19 พ.ย. 2022 เวลา 23:45 • ไลฟ์สไตล์
#กระเจี๊ยบแดง
สุดยอดสมุนไพร ปลูกในไทยแต่นานมา
กลีบเลี้ยงแดงเจิดจ้า หลงคิดว่าเป็นดอกจริง
ใช้ได้ทุกส่วนต้น คุณค่าล้นแหล่งอ้างอิง
กระเจี๊ยบแดงสุดนิ๊ง ควรค่ายิ่งพืชแห่งยา
 
สวัสดีเช้าวันอาทิตย์สีแดงนะครับเพื่อนๆ วันนี้พาท่านมาพบกับพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านแต่นานมา “กระเจี๊ยบแดง” ด้วยสีสัน รสชาติที่เปรี้ยวจี๊ดและคุณประโยชน์ที่มากมาย จึงทำให้พืชชนิดนี้ดำรงอยู่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นจนปัจจุบัน แต่การนำมาบริโภคและใช้ประโยชน์ก็ต้องระมัดระวัง หากใช้มากเกินไปอาจส่งผลต่อผู้ที่มีอาการป่วยบางประเภทได้นะครับ
กระเจี๊ยบแดง (Jamaica Sorrel) มีถิ่นกำเนิดในประเทศซูดานรวมถึงประเทศใกล้เคียงในแถบทวีปแอฟริกา แล้วมีการกระจายพันธุ์ไปยังทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยนั้นพบบันทึกการปลูกในไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยกรมประชาสงเคราะห์ได้นำกระเจี๊ยบแดงพันธุ์ซูดานเข้ามาปลูกที่นิคมสร้างตัวเอง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี แล้วจึงมีการขยายพื้นที่ปลูกไปยังภาคต่างๆทั่วประเทศ ในปัจจุบันแหล่งเพาะปลูกกระเจี๊ยบแดงที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดลพบุรี สระบุรี อุตรดิตถ์ กาญจนบุรี และฉะเชิงเทรา
กระเจี๊ยบแดงจัดเป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ 1 - 2.5 เมตร ขนาดลำต้นประมาณ 1 - 2 เซนติเมตร ต้นอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่ ลำต้นและกิ่งจะมีสีม่วงแดง เปลือกลำต้นบางเรียบ สามารถลอกเป็นเส้นได้
ใบกระเจี๊ยบแดง เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามความสูงของกิ่ง มีลักษณะคล้ายปลายหอก ยาวประมาณ 7 - 13 เซนติเมตร มีขนปกคลุมทั้งด้านบนด้านล่าง ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนปลายเว้าลึกคล้ายนิ้วมือ 3 นิ้ว หรือเป็น 5 แฉก มีเส้นใบ 3 - 5 เส้น
ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกดอกตามซอกใบ มีกลีบดอกสีชมพูหรือสีเหลือง บริเวณกลางดอกจะมีสีเข้มกว่าคือสีม่วงแดง ดอกมีเกสรตัวผู้เชื่อมกันเป็นหลอด ก้านดอกสั้น มีริ้วประดับเรียวยาวปลายแหลม มี 8 - 12 กลีบ กลีบเลี้ยงจะแผ่ขยายติดกันออกหุ้มเมล็ดไว้ มีสีแดงเข้มและหักง่าย เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 เซนติเมตร
ผลกระเจี๊ยบแดงเป็นรูปรีมีปลายแหลม ผลมีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่จะแห้งแตกเป็น 5 แฉก ในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล ลักษณะคล้ายรูปไตอยู่จำนวนมาก
กระเจี๊ยบแดงเป็นพืชไร่ที่ไม่ต้องการน้ำมาก การปลูกกระเจี๊ยบแดงส่วนมากจะปลูกในช่วงฤดูฝน จึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำสักเท่าไร ส่วนมากมักจะปล่อยให้เติบโตโดยธรรมชาติ โดยในระยะ 1 - 3 เดือนแรก ต้องหมั่นกำจัดวัชพืชเป็นพิเศษ
กระเจี๊ยบแดงเป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนและมีความทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด ดินที่เหมาะสมควรมีค่าความเป็นกรดด่าง ระหว่าง 6 - 6.8 ไม่ควรปลูกในดินที่มีน้ำขังแฉะและเจริญเติบโตได้ดีในที่โล่งแจ้ง สภาพแสงแดดจัดเต็มวัน นิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝน
กระเจี๊ยบแดงมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 120 วัน โดยกระเจี๊ยบแดง 8 - 10 กิโลกรัมเมื่อตากแห้งแล้วจะได้กระเจี๊ยบแดงแห้งประมาณ 1 กิโลกรัม
กระเจี๊ยบแดงขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
สรรพคุณของกระเจี๊ยบแดง
1.กลีบเลี้ยงของดอกใช้เป็นยาลดไขมันในเส้นเลือดและช่วยลดน้ำหนัก
2.ดอกกระเจี๊ยบแดงช่วยละลายไขมันในเส้นเลือด
3.น้ำกระเจี๊ยบ - ช่วยลดไข้ แก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ
- ช่วยในการย่อยอาหาร ใช้เป็นยาระบาย
- ช่วยรักษาและป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน
- ช่วยรักษาโรคเส้นเลือดแข็งเปราะและทำให้ความเหนียว
ข้นของเลือดลดลงได้เป็นอย่างดี
- ช่วยแก้อาการขัดเบา โดยน้ำกระเจี๊ยบมีฤทธิ์ช่วยขับ
ปัสสาวะได้เป็นอย่างดี
- ช่วยป้องกันโรคต่อมลูกหมากโตและช่วยรักษาอาการไต
พิการ
4.ใบกระเจี๊ยบใช้ตำพอกฝีหรือใช้ต้มน้ำเพื่อใช้ล้างแผลได้
5.เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง
ประโยชน์ของกระเจี๊ยบแดง
1.กระเจี๊ยบมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) และสารโพลีฟีนอล ซึ่งได้แก่ Protocatechuic Acid ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยชะลอความแก่
2.กระเจี๊ยบใช้ทำเป็นน้ำดื่มที่ช่วยทำให้ร่างกายสดชื่น เนื่องจากมีกรดซิตริกอยู่
3.ใบอ่อนของกระเจี๊ยบใช้รับประทานเป็นผักได้ และยังมีวิตามินเอสูง (12,583 I.U.ต่อ 100 กรัม) ช่วยในการบำรุงสายตา
4.กลีบเลี้ยงผลและกลีบดอกอุดมไปด้วยแคลเซียมที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง
5.กระเจี๊ยบแดงจัดเป็นพืชส่งออก โดยนำไปใช้เป็นส่วนผสมสำคัญสำหรับ Herbal tea และใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ใช้บริโภคภายในประเทศ ใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลาย ทั้งในอุตสาหกรรมอาหาร รวมไปถึงในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
6.ลำต้นของกระเจี๊ยบแดงสามารถนำมาทำเป็นเชือกปอได้
ข้อแนะนำและข้อควรระวังในการใช้กระเจี๊ยบแดง
1.การใช้กระเจี๊ยบแดงอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาระบาย
2.ในเพศชายควรหลีกเลี่ยงการกินกระเจี๊ยบแดงติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากผลการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ทำให้เกิดพิษต่อเซลล์ของอัณฑะและตัวอสุจิได้ ส่วนในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน เพราะมีผลการศึกษาในหนูทดลองพบว่า อาจทำให้ลูกหนูเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้าลง
3.จากการศึกษาทางพิษวิทยา พบว่าหากรับประทานกระเจี๊ยบแดงในขนาดที่สูง เป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เป็นพิษต่อตับได้ ผู้ที่มีภาวะการทำงานของไตบกพร่อง ก็ไม่ควรรับประทานกระเจี๊ยบแดงเช่นกัน
Eak v(^0^)v
 
จ๊อบ ปภัสศิลป์ - รสชาติชีวิต
โฆษณา