22 พ.ย. 2022 เวลา 00:00 • ธุรกิจ
ไม่ต่อราคา
ผมมีนิสัยการทำงานอย่างหนึ่งซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันดีหรือไม่ดี นั่นคือ การไม่ต่อราคาคนที่เราซื้อของ
ที่บอกว่านิสัยนี้ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี ก็เพราะว่า เราอาจจะเจอกับเรื่องเหล่านี้ตามมา
- เจอคนขายของที่เอาเปรียบเรา ตั้งราคาแพงเกินจริง ไม่คุ้มกับคุณภาพที่ได้
- ต้นทุนของเราแพงเกินไป ทำให้เราเสียเปรียบในการแข่งขัน
- ทำให้ผู้ขายได้กำไรเต็มที่ ได้กำลังใจไปทำงานต่อ โดยเฉพาะกับผู้ขายตัวเล็กๆ ไม่ได้มีสายป่านยาวๆ และคนที่พึ่งเริ่มต้นธุรกิจ ค้าขายเอง เงินกำไรตรงนี้คือกำลังใจอย่างมาก ซึ่งเป็นเรื่องดี
การไม่ต่อราคา เป็นคนละเรื่องกับการเปลี่ยนคนขาย เปลี่ยนแหล่งซื้อ ตามที่เขียนแนะนำไว้ในหนังสือวิชาธุรกิจ เล่ม 3 ว่าเราควรเปลี่ยนผู้ขายให้บ่อย อย่างน้อยก็ไตรมาสละหน เพราะเราได้ข้อดีหลายอย่าง
ซึ่งการเปลี่ยนผู้ขายนั้น ผมทำเป็นเรื่องปกติเสมอไม่ว่าจะสมัยทำงานประจำที่เรามีหน้าที่บริหารต้นทุน หรือ sourcing ทางเลือกใหม่เพื่อทำ innovation ให้องค์กรอยู่เสมอ จนกระทั่งทำงานส่วนตัว ก็จะมีนิสัยชอบเปลี่ยนเพิ่มคนที่ตัวเองจะได้มีโอกาสไปร่วมงานด้วย ไม่ว่าจะร่วมเล็กหรือร่วมใหญ่แค่ไหนก็ตาม อย่างน้อยเราก็ได้ร่วมงานกับคนเพิ่มอีกคน
การไม่ต่อราคาให้ได้ผลดีที่สุด ทำตาม ขั้นตอนนี้
1. การปล่อยให้ผู้ขาย เสนอราคาโดยอิสระ อยากตั้งราคาเท่าไหร่ก็ว่ามา
2. บอกผู้ขายให้ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า มีโอกาสเสนอราคาเพียงครั้งเดียว (ตามสเปกนี้) เพราะเราจะไม่ต่อราคาใดๆ เพื่อเป็นการให้เกียรติทุกคน ถ้าใครให้ราคาดีที่สุดและเงื่อนไขที่ดีกว่า เช่น เครดิตเทอม ในคุณภาพที่เท่ากัน เราก็จะเลือกผู้ขายที่ให้ราคาดีที่สุด
3. เมื่อทำการเลือกได้แล้ว ก็ตามนั้น ถ้าคุณภาพตามราคา รอบหน้าก็ว่ากันใหม่ แต่ถ้าเป็นตรงข้ามก็จบกันแค่นี้
แนวทางนี้ ถือเป็นการทำงานที่ไม่เอาเปรียบใคร และปล่อยให้ผู้ขายแข่งกับตัวเอง โดยที่เรามีหน้าที่แค่แจ้งเงื่อนไขให้ชัดเจนเท่านั้น นอกนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ขาย
การไม่ต่อราคา นอกจากเราจะไม่เหนื่อยนั่งเทียบราคาแบบไม่รู้จบแล้ว เราจะช่วยให้เราได้เพื่อน/คู่ค้าที่ดีด้วย เพราะเราไม่ได้ตั้งท่าจะเอาเปรียบกันตั้งแต่แรก ใครจะไปรู้ว่า เราอาจจะได้คู่ค้าที่อาจจะกลายเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด จากการเริ่มต้นซื้อขายกันแบบไม่ต่อราคาเพียงครั้งเดียวก็ได้
ทุกวันนี้ ผมจะร่วมงานใคร ก็ถามราคา ค่าใช้จ่ายตามปกติ ใครเสนอราคามาเกินตัวเลขที่ตั้งไว้ ก็แค่ไม่ซื้อและคนอื่นแทน แต่จะไม่มีคำพูดแบบ ลดหน่อยได้ไหม ทำไมแพงจัง ออกจากปาก การไม่พูดและไม่ซื้อ ก็เป็นการตอบปฏิเสธโดยไม่ต้องพูดพร้อมให้เหตุผลไปในตัวแล้วว่า ราคายังสูงไปนะ เราซื้อไม่ไหว
การต่อราคา อาจจะทำให้เราได้ผลดีในระยะสั้น ดูมีผลงานดีในองค์กร แต่ระยะยาวไม่ค่อยดีกับตัวเรานะครับ โดยเฉพาะเมื่อมาถึงวันที่เราถอดหมวกองค์กรที่เราเคยอยู่ออกไปแล้ว และเราต้องไปเจอคนที่เราเคยต่อราคา เคยกดราคาซื้อไว้ เราจะทำหน้าทำตัวไม่ค่อยถูกครับ เชื่อเถอะ
เงินที่ได้จากการต่อราคา คุณค่าของมันยังไงก็สู้สิ่งที่เราจะได้จากคู่ค้า/คนร่วมงาน ในด้านอื่นๆ ไม่ได้ ในวันที่เรามีปัญหาอะไรขึ้นมาแล้วคนที่เราเคยต่อ/กดราคาไว้ คือคนที่จะช่วยเราได้ เราจะเข้าใจคำนี้ดี
มาช่วยกันสร้างวัฒนธรรมการซื้อของ โดยไม่ต่อราคาดู
วงจรคนทำธุรกิจรอบตัวเรา เราจะรายล้อมไปด้วยคนที่ดีครับ
#trickofthetrade #howto #business

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา