Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
22 พ.ย. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุปประชุม APEC : เป้าหมายกรุงเทพฯ เศรษฐกิจ BCG คืออะไร?
ในที่สุดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ก็ได้ปิดฉากลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้นำเกือบทุกประเทศที่ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ อีกทั้งยังได้มีการลงนามรับรองแนวคิด “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG”
หรือ Bangkok goals on BCG Economy เพื่อหวังจะให้เป็นรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ในบทความนี้ Bnomics ก็เลยอยากมาอธิบายเพิ่มเติมเพื่อคนที่ยังไม่รู้ว่า เศรษฐกิจ BCG คืออะไร ทำไมถึงสำคัญต่อเศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้า
📌 เศรษฐกิจ BCG คืออะไร?
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามหารูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ๆ โดยหวังจะพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากอย่างยั่งยืน และส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด จึงได้ออกมาเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า BCG Economy Model
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่านี่เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่รัฐให้ความสำคัญว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ แล้วก็ยังมีความสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เราเคยได้ยินกันมาอย่างยาวนาน BCG Model ประกอบไปด้วยเศรษฐกิจหลักทั้ง 3 ด้าน ที่จะขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน คือ
(1) เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรชีวภาพ เพื่อให้มีการใช้อย่างคุ้มค่า และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีธาตุอาหารสูง
(2) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือ การนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่างจากการผลิตในอดีตที่นำทรัพยากรมาผลิตสินค้าและจบ แต่ทรัพยากรนี้จะถูกหมุนเวียนไปใช้ในระบบให้คุ้มค่าที่สุด ที่สำคัญคือ ลดปริมาณของเสียให้น้อยที่สุดผ่านการปรับกระบวนการผลิต หรือที่เรียกว่า Zero Waste นั่นเอง
(3) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหามลพิษ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
โดยเป้าหมายหลักของโมเดลเศรษฐกิจ BCG คือ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มีการตระหนักถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งทั้ง 3 ด้านนี้ ได้เปิดโอกาสทางธุรกิจขึ้นอย่างมากมาย กระทั่งขยะ ก็สามารถกลายมาเป็นทองคำ ที่สร้างรายได้ให้กับคนที่คิดค้นเทคโนโลยีขึ้นใหม่ๆ ได้
ในขณะที่สินค้าเดิมๆ ก็สามารถยกระดับจากผักผลไม้ธรรมดาๆ เช่น บุก สามารถกลายเป็น functional foods ที่มีราคาสูง รวมไปถึงแนวทางการสร้างพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ๆ ที่เราเคยมองข้ามมาก่อน
📌 การผลักดันเศรษฐกิจ BCG บนเวทีการประชุม APEC
แม้ว่าแนวคิดเศรษฐกิจ BGC จะถูกนำมาปรับใช้หลายปีแล้ว แต่เพิ่งจะถูกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้เอง เนื่องจากหลายๆ ประเทศเริ่มมองเห็นถึงผลเสียจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
ดังนั้นเมื่อต้องหาทางฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง หลายประเทศรวมไปถึงไทย จึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุลมากขึ้น จนกลายมาเป็น “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคต ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญในการประชุมผู้นำ APEC 2022 นี้ โดยเป้าหมายกรุงเทพฯ ประกอบด้วยเป้าหมายที่สำคัญ 4 อย่าง คือ
1) การจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ มีการพัฒนา Carbon credit, ส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV), ส่งเสริมการผลิตโปรตีนจากแมลง
2) สนับสนุนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีการผลักดันอุตสาหกรรมสีเขียว ในขณะเดียวกัน ทางสถาบันการเงินก็เริ่มมีโครงการให้สินเชื่อเพื่อสนับสนุนธุรกิจ BCG เป็นวงเงินรวมกว่า 1.5 แสนล้าน ครอบคลุมไปถึงปี 2027
3) ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ มีการใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยส่งเสริมการเพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดการใช้สารเคมีเกษตรลง และแก้ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
1
4) บริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดขยะให้เป็นศูนย์ โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้ก่อตั้ง “PPP Plastic” เพื่อดำเนินการลดขยะพลาสติกในหลายพื้นที่ อีกทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ไม่เหลือทิ้ง
📌 แล้วรัฐบาลมีกลไกอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย?
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG รัฐบาลจึงได้วางแผนขับเคลื่อนเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายไว้ 4 แนวทาง คือ
1) มีการปฏิรูปโครงสร้าง ปรับกฎการดำเนินงานและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์
2) เสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมแรงงาน ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยี
3) สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดหาเงินทุนและการลงทุนอย่างมีคุณภาพ พัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
4) มีเครือข่ายสำหรับความร่วมมือร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการเงิน ภาควิชาการตลอดจนองค์การระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกมิติ
หลังจากที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ได้มีการรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ เป็นที่เรียบร้อย ต่อจากนี้คงเป็นความท้าทายของทุกๆ ฝ่ายที่จะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อผลักดันให้เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ BCG ถูกนำมาปฏิบัติใช้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เติมโตได้อย่างสมดุล ยั่งยืน ท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ ของโลกที่ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนอีกมากมายรออยู่ในวันข้างหน้า…
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co/
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
apec
ไทย
bcg
2 บันทึก
5
5
2
5
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย