21 พ.ย. 2022 เวลา 03:32 • ท่องเที่ยว
ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ชาวมอญ สังขละบุรี
Photo : Nophadon Achaduntisuk
ชาวไทยในแต่ละภาคมีประเพณีบุญเดือนสิบที่มีชื่อเรียกและพิธีกรรมต่างรูปแบบ แต่ก็มีวัตถุประสงค์ที่คล้ายกัน คืออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษเป็นหลัก …
ชาวอิสานมีประเพณีบุญข้าวประดับดิน ชาวใต้มีพิธีชิงเปรต ส่วนทางสังชละบุรีมีพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์
Photo : Internet
"ลอยเรือสะเดาะเคราะห์" เป็นประเพณีดั้งเดิมของชุมชนมอญบ้านวังกะ อำเภอสังขละบุรี
ประวัติความเป็นมาของประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์นี้ ว่ากันว่า … เกิดขึ้นเมื่อครั้งพระเจ้าธรรมเจดีย์ขึ้นครองราชย์ปกครองอาณาจักรมอญ ที่เมืองหงสาวดี
พระองค์ทรงเห็นพระภิกษุสามเณรในเมืองหงสาวดี มีความประพฤติย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัย จนพระพุทธศาสนาในเมืองมอญเกิดมลทินด่างพร้อยมากมาย ... จึงมีพระราชประสงค์จะสังคายนาพระพุทธศาสนาเสียใหม่ เพื่อชำระหมู่พระภิกษุสงฆ์ให้มีความบริสุทธิ์
พระองค์จึงมีพระราชโองการรับสั่งให้พระภิกษุและสามเณรในเมืองมอญลาสิกขาเสียทั้งหมดทั้งสิ้น แล้วทรงส่งปะขาวถือศีล 8 คณะหนึ่ง .. ซึ่งก็คือ อดีตพระเถระผู้รอบรู้เรื่องพระไตรปิฎก ทรงความรู้ ตั้งมั่นในศีล ที่พระองค์มีคำสั่งให้ลาสิกขามาถือศีล 8 เป็นปะขาวนั่นเอง
ชีปะขาวทั้งหมด ออกเดินทางไปยังประเทศศรีลังกา เพื่อให้ไปถือการอุปสมบทเป็นพระภิกษุมาใหม่จากคณะสงฆ์ในประเทศศรีลังกา .. เมื่อเสร็จแล้วให้เดินทางกลับมาเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ บวชให้แก่คนมอญในเมืองมอญเสียใหม่
คณะของปะขาวนี้ เมื่อเดินทางถึงประเทศศรีลังกา ได้รับการอุปสมบทแล้วก็เดินทางกลับ … ในระหว่างที่เดินทางกลับนั้น เรือสำเภาลำหนึ่งในจำนวนสองลำโดนพายุพัดให้หลงทิศไป ส่วนอีกลำหนึ่งเดินทางมาถึงเมืองหงสาวดีโดยปลอดภัย
เมื่อทราบถึงพระกรรณของพระเจ้าธรรมเจดีย์ พระองค์จึงมีรับสั่งให้ทำเรือจำลองขึ้นมา ข้างในบรรจุด้วยของเซ่นไหว้บูชาเหล่าเทวดาทุกหมู่เหล่า เครื่องเซ่นไหว้นั้น เพื่อขอให้เหล่าเทวดาทั้งหลาย ที่ดูแลพื้นดินก็ดี ที่ดูแลพื้นน้ำก็ดี ที่ดูแลพื้นอากาศก็ดี ได้มาช่วยปัดเป่าให้เรือสำเภาที่หลงทิศไปนั้น ได้เดินทางกลับมาโดยปลอดภัย
หลังจากที่พระองค์ทรงทำพิธีสะเดาะเคราะห์แล้วไม่กี่วัน เรือที่หลงทิศไปนั้นก็เดินทางกลับมาถึงเมืองหงสาวดีโดยปลอดภัย ... ชาวมอญจึงถือเอาเหตุการณ์นี้ทำพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ในช่วงกลางเดือน 10 ของทุก ๆ ปี สืบต่อกันมาตราบจนปัจจุบันนี้
Photo : Nophadon Achasuntisuk
งานบุญเดือน 10 และพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ... เป็นงานบุญประจำปีของชาวไทยเชื้อสายมอญ หรือแม้แต่ชาวมอญที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่าโดยยึดถือปฏิบัติมาเป็นเวลาช้านาน
สำหรับประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ชาวไทยรามัญอำเภอสังขละบุรี ... ถือเป็นงานประเพณีที่เป็นการสืบสานวัฒนธรรมเก่าแก่มายาวนาน และเป็นประเพณีตามความเชื่อของคนไทยเชื้อสายมอญ ที่ถือเป็นจุดรวมแห่งความมีศรัทธาต่อหลวงพ่ออุตตมะ ที่วัดวังก์วิเวการาม
.. กำหนดจัด 3 วัน ในวันขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี … โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบูชาเทวดาที่อยู่ในน้ำ ในป่า และบนบก
อีกทั้งเพื่อสืบสานประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มชน ตลอดทั้งเป็นการเผยแพร่ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ให้แก่ชุมชน ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้
ช่วงวันที่ชาวบ้านกำลังจัดเตรียมงาน โดยชาวบ้านจะร่วมมือร่วมใจกันเตรียมทำธง ร่ม และจัดเครื่องบูชาต่าง ๆ เพื่อถวายวัด โดยมีการแบ่งงานให้หัวหน้าคุ้มต่าง ๆ ในหมู่บ้าน รับไปให้ลูกบ้านช่วยทำแล้วนำมาส่งที่วัด …
ผู้ชายส่วนหนึ่งจะมารวมกันที่วัดวังก์วิเวการามเพื่อสร้างเรือขนาดใหญ่จากลำไม้ไผ่ ก่อนจะประดับตกแต่งด้วยกระดาษหลากสี และตุงสีต่างๆ เป็นการเตรียมการณ์
บนลานวัด .. ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวมอญทำการสวดมนต์ แม้พวกเราจะไม่เข้าใจ แต่สำเนียงที่ได้ยินนั้นไพเราะมาก
ชาวไทยเชื้อสายมอญแต่งกายตามชุดประจำชาติมาร่วมงาน ... ผู้ชายส่วนใหญ่ ใส่เสื้อเชิ๊ตสีขาวนุ่งโสร่งสีแดง ส่วนหญิงสาวนุ่งซิ่นลวดลายประณีตสวยงามและวิธีการนุ่งต่างกัน สวมเสื้อ ตัวในคอกลมแขนกุดตัวสั้นแค่เอว เล็กพอดีตัว สีสด สวมทับด้วยเสื้อแขนยาวทรงกระบอก เป็นผ้าลูกไม้เนื้อบาง มีผ้าคล้องคอ ดูสวยงามและมีเสน่ห์
… ชาวบ้าน ต่างอุ้มลูก จูงหลาน .. เรียกว่าทุกคนในครอบครัวต่างมุ่งหน้าไปยังจุดหมายเดียวกัน เพื่อทำพิธีที่พวกเขาศรัทธาที่วัด วังก์วิเวการาม
ชาวบ้านพากันนำธง ตุงกระดาษ ร่มกระดาษ มาประดับตกแต่งเรือและบริเวณปะรำพิธีอย่างเนืองแน่น
… พร้อมนำเครื่องเซ่นไหว้คาวหวานทั้ง 9 อย่าง เช่น กล้วย อ้อย ขนม ข้าว ดอกไม้ ไปวางไว้ในลำเรือ
สิ่งหนึ่งที่คนไปร่วมงานพิธีจะเตรียมไปคือ รายชื่อของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วเขียนในกระดาษหนึ่งใบ และจะมีกระดาษอีกหนึ่งใบ ที่เขียนชื่อบุคคลอันเป็นที่รักที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่เราอยากจะอุทิศส่วนกุศลและบุญที่ทำในวันนี้ส่งไปให้
.. กระดาษทั้งสองแผ่นจะถูกนำไปมัดหุ้มกับเทียนและธูป แล้วนำไปใส่ในเรือด้วยเช่นกัน
ก่อนถวายชาวบ้านจะนั่งคุกเข่าบริเวณหน้าลำเรือ ... นำธูปเทียนเทียน ตามกำลังวันเกิดไปไหว้และสะเดาะเคราะห์ต่ออายุ
…โดยการนำธูป และสวดมนต์ละลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ขอพรจากเทวดาให้ปกปักรักษา อธิษฐานให้สิ่งไม่ดี และเคราะห์ร้ายต่าง ๆ ไปให้พ้นจากชีวิตตน
… แล้วนำเครื่องเส้นไหว้ขึ้นจรดเหนือหัวแสดงถึงความเคารพและศรัทธายิ่ง หลังจากนั้นก็นำเครื่องเส้นไหว้ถวายลงไปในลำเรือไม้ไผ่
นอกจากนั้นยังมีพิธีบูชาพระประจำวันเกิด ... โดยจะมีการนำเครื่องเซ่นไหว้ และดอกไม้ไปถวาย จุดธูปเทียนบูชาพระ และสวดมนต์เพื่อความสุขสวัสดี ให้ชีวิตมีความสุขสวัสดี
ชาวบ้านต่างมาสวดมนต์ ตามความเชื่อ ความศรัทธา
ความมลังเมลือง และกลิ่นธูป ควันเทียน .. ทพให้รู้สึกถึงความศรัทธาของผู้คนอย่างลึกซึ้ง
ด้านข้างของเจดีย์พุทธคยาจำลอง … พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่จะนำพระสงฆ์และสามเณรรวม 36 รูป ทำการสวดบทสวดอิติปิโส 108 จบ และบทสวดสะเดาะเคราะห์ ซึ่งบทสวดนี้มีตั้งแต่ช่วงหัวค่ำของเมื่อวาน และมาจบเมื่อบทสวดอิติปิโสครบ 108 จบในช่วงเช้าวันนี้พอดี ชาวบ้านจะมาฟังบทสวดทั้งสองบทเพื่อความเป็นสิริมงคล
การปล่อยโคมขึ้นไปบนท้องฟ้า … เมื่อสวดมนต์เสร็จ ชาวบ้านจะนำโคมน้อยใหญ่มาลอยขึ้นฟ้าบริเวณลานหน้าเจดีย์พุทธคยาตั้งแต่เช้ามืดจรดเย็นค่ำของทุกวันจนกว่าจะถึงวันลอยเรือ ตามความเชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ให้หมดไป
ในสมัยก่อนจะมีการลอยโคมเพื่อสะเดาะเคราะห์ ... โดยวัดจะเป็นผู้ทำโคมขนาดใหญ่บรรจุเครื่องอัฐบริขาร จากนั้นลอยขึ้นบนท้องฟ้า โคมไปตกที่บ้านใคร ลูกชายบ้านนั้นจะต้องบวชสะเดาะเคราะห์ และเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว เหลือเป็นเพียงการละเล่นทั่วไป
หลังจากประกอบพิธีการต่างๆแล้ว ผู้คนจะชวนกันขึ้นไปเดินจงกรมรอบองค์พระเจดีย์ .. การเดินจงกรมจะทำกันที่ลานชั้นสองของเจดีย์ ส่วนลานชั้นบนนั้น ห้ามผู้หญิงขึ้นไป
เดินจงกรมตามศรัทธาและความเชื่อ ด้วยการเดินเวียนขวา เป็นการบูชาพระบรมสารีริกธาตุที่หลวงพ่ออุตตมะได้อัญเชิญมาจากศรีลังกา และประดิษฐานไว้บนยอดเจดีย์
ในตอนสายๆก่อนเที่ยงจะมีอีกหนึ่งประเพณีที่จะพลาดไม่ได้เลยคือประเพณีตัดบาตรน้ำผึ้ง น้ำมันงา …
ชาวบ้านจะนำน้ำผึ้งและน้ำมันงามาใส่บาตรพระภิกษุ แต่เนื่องจากปัจจุบันน้ำผึ้งหายากก็เลยเปลี่ยนเป็นน้ำตาลทรายแทน .. การตัดบาตรนั้นชาวบ้านจะนั่งรอบริเวณทางเดินของวัดแล้วพระภิกษุจะมารับบิณฑบาตรกับชาวบ้านทุกๆคน
เราไม่ได้รอที่จะตักบาตรในบริเวณวัด แต่มีโอกาสไปตักบาตรใกล้ๆกับสะพานไม้แทน … พระสงฆ์จะจะเดินมารับข้าวปลาอาหาร ดอกไม้ ธูป เทียนที่ชาวบ้านและพวกเราตั้งใจใส่ในบาตร
สะพานไม้ที่โด่งดัง หลังการบูรณะครั้งใหญ่ .. บรรยากาศ และทิวทัศน์ยังคงงดงามมากมายในสายตา เหมือนดังเช่นที่เคยเป็นมาเนิ่นนาน
เมื่อถึงเช้าวันแรม 1 ค่ำ อันเป็นวันสุดท้ายของงานพิธี ชาวบ้านก็มารวมตัวกันตั้งเป็นขบวนแห่ … หลังจากเสียงกลองยาวเริ่มดังขึ้น สาวใหญ่ สาวน้อยก็ร่ายรำกันอย่างครึกครื้น
ขบวนลากเรือเริ่มมีการจัดเตรียมเชือกให้คนลากเรือไปยังท่าเรือวัดวังก์วิเวการาม โดยที่ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านร่วมเป็นสักขีพยาน
เมื่อเรือไม้เริ่มเคลื่อนเข้าสู่ลำน้ำ ชายร่างกำยำเริ่มเข้ามาจับยึดเรือเพื่อพยุงลำเรือให้ลงสู่ผืนน้ำ เรือยนต์ของกรมประมงมาช่วยลากเรือไม้ไผ่ร่วมกับชาวบ้าน
บางคนที่คอยลุ้นอยู่ริมชายฝั่งว่าเรือจะลอยสำเร็จหรือไม่ และเมื่อเรือไม้ลอยลองสู่แม่น้ำชาวบ้านต่างพากับปรบมือร้องดีใจกันถ้วนหน้า
จากนั้นเรือยนต์ลำใหญ่ได้ลากเรือไม้ไปตามแม่น้ำมุ่งหน้าไปยังเขื่อนวชิราลงกร แล้วไปจอดปักหลังตรงจุดบรรจบของแม่น้ำสามสาย ได้แก่ ซองกาเลีย รันตี และบิคลี่ ที่เรียกกันว่า "สามสพ" นั่นเอง
จากนั้นก็ผูกเรือไว้กับขอนไม้ใหญ่กลางอ่างเก็บน้ำ ถวายเรือและเครื่องเส้นไหว้ให้กับเทวดาผู้ปกปักรักษาชาวไทยเชื้อสายมอญ เป็นการเสร็จพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ของชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่อำเภอสังขละบุรีลงด้วยดี … พร้อมกับบุญกุศลเต็มอิ่มที่คนที่ไปร่วมงานจะได้รับกลับบ้านถ้วนทั่วทุกตัวคน
โฆษณา