Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นิตยสารสาระวิทย์
•
ติดตาม
21 พ.ย. 2022 เวลา 07:12 • การศึกษา
ฤดูกาลแห่งการเรียนรู้
เรื่องโดย อนุชิต กงซุย
ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เมื่อมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมและร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านประเทศไทย เป็นเวลาที่ฤดูกาลแห่งสายฝนฉ่ำเย็นโปรยปรายลงสู่พื้นดินเพื่อชโลมทุกสรรพชีวิต บ้านเราอยู่ในภูมิอากาศเขตร้อน (tropical climate) มีฝนตกชุกและมีอุณหภูมิสูงตลอดปี ทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งระบบนิเวศ ชนิดพันธุ์ และพันธุกรรม ช่วยให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศต่าง ๆ
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย จังหวัดหนองคาย มีระบบนิเวศโดยทั่วไปเป็นป่าเต็งรัง (deciduous dipterocarp forest) ซึ่งเป็นป่าผลัดใบมีลักษณะเป็นป่าโปร่ง สภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย กรวด ลูกรัง ที่พบอยู่ทั่วไป
เมื่อถึงฤดูฝนต้นไม้จะผลิใบเจริญเติบโตงอกงามจนมีลักษณะเป็นป่ารกทึบ พื้นดินที่เคยแห้งแล้งก็อิ่มเอิบชุ่มฉ่ำ ใบไม้ที่เคยเหี่ยวแห้งสีแดงเหลืองก็กลับกลายเป็นเขียวขจี ทั้งพืชและสัตว์น้อยใหญ่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ความหลากหลายจึงปรากฏขึ้นในทันใด และนี่คือ…ฤดูกาลแห่งการเรียนรู้
ในเทอมนี้เราโชคดีมาก ๆ ที่ได้เจอเด็ก ๆ อีกครั้งหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด 19 ท่ามกลางฤดูฝน ถึงแม้ว่าในบางครั้งลมฟ้าอากาศอาจจะไม่เป็นใจสักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ ชุมนุมวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา “Kids with Me!” ได้เชิญชวนเด็ก ๆ ออกนอกห้องเรียนมาเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว เพื่อมอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่น่าตื่นเต้นให้แก่นักเรียน เป็นการเรียนรู้เชิงผจญภัยส่งเสริมการทำงานเป็นทีมและการพัฒนาตนเอง
โดยมีครูเป็นผู้เชี่ยวชาญในร่วมกันดูแลกิจกรรม (co-learning community) ด้วยการปฏิบัติจริง ทำให้นักเรียนมีความเข้าใจและสนุกสนานกับการเรียน ทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อ การได้สัมผัสใกล้ชิดกับธรรมชาติช่วยปลูกฝังการรักธรรมชาติไปในตัว และในคาบนี้คุณครูได้เชิญชวนเด็ก ๆ ออกผจญภัยไปทำความรู้จักกับเจ้าหนอนสุดวิเศษ บรรยากาศจะสนุกสนานแค่ไหนไปชมกันเลย
ก่อนที่จะไปสนุกและสัมผัสกับธรรมชาติ คุณครูได้ชวนเด็ก ๆ มาเรียนรู้เกี่ยวกับการเกิดฤดูกาล ความแตกต่างระหว่างฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ว่ามีสภาพแวดล้อมที่สังเกตได้แตกต่างกันหรือไม่ เพื่อนำไปสู่ลักษณะและสภาพแวดล้อมของระบบนิเวศในฤดูฝนที่เด็ก ๆ กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้
และแล้วก็ถึงเวลาที่เด็ก ๆ ได้ออกไปเรียนรู้และสัมผัสกับธรรมชาติ ครูมีหน้าที่ในกระตุ้นให้นักเรียนสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัวทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต จนนำไปสู่การเรียนรู้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บริเวณต่าง ๆ เช่น บนต้นไม้ ผิวดิน ในดิน และในดินนี้ก็มีสัตว์ตัวน้อยที่เด็ก ๆ คุ้นเคยแต่ไม่เคยรู้จักอย่างแท้จริง คือ เจ้าไส้เดือนนั่นเอง
เจ้าไส้เดือนตัวน้อย ๆ หน้าตาสุดแสนจะธรรมดาแต่ก็น่ารักดี ถ้าได้ทำความรู้จักเขามากกว่านี้จะรู้ว่าเขาไม่ธรรมดาแน่นอน และประโยชน์ของเขาก็มากมายเลยทีเดียว แล้วเราจะไปหาเจ้าไส้เดือนนี้ได้ที่ไหนล่ะ ?
เด็ก ๆ ร่วมด้วยช่วยกันและได้ข้อสรุปร่วมกันว่าไส้เดือนนั้นอยู่ในดิน ซึ่งดินนั้นจะต้องอุดมสมบูรณ์ไปด้วยเศษซากต่าง ๆ ด้วย ทุกคนสนุกสนานในการคุ้ยเขี่ยใต้กองของเศษใบไม้ที่เน่าเปื่อยผุพังพร้อมกับสายฝนที่กำลังโปรยปรายลงมาเล็กน้อย เราก็ใช้เวลาไม่นานนัก และแล้วเด็ก ๆ ก็ได้สัมผัสและทักทายกับไส้เดือนตัวน้อยที่กำลังดิ้นไปมา
ดูเหมือนเขาจะตกใจเล็กน้อยนะ แต่ไม่เป็นไรเราแค่อยากรู้จักเขาเท่านั้นเอง หลังจากที่พาเจ้าไส้เดือนใส่ในจานแก้วใสแล้ว สิ่งแรกที่เราต้องทำคือ ดูและสังเกตลักษณะภายนอก และร่วมกันลงความเห็นว่าเจ้าไส้เดือนตัวน้อยที่อยู่ตรงหน้านั้นอยู่ในระยะใด โดยเทียบจากแผนภาพที่ครูแจกให้ และนี่คือจุดเริ่มต้นที่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ความน่าทึ่งของไส้เดือน
ไส้เดือนเป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังตัวเล็ก ๆ ทำหน้าที่เสมือนฟันเฟืองขับเคลื่อนเพื่อการเกษตร การชอนไชของเขาสามารถทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้น ร่วนซุย ระบายน้ำ และทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไส้เดือนยังเป็นผู้ย่อยสลายซากอินทรีย์ในระบบนิเวศ มูลไส้เดือนช่วยให้ดินอุดมสมบูรณ์เพิ่มอินทรียวัตถุและธาตุอาหารแก่ดิน จำนวนของไส้เดือนที่มีอยู่ในดินบ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของดินได้
เด็ก ๆ ยังได้เรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับไส้เดือนในมุมมองของวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรม “10 Fast Facts About Earthworms” เพิ่มเติมอีกด้วย
10 Fast Facts About Earthworms
รู้หรือไม่ไส้เดือนสุดมหัศจรรย์
1. ฉันเป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง
2. ญาติของชั้นมีมากกว่า 4,400 ชนิดเลยละ
3. ฉันมี 2 เพศในตัวเดียว เขามักบอกว่าฉันเป็นกระเทย (hermaphrodite)
4. ฉันออกลูกเป็นไข่นะ
5. ลำตัวของฉันแบ่งเป็นปล้อง ๆ คล้ายกับตู้รถไฟเลย
6. ฉันไม่มีจมูก แต่สามารถหายใจได้ทางผิวหนัง
7. ฉันตอบสนองต่อแสงได้นะ แต่ฉันไม่มีตา
8. ฉันเป็นมิตรกับสวนของพวกเธอด้วย เพราะฉันช่วยให้คุณภาพของดินดีขึ้น
9. ฉันเป็นอาหารอันโอชะของสัตว์หลาย ๆ ชนิดเลย
10. อย่าตัดฉันออกเป็นชิ้น ๆ ฉันงอกใหม่ไม่ได้นะ
ความสนุกยังไม่หมดเพียงเท่านี้ นอกจากเด็ก ๆ จะได้รู้จักเจ้าไส้เดือนตัวน้อยอย่างใกล้ชิดสนิทเหมือนแฟนในมุมมองทางวิทยาศาสตร์แล้ว เพื่อการเรียนรู้ที่สมบูรณ์มากขึ้น พัฒนาสมองทั้งสองซีก และสร้างจิตวิทยาศาสตร์ผ่านงานศิลปะ คุณครูได้จัดกิจกรรม “Earthworm Paper Craft” สร้างสีสัน ความสนุกสนาน และบ่มเพาะการทำงานอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ซึ่งเป็นอัลกอริทึม (algorithm) พื้นฐานที่จะพัฒนาเด็ก ๆ ให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
นี่คือเรื่องราวบางส่วนของกิจกรรมสนุก ๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางฤดูกาลแห่งสายฝน เพราะการเรียนรู้มันต้องสนุก เกิดได้ทุกที่ทุกเวลา การเรียนรู้วิทยาศาสตร์รอบตัวจะไม่น่าเบื่ออีกต่อไปหากเด็ก ๆ ได้ลงมือทำ สัมผัสจับต้องได้ด้วยตนเอง และที่สำคัญหากการเรียนรู้เกิดควบคู่ไปกับความสุขยิ่งจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้เด็ก ๆ มีความอยาก สนใจใคร่รู้ไม่รู้จบ พร้อมทั้งมีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ สังคม สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
⚛ นิตยสารสาระวิทย์ ⚛
Facebook:
https://www.facebook.com/sarawitnstda
Website:
https://www.nstda.or.th/sci2pub/sarawit
Twitter:
https://twitter.com/sarawitnstda
Blockdit:
https://www.blockdit.com/sarawit
YouTube:
https://youtube.com/@SARAWITTV
การศึกษา
กิจกรรมเด็ก
เรียนรู้ชีวิต
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย