30 พ.ย. 2022 เวลา 11:59 • ปรัชญา
คำว่า กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี นั้น มีการแปลโดยทั่วไปว่าห้ามประพฤติผิดในกามทั้งหลาย อันนี้เป็นการแปลแบบทั่วไป แต่ก็พอเข้าใจกันได้ แม้จะไม่ละเอียดตรงประเด็นเป้าหมายนัก เพราะประเด็นในเรื่องกาเมสุมิจฉาจารนี้ มีความละเอียดพอสมควร และศีลข้อนี้ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนไม่น้อย
คำว่า กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี แปลตามศัพท์ได้ว่าเจตนาเป็นเครื่องกำจัดเวรจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
คำว่า กาเมสุ นั้นก็คือ กาม นั่นเอง กาม ในทางวิชาการหมายถึง การประพฤติเมถุน ๒ อย่าง คือ สทารสันโดษ คือความยินดีในภรรยาของตน กับ การถึงภรรยาของผู้อื่น คือการละเมิดในภรรยาของผู้อื่น
อีกความหมายหนึ่ง กาม หมายถึง สัตว์อันเป็นที่ตั้งแห่งเมถุน
คำว่า สัตว์ในที่นี้ก็คือสัตว์โลกอันเป็นที่ตั้งแห่งเมถุน
คำว่า เมถุน หมายถึง กรรมของคนคู่ คือการมีเพศสัมพันธ์กัน ซึ่งคนเดียวทำไม่ได้ ต้องทำเป็นคู่
ส่วนคำว่า มิจฉาจาร หมายถึง ความประพฤติเลวทรามที่ถูกตำหนิติเตียนโดยส่วนเดียว ไม่มีใครสรรเสริญ คนที่สรรเสริญในการละเมิดกามก็คือคนที่ชอบ มีใจไปทางนั้นเท่านั้น เขาจึงสรรเสริญ แต่ถ้าเป็นคนดีคนฉลาด โดยทั่วไปเขาจะตำหนิติเตียน จะไม่เอาด้วย
ดังนั้น กาเมสุมิจฉาจาร เราจึงแปลกันว่าการประพฤติผิดในกาม โดยลักษณะหมายถึง การล่วงละเมิดฐานะที่ไม่ควรถึงซึ่งเป็นไปทางกายทวาร โดยประสงค์เสพอสัทธรรม
การอธิบายแบบนี้เป็นเรื่องวิชาการ อธิบายแบบนี้ฟังไม่ค่อยถนัดนัก จำได้ยากด้วย เพราะฉะนั้น คนโบราณจึงบอกว่า กาเมสุ มิจฉาจารา ก็คือ การประพฤติผิดในกาม แล้วก็อธิบายว่าการประพฤติผิดในกามก็คือการล่วงละเมิดภรรยาของผู้อื่นนั่นเอง อย่างนี้พอเข้าใจ
องค์ของศีลข้อที่ ๓
ศีลข้อที่ ๓ ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ คือ
๑. เป็นบุคคลที่ไม่ควรล่วงละเมิด เช่น ชายหรือหญิงที่มีภรรยาหรือสามีแล้ว
๒. จงใจจะเสพในบุคคลนั้น
๓. มีความพยายามในการเสพ
๔. ให้อวัยวะเพศถึงกัน
เมื่อพิเคราะห์องค์ทั้งหมดเหล่านี้แล้ว ย่อมมองเห็นได้ว่าการที่จะล่วงละเมิดศีลข้อนี้ได้นั้นมิใช่ง่าย ต้องมีการสมยอมกันจึงจะครบองค์ หากเป็นการไม่สมยอม เช่น ข่มขืนทั้งในขณะตื่นหรือหลับก็ตาม ก็เป็นกาเมสุมิจฉาจารฝ่ายเดียว คือผู้ข่มขืน ส่วนฝ่ายที่ถูกข่มขืนไม่เป็นกาเมสุมิจฉาจารด้วย เพราะแม้จะมีอวัยวะเพศถึงกัน แต่ความจงใจ และความพยายามไม่มี องค์ศีลไม่ครบ จึงไม่เป็นกาเมสุมิจฉาจาร
• • • • •
พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี)
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่มา : หนังสือ "ศีล ๕ รักษาโลก"
|เพื่อความเข้าใจและเข้าถึงศีล ๕ อย่างถูกต้อง
โฆษณา