23 พ.ย. 2022 เวลา 09:22 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สถาบันการเงินโลก คาดการณ์ Recession 2023 จะเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับตลาดโลก
ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน วิกฤตค่าครองชีพจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ตลอดจนวิกฤตพลังงานจะยังคงดำเนินต่อไป นักวิเคราะห์และสถาบันทางการเงินโลก ประเมินในทิศทางเดียวกันถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอยในวงกว้าง เห็นพ้องต้องกันว่าตลาดต้องเผชิญช่วงเวลายากลำบากอีกหลังจากนี้ คาด Recession มาแน่
  • กองทุนระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้เติบโตเพียง 3.2% และลดลงอยู่ที่ 2.7 % ในปีหน้าอ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 2001 สามประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และ EU จะยังคงชะงักงัน
  • World Bank ระบุ ประเทศที่ยากจนและอ่อนแอจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ผู้คน 90 ล้านคนจะต้องประสบกับความยากจนอย่างสุดขั้ว เนื่องจากโควิด-19 และการปรับตัวของราคาสินค้าบริการ หนี้สาธารณะในประเทศกำลังพัฒนาขณะนี้อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 50 ปี เพราะการใช้งบประมาณจำนวนมากไปก่อนหน้านี้เพื่อแก้ปัญหาโรคระบาด
1
  • Morgan Stanley ระบุ เศรษฐกิจอังกฤษและยูโรโซนจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า คาดการณ์ FED จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงในปี 2023 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงแข็งแกร่งหลังจากพุ่งสูงสุดในไตรมาสที่สี่ของปีนี
>>> คาดการณ์ตลาดโลก
การระบาดใหญ่และผลจากสงครามทำให้โลกสูญเสียผลผลิตทางเศรษฐกิจอย่างถาวร ก่อให้เกิดอัตราเงินเฟ้อระดับหนี้ที่สูงและสูงขึ้น และความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาซึ่งจะได้รับผลกระทบหนักหน่วง
และถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงขยายวงกว้าง สำหรับการคาดการณ์เงินเฟ้อโลก ในปี 2021 อยู่ที่ 4.7% คาดจะสูงขึ้นถึง 8.8% ในปี 2022 และจะลดลงมาอยู่ที่ 6.5% ในปี 2023 และในปี 2024 เงินเฟ้อโลกจะชะลอลงมาอยู่ที่ 4.1%
การขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดย FED ที่หลายฝ่ายลุ้นให้ถอยคันเร่ง หากยังคงเพิ่มขึ้นอีกบวกกับค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า อาจจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อปัจจัยพื้นฐาน เช่น พลังงานและอาหาร ผู้บริโภคและภาคธุรกิจไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
>>> ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน
ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังไม่สิ้นสุด ความเสียหายจากการระเบิดท่อขนส่ง Nord Stram1 จะยังส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนเชื้อเพลิงโดยเฉพาะในพื้นที่ยุโรปตลอดช่วงฤดูหนาวปีนี้และปีหน้า ขณะเดียวกันการชะลอตัวของจีนที่ต้องล็อคดาวน์การผลิตชั่วคราวอีกครั้งจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกสามในปีนี้ กระทบการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนและยานพาหนะไฟฟ้า บวกกับการมีข้อจำกัดด้านองค์ประกอบสำคัญในการผลิตที่หายากในช่วงนี้ เช่น ลิเธียม โคบอลต์ โครเมียม และอลูมิเนียม
>>> การฟื้นฟูภาคการผลิตจาก Supply Chain Disruption
ต่อเนื่องจากปัญหายูเครนของรัสเซีย สร้างผลเสียหายกว่าที่คาดต่อห่วงโซ่อุปทานโลกที่ส่งผลให้ภาคการผลิตและการขนส่งฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ตลอดจนวิกฤตขาดแคลนอาหารในบางประเทศ มีทีท่าว่าจะยืดเยื้อ
ช่วงปีให้หลังหลายประเทศเริ่มผลักดันกับการเพิ่มประสิทธิภาพและสนับสนุนกำลังผลิตภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิธีการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวต่อการเติบโตในประเทศนั้นต้องใช้เวลา การลงทุน และความพร้อมของแรงงานที่มีทักษะ แต่อัตราเงินเฟ้อที่สูงยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่หลวง เอกชนและภาคการผลิตต้นทุนสูงยังไม่สามารถขยับขยายอะไรได้มากนอกจากลดต้นทุนและอัตรากำไรของบริษัทลง
>>> การเปลี่ยนผ่านสู่ Commodities-Driven Economies
การเปลี่ยนทิศทางมาพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานวัตถุดิบที่ปลอดภัยและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจากในประเทศหรือด้วยความร่วมมือกับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างกรณี ปัญหาชิปขาดแคลนในช่วง 3-4 ปีมานี้ที่เริ่มได้รับการสนับสนุนมหาศาลจากรัฐบาลหลายประเทศอย่างมีนัยสำคัญ มีการเพิ่มอัตราภาษีสูงและค่าแรงสูง การจัดหาวัตถุดิบได้รับการปรับปรุงใหม่ในบางประเทศ ส่งผลให้มีการลงทุนด้านการสำรวจเแร่หายากเพิ่มขึ้น รวมถึงซัพพลายออร์ที่ได้ประโยชน์จากการจัดหาและขนส่งมากขึ้น
1
ส่วนนี้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นผู้ผลิตที่ศักยภาพ และมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะจัดลำดับความสำคัญของตลาดโลก แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสินค้าโภคภัณฑ์ของสหรัฐฯ ที่ตอนนี้มาจากเอเชีย ในหลายกรณีต้องใช้เวลาและการลงทุนอย่างมากในจำนวนเงินเพื่อทดแทน แนวทาง Supply-Chain Localization ในด้านหนึ่งเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและไม่ได้เป็นแนวทางแก้ไขสถานการณ์เพียงหนึ่งเดียว
>>> ความไม่ไว้วางใจในสถาบันทางเศรษฐกิจสังคม
การปรับเปลี่ยนระเบียบโลกทางภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายการเงินที่ตึงตัว ความทุกข์ยางทางเศรษฐกิจ ทำให้ภาคประชาชนและธุรกิจสูญเสียความมั่นใจจากสถาบันทางเศรษฐกิจสังคม เพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาได้ ทิศทางดังกล่าวเกิดขึ้นต่อยังระบบคิดของผู้คนในสังคมและระดับมหภาค ถือเป็นช่วงเวลาที่การรวมศูนย์นั้นเปลี่ยนไปสู่คลื่นของการกระจายอำนาจในระบบต่างๆ
PWC เสนอผลสำรวจที่พบว่าคนอเมริกันเริ่มสงสัยเกี่ยวกับระบบธนาคาร รัฐสภา ธุรกิจขนาดใหญ่ และระบบการดูแลสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะขัดแย้งกันเองก็ตาม การประท้วงที่ทวีความรุนแรงขึ้นในเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี และแคนาดา แสดงให้เห็นชัดเจนว่านี่เป็นปรากฏการณ์ระดับโลก
นอกจากนี้ยังกระตุ้นความสนใจในวิธีอื่นในการเข้าถึงบริการ พฤติกรรมผู้บริโภคกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากการเร่งด้วยเทคโนโลยี เห็นได้อย่างชัดเจนในกรณีสถาบันการเงินปัจจุบันผู้คนเริ่มพูดถึง DeFi หรือ Web3 ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้กับระบบแบบเดิมมากขึ้น
>>> ข้อเสนอแนะให้เหยียบเบรค
สำหรับผู้กำหนดนโยบายควรจัดการความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อและพิษเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงจากปีนี้ เสริมสร้างนโยบายที่รอบคอบเพื่อลดความเสี่ยงจากสภาวะการแข็งค่าของเงินทั่วโลก นโยบายการเงินควรคงไว้ซึ่งแนวทางในการฟื้นฟูเสถียรภาพราคา และนโยบายการคลังควรมุ่งบรรเทาแรงกดดันด้านค่าครองชีพ
พิจารณาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบรรเทาข้อจำกัดด้านอุปทาน การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับปรุงการเข้าถึงได้โดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพ รวมถึงการพิจารณาความร่วมมือระหว่างประเทศ การประสานงานของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในการจัดการวิกฤตร่วมกันภายในภูมิภาค
อ้างอิง :
ติดตามข่าวสารโลกธุรกิจและเทคโนโลยีแบบอัปเดตก่อนใคร ในทุกช่องทางของเรา
โฆษณา