24 พ.ย. 2022 เวลา 07:17
จะเป็นอย่างไรหากใต้ทะเลไทยไม่หลงเหลือปลาให้จับแล้ว
มนุษย์เราอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในวัฏจักรนี้ ในขณะที่สัตว์ทั้งบนบกหรือในน้ำต่างก็มีวัฏจักรของการอยู่รอด มนุษย์เราก็ต้องเอาตัวรอดเช่นกัน ปัจจุบันการจับสัตว์น้ำเพื่อมาใช้ล่อเลี้ยงชีวิตของเราทั้งหมด เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ปลาในทะเลไทยลดลงอย่างรวดเร็ว นั้นเป็นเพราะการทำประมงเกินความสามารถของทรัพยากร โดยหนึ่งในปัญหาที่ไมยเผชิญอย่างหนักก็คือ Growth Overfishing คือการจับสัตว์น้ำที่ยังอยู่ในวัยอ่อน เป็นปัญหาหลักที่ทำให้ปลาในทะเลไทยนั้นลดจำนวนการเติบโตเป็นอย่างมาก
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเรายังทำวิถีแบบเดิมกับทะเล และชาวประมงสวนใหญ่มักจะใช้อวนที่ตาถี่ในการจับปลา และผลกระทบที่จะส่งผลถึงชาวประมงในอนาคต?
ผศ. ดร. จารุณี เชี่ยววารีสัจจะ อาจารย์ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรืออารจารย์มุก ได้ให้คำสัมภาษณ์เกี่ยวกับคำถามนี้ว่า
“สมดุลของห่วงโซ่อาหารจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งเราไม่เหลืออะไร”
ผลกระทบของการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยเปรียบเทียบความแตกต่างของห่วงโซ่อาหารสัตว์บกและสัตว์ทะเล 
ในสัตว์บก สิ่งมีชีวิตหนึ่งๆจะอยู่ในตำแหน่งของตนเองในห่วงโซ่อาหาร เช่น วัวกินหญ้า เสือกินวัว และจะคงอยู่อย่างนี้ แตกต่างจากสัตว์น้ำที่จะอยู่ในหลายระดับในห่วงโซ่อาหาร เมื่อเกิดมาปลาเล็กเป็นอาหารให้ปลาใหญ่ แต่บางส่วนก็ค่อยๆไต่ระดับขึ้นไปเป็นผู้ล่า
แต่เมื่อปลาเล็กจำนวนมากโดนจับขึ้นมาจำหน่าย เท่ากับเป็นการตัดตอนโอกาสที่พวกมันจะเติบโตมาเป็นปลาทรัพยากรประมง ก่อให้เกิดความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล จำนวนอาหารของผู้ล่าลดลง ขณะเดียวกัน ปลาใหญ่ที่เป็นผู้ล่าและมีหน้าที่จำกัดพันธุ์สัตว์น้ำบางชนิดยังคงถูกกวาดขึ้นจากท้องทะเลอย่างต่อเนื่อง ทำให้สมดุลของท้องทะเลเปลี่ยน
“ความต้องการสัตว์ทะเลสูงขึ้น การบริหารจัดการประมงยังตามไม่ทันการจับของชาวประมง เราจับปลาตัวเล็กลงเรื่อยๆ จับจนกระทั่งแม้แต่ลูกเล็กลูกน้อยวัยอ่อน นี่คือเหตุผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะว่าส่วนประกอบของแต่ละสปีชีส์ที่เคยคงสภาพให้เกิดสมดุลมันเปลี่ยน”
อาจารย์มุกอธิบาย
“เปลี่ยนแล้วเกิดอะไรขึ้น มันก็เข้าสู่สมดุลแบบใหม่ องค์ประกอบในสิ่งมีชีวิตของสมดุลใหม่มันไม่เหมือนของเดิม สัตว์น้ำบางชนิดถึงเหลืออยู่ก็ไม่สามารถเพิ่มจำนวนขึ้นมาเป็นทรัพยากรประมง  เป็นแค่ตัวเล็กตัวน้อยอยู่ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ เราจับลูกเล็กเด็กแดงเราก็ไม่เหลือที่มันจะโตไปสืบพันธุ์ แล้วจะส่งผลอย่างไรต่อชาวประมง มันก็ไม่เหลือปลาให้จับต่อไป”
สิ่งที่ชาวประมงรุ่นใหม่กำลังกงวล?
กิตติเดช เทศแย้ม หรือ นิสสัน เป็นชาวประมงรุ่นใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสิ่งที่เขากำลังกังวลและสิ่งที่เห็นมาตลอด
กิตติเดช เทศแย้ม
“สัตว์น้ำทั้งปลาปูกุ้งลดน้อยลง ทุกอย่างลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อก่อนเรามีเครื่องมือสามมัดแต่สามารถจับปลาได้มากมาย พอผมโตขึ้นเราต้องใช้เครื่องมือเป็นสิบๆมัดเพื่อให้จับปลาได้เท่าเดิม มันแสดงให้เห็นว่าปลามันน้อยลงแล้ว”
“เมื่อก่อนพอถึงฤดูของมัน ปลาทูหรือปลาต่างๆ จะขึ้นฝูงให้เราเห็น ให้ปลาวาฬหรือปลาใหญ่ขึ้นมากินมัน แต่ตอนนี้เราไม่เห็นแล้ว เมื่อก่อนเดินตามชายหาดเราเจอลูกปูม้า ตอนนี้เราก็ไม่เห็นแล้ว”
อีกหนึ่งสิ่งที่ นิสสัน ได้พูดถึงการยกระดับในอาชีพชาวประมง
ตัวเขาเองก็เติบโตในครอบครัวชาวประมง และมุ่งมั่นจะยกระดับอาชีพประมงควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ อย่างไรก็ตาม เขาเล่าด้วยความกังวลว่า ถ้าชาวประมงยังไม่ปรับเปลี่ยนความคิดและจับสัตว์น้ำวัยอ่อนต่อไป อนาคตอาจไม่มีอาชีพประมงอีกต่อไป และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจชุมชนทั้งระบบ
“ถ้าเกิดหมู่บ้านใครหรือจังหวัดใครไม่ปรับตัวไม่เปลี่ยนแปลง ยังจับสัตว์น้ำวัยอ่อน อาชีพเราก็จะหมดไป เพราะมันจะไม่มีปลามาทดแทนรุ่นสู่รุ่น”
“และที่กังวลมากคือเรื่องระบบเศรษฐกิจ พอชาวประมงไม่มีอาชีพพอไปซื้อของอย่างอื่น ไม่มีเงินไปซื้อผักผลไม้ คนที่ขายผักผลไม้ก็ไม่มีคนซื้อ ทุกคนจะได้รับผลกระทบหมด”
สิ่งที่ชาวประมงควรจะปรับเปลี่ยน คือการเลือกจับสัตว์น้ำที่โตเต็มวัย ให้โอกาสสัตว์น้ำที่กำลังอยู่ในวัยอ่อนได้เติบโตเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และได้มีโอกาสแพร่พันธุ์ เพื่อจะรักษาสมดุลใต้ท้องทะเลให้ปลาได้อยู่คู่กับทะเลตลอดไป หากชาวประมงยังจับแต่ปลาที่ยังโตไม่เต็มวัย วันหนึ่งก็อาจจะไม่เหลืออะไรใต้ทะเลไทยเหลือแต่สิ่งว่างเปล่าในใต้ทะเล
#Seafish #ทะเลของปลา
โฆษณา