19 พ.ย. 2022 เวลา 12:41 • ความคิดเห็น
หากเรายุ่งเกินไป แสดงว่าเรายังกำหนดคุณค่าหลักของชีวิตไม่ได้
"ในบรรดาคนที่ผมเคยพบเจอ คนที่ทำงานสำเร็จมากกว่าคนอื่นกลับมีชีวิตที่เรียบง่าย ยิ่งกว่านั้น พวกเขาใช้เวลาแต่ละวันอย่างผ่อนคลายกว่าคนที่ใช้ชีวิตธรรมดาทั่วไป รวมทั้งยังเพลิดเพลินกับเวลาพักผ่อนด้วย
อาจมีหลายเหตุผลให้พวกเขาทำเช่นนั้นได้ แต่หัวใจสำคัญคือ 'แทบไม่มีอะไรให้เลือก'
ความจริงข้อนี้สำคัญมาก เพราะการมีอะไรให้เลือกเยอะอาจบ่งบอกว่าเรายังกำหนดคุณค่าหลักของชีวิตไม่ได้
2
ดังนั้นคนที่มีทิศทางชีวิตที่ชัดเจนจะผ่อนคลายมากที่สุดและเคลื่อนตัวไปตามทางที่เรียบง่ายที่สุด เคล็ดลับในการทำงานให้สำเร็จจำนวนมากโดยไม่ยุ่งก็อยู่ตรงนี้
คำว่า 'ฉันไม่มีเวลาเพราะยุ่งมาก' พวกเขาจะได้ยินเป็น 'ฉันยังกำหนดทิศทางของตัวเองที่แน่ชัดไม่ได้'"
- คิมจงวอน หนังสือ 'อะไรทำให้ชีวิตเราดีกว่าเมื่อวาน'
-----
อ่านคำของคิมจงวอนแล้วทำให้ผมนึกถึงคำนำที่ผมเคยเขียนไว้ในหนังสือช้างกูอยู่ไหน:
ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม เคยเล่านิทานเรื่องหนึ่งให้ผมฟัง
ว่ากันว่ามีช่างไม้ที่แกะสลักไม้เป็นรูปช้างได้เหมือนจริงมาก ชายหนุ่มคนหนึ่งจึงดั้นด้นไปหาช่างไม้คนนั้นที่รังสรรค์งานอยู่ในกระท่อมกลางป่า
เมื่อได้เจอช่างไม้ ชายหนุ่มจึงถามถึงเคล็ดลับในการแกะสลักช้าง
ช่างไม้ตอบว่า
“ก่อนอื่นเราต้องมีไม้ที่ดีก่อน เมื่อได้ไม้ที่ดีแล้ว เราก็แกะส่วนที่ไม่ใช่ช้างออกไป”
ก็เท่านั้นเอง
ไม้คือคอนเซ็ปต์ที่ดี มันจะมาพร้อมกับข้อจำกัดของมันอยู่แล้ว เช่นถ้าไม้ขนาดเท่าท่อนแขน เราก็ไม่สามารถแกะให้ช้างใหญ่กว่าท่อนแขนได้อยู่แล้ว
เมื่อได้คอนเซ็ปต์ที่ดีแล้ว เราก็ต้องหาช้างของเราให้เจอ ด้วยการกระเทาะส่วนที่ไม่ใช่ช้างออกไป
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นมาเพื่อคนวัยสามสิบต้นๆ ถึงสี่สิบกลางๆ
วัยที่กำลังสร้างครอบครัว มีการงานที่มั่นคง หลายคนเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหาร มีลูกน้องต้องดูแล หลายคนมีเงินเก็บหลายแสนหรือแม้กระทั่งหลายล้านบาท อะไรๆ กำลังไปได้สวย
แต่ถึงกระนั้นกลับรู้สึกไม่ค่อยมีความสุข
อาจเพราะมีเงิน แต่ไม่มีเวลาใช้เงิน มีงานที่ดี แต่งานก็ดึงพลังชีวิตไปมากมายเสียจนกระทบความสัมพันธ์
ถ้าวัยยี่สิบกว่าๆ คือวัยแห่งการเรียนรู้และเติมเต็ม ผมคิดว่าวัยสามสิบกว่าๆ คือวัยแห่งการลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปจากชีวิต
เพราะถ้าเราพยายามจะทำทุกอย่าง จะเอาทุกอย่าง สุดท้ายเราอาจไม่เหลืออะไรเลยซักอย่าง
 
เราวกวนว้าวุ่นโดยไม่มีเวลาหยุดพัก รู้ตัวอีกทีก็พบว่าช้างของเราหายไปไหนก็ไม่รู้
 
แต่ถ้าเราหยุดวิ่ง และหันมาสำรวจตัวเอง ว่าอะไรบ้างที่มีความสำคัญกับเราอย่างแท้จริง เราก็จะพบว่าช้างนั้นอยู่ใกล้ตัวเรานิดเดียว
 
ขอให้คุณผู้อ่านโชคดีกับการหาช้างของตัวเองให้เจอครับ
 
อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์
กุมภาพันธ์ 2562
สำหรับคนที่เข้าสู่วัยกลางคนแล้วยังรู้สึกว่ายังรุ่มร้อนลุกลน อาจเป็นไปได้ว่าเรายังไม่ได้ใช้เวลาครุ่นคิดให้เพียงพอว่า "ช้างของเรา" หน้าตาเป็นอย่างไร
หากเข้าใจตนเองแน่ชัดว่าสิ่งที่เราให้ความสำคัญคือเรื่องอะไร เรื่องที่ต้องทำและต้องตัดสินใจก็จะเหลือเท่าที่จำเป็น
แล้วความซับซ้อนวุ่นวายในชีวิตจะน้อยลงไปเยอะเลยครับ
โฆษณา