22 พ.ย. 2022 เวลา 06:00 • ข่าวรอบโลก
สีจิ้นผิงกับการประชุม APEC
ยุทธศาสตร์การค้าของจีนในปัจจุบันนั้น อธิบายง่ายๆ ว่าเป็นการพยายามสร้างห่วงโซ่จีนเชื่อมเอเชีย แล้วทำไมต้องเชื่อมกับเอเชีย
บทความโดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
สีจิ้นผิงกับการประชุม APEC
ก็เพราะจีนบัดนี้เชื่อมกับตะวันตกได้ยากขึ้น เพราะตะวันตกมองจีนเป็นภัยคุกคาม แม้จะมีความพยายามที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกต่างๆ แต่ก็เป็นไปในลักษณะพยายามไม่ให้ความสัมพันธ์ดิ่งเหวไปมากกว่านี้ แต่จะกลับมารักกันเมื่อเก่าน่าจะยากแล้ว
1
และหากซัพพลายเชนของจีนเชื่อมเข้ากับเอเชียได้อย่างกลมกลืนเป็นผืนเดียว ตะวันตกเองก็ยากที่จะตัดขาดจากจีนโดยเด็ดขาด เพราะตะวันตกไม่สามารถตัดขาดจากเอเชียได้
1
หลายคนเคยบอกว่า ศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษของจีน แต่ท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง เริ่มมีคำถามว่าศตวรรษนี้จะเป็นของจีนแน่หรือ
ผมเองก็ไม่ทราบคำตอบ แต่ที่ตอบได้แน่นอนร้อยเปอร์เซนต์คือ ศตวรรษที่ 21 อย่างไรก็เป็นศตวรรษของเอเชีย ขุมกำลังทางเศรษฐกิจหลักของโลกอยู่ที่เอเชีย
2
แต่ก่อนทุกคนเคยพูดกันว่าต้องเกาะจีนโต แต่ตอนนี้แม้แต่จีนเองก็ต้องเกาะเอเชียโตมากกว่า
การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC จึงเป็นวาระสำคัญในการผลักดันความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาค หากเวที G20 ก่อนหน้านี้เน้นมิติการเมืองและความมั่นคง แต่บนเวที APEC นั้น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจย่อมเป็นหัวใจ
APEC ไม่ใช่เวทีการเมือง และความขัดแย้งทางการเมืองและอุดมการณ์ควรทิ้งไว้นอกห้อง ขนาดสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมยังไม่เรียกว่า “ประเทศ” แต่เรียกว่า “เขตเศรษฐกิจ” และมีผู้แทนจากฮ่องกงและไต้หวันเข้าร่วมด้วยในฐานะเขตเศรษฐกิจ
ประโยคทองในสุนทรพจน์ของสีจิ้นผิงต่อเวที APEC คือ ภูมิภาคเอเชียต้องไม่ใช่พื้นที่ของการแข่งขันของมหาอำนาจ จีนย้ำมาโดยตลอดว่าควรสลัดกรอบคิดแบบยุค “สงครามเย็น” (ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ยากมากที่จะปฏิเสธว่าโลกกำลังกลับมาเหมือนยุคสงครามเย็นทุกที)
การพบหารือกันตัวต่อตัวระหว่างสีจิ้นผิงกับไบเดนในช่วงการประชุม G20 ก่อนหน้า อย่างน้อยก็เป็นหมุดหมายที่ดีเมื่อทั้งคู่ย้ำร่วมกันว่าต่างไม่ต้องการสงครามเย็นและความขัดแย้ง เพราะเศรษฐกิจโลกนั้นเดินได้ลำบากหากมหาอำนาจต่อสู้กัน และยิ่งหากกลายมามีสงครามตัวแทนในภูมิภาค
ช่วงที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไม่ใช่ตัวนำกระแสข่าวโลก แต่กลายมาเป็นเรื่องของการเมือง ความมั่นคง สาธารณสุข แต่เมื่อใดก็ตามที่เราถอดรื้อความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการค้าออกจากกัน ประวัติศาสตร์มักสอนว่าหลับๆ ตื่นๆ รู้ตัวอีกทีอาจมีสงคราม
1
คำถามจากเวที APEC และใจความจากสุนทรพจน์ของสีจิ้นผิงก็คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาเป็นตัวนำสร้างความเชื่อมโยงและเสถียรภาพในภูมิภาคให้ได้
แน่นอนว่าสถานการณ์ภายในของจีนเองก็มีผลต่อเศรษฐกิจภูมิภาค นโยบาย Zero Covid ของจีน ซึ่งทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศและทำให้ซัพพลายเชนการผลิตสะดุด
ส่งผลต่อการเติบโตและการเชื่อมโยงของจีนกับภูมิภาคในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา หลายคนตั้งความหวังว่า การเดินทางออกนอกประเทศและการทูตเชิงรุกของสีจิ้นผิงในรอบนี้ จะส่งสัญญาณการผ่อนคลายมาตรการโควิดและเปิดประเทศจีนต่อไป
จีนเพิ่งเปลี่ยนทีมผู้นำชุดใหม่ หลายคนดูไม่แน่ใจทิศทางการบริหารเศรษฐกิจและการต่างประเทศของทีมผู้นำชุดใหม่เท่าไรนัก ในการประชุม G20 และ APEC ที่ผ่านมา เราเห็นสัญญาณไปในทิศทางที่บวก ส่งเสียงชัดว่าจีนไม่ต้องการปิดประเทศ แต่ต้องการกลับมาเชื่อมโยงเชิงรุกกับต่างประเทศอีกครั้ง
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม APEC แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่า ดูจะขาดข้อสรุปร่วมกันระหว่างผู้นำทั้งหลายที่เป็นชิ้นเป็นอันหรือเป็นรูปธรรม แต่จริงๆ ข้อคิดสำคัญที่ได้จากการประชุมน่าจะเป็นว่า การเปิดเวทีได้พูดคุยแลกเปลี่ยน และการได้มีโอกาสเจอกันตัวเป็นๆ ในบรรดาผู้นำทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เป็นหัวใจของการทูตเชิงสร้างสรรค์ในยุคภูมิรัฐศาสตร์โลกผันผวน
เรามาถึงจุดที่เพียงได้พบเจอจับมือยิ้มแย้มต่อกัน นั่งคุยในห้องเดียวกันได้ ก็เป็นการส่ง “พลังงานบวก” (คำของสีจิ้นผิง) ให้กับสถานการณ์ที่ดูวุ่นวายของโลก
หลายคนถามว่าสีจิ้นผิงในวาระที่ 3 ของการเป็นผู้นำจีน จะดำเนินนโยบายแตกต่างจากเดิมหรือไม่อย่างไร หากเราดูทิศทางการต่างประเทศของเขาจากเวทีการประชุม G20 และ APEC จะพบว่าจากการทูตเสือยิ้มยาก บัดนี้ได้กลายเป็นการทูตเสือยิ้มกว้างเรียบร้อย
คนที่ยังตั้งข้อสงสัยคงมองว่า เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจภายในจีนเป็นลบหรือเปล่า จีนจึงต้องซื้อเวลาและมีท่าทีอ่อนลงในเวทีระหว่างประเทศ แบบจะกลับมาซ่อนคมในฝักหรือไม่
แต่หากมองเชิงบวก เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจจีนเป็นลบนั่นเอง ย่อมกดดันให้จีนไม่สามารถทิ้งเอเชียและโลกได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียและโลก
แต่ที่สำคัญกว่านั้น เป็นประโยชน์ต่อสันติภาพและเสถียรภาพของเอเชียและโลกด้วย เพราะอย่างน้อยย่อมจะชะลอการสิ้นสุดของโลกาภิวัตน์ ซึ่งหากสิ้นสุดเมื่อใด ย่อมเสี่ยงที่จะผลักภูมิภาคและโลกสู่ความขัดแย้งและสงครามเย็นที่เหน็บหนาวกว่ารอบก่อนหลายเท่าตัว.
โฆษณา