีลำดับชนชั้นอยู่สถานที่สูงส่งไม่เท่ากัน แบ่งเป็น 3 ชั้นใหญ่ 6 ชั้นย่อย อายุยืนมาก เช่น ชั้นต่ำสุดก็มีอายุยาวถึง 9 ล้านปี พวกขั้นสูงสุดก็อายุยืนถึง 9 พันกว่าล้านปี ครบอายุเมื่อไรก็ต้องไปเกิดใหม่ ว่าไปแล้วอายุยืนขนาดนี้ก็แทบไม่ต่างอะไรกับเป็นอมตะแบบเทพเจ้าเลย
นอกจากนี้ เทวดาที่อยู่สวรรค์เหล่านี้ยังมีเพศ แบ่งเป็นชายหญิง แม้ไม่ต้องกินอาหาร แต่ยังต้องการการเสพกามอยู่เหมือนกับมนุษย์ แต่จะมีความแตกต่างกันออกไปเพราะว่ากันว่ามี "วิธีเสพกาม" หรือวิธีร่วมเพศที่ "สวยงามกว่า ปราณีตกว่า" และยิ่งเกิดในภูมิชั้นสูงมากขึ้นไป การเสพกามก็ยิ่งน้อยลงตามลำดับ (เรื่องนี้ยังมีรายละเอียดอีก)
นอกจากนี้ยังมีปัญหาอีกว่า มีเทวดาอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า "อุปปัตติเทพ" ซึ่งแปลว่า “เทวดาโดยกำเนิด” นั้นหมายความว่าอย่างไรแน่ แปลว่า แรกเกิดก็เป็นเทวดาเลย ไม่เคยต้องเกิดเป็นมนุษย์แล้วทำความดีก่อน แล้วจึงค่อยมาเป็นเทวดาบนสวรรค์ (ที่เรียกว่า "วิสุทธิเทพ") อย่างนั้นหรือ? ถ้าเช่นนั้นเทวดาอย่างนี้จะต่างอะไรจากเทพ หรือเทพเจ้าเล่า
แล้วยังเทวดาที่เสพกามกันจน "ตั้งครรภ์" และ "มีลูก" นั้น จะกลายเป็นเทวดาชั้นไหน ไม่ใช่เทพอีกองค์หรือ?
แต่ที่แน่ๆคือ ไม่ว่าในศาสนาพุทธมีเทพหรือไม่ หรือมีแต่เทวดา และเทวดาจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ก็ถือว่าไม่มีอำนาจดลบันดาลให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ จึงไม่ให้มีการบูชา และอธิษฐานขอต่อเทพหรือเทวดาเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องเทพ และ เทวดา ของศาสนาและวัฒนธรรมทั้งหลายนั้น ซับซ้อนเสมอ ตามแต่ความเชื่อ และนี่ก็ยังไม่นับเรื่องของ ทูตสวรรค์ (มะลัก) ซาตาน (ซัยตอน) ผี (ญิน) และวิญญาณมนุษย์ ของศาสนายิว คริสต์ และอิสลาม ซึ่งก็มีความคล้ายความต่างอีกหลายประการ
ศาสนา
ประวัติศาสตร์
แนวคิด
บันทึก
1
3
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย