25 พ.ย. 2022 เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รู้จัก Medallion Fund กองทุนกำไรล้านล้าน ที่บริหารโดย นักคณิตศาสตร์
หลายคนน่าจะมีภาพจำว่า กองทุนเฮดจ์ฟันด์ส่วนใหญ่ มักจะถูกบริหารโดยนักการเงินมืออาชีพ
1
แต่ในความเป็นจริงแล้ว โลกของเรายังมีกองทุนที่บริหารโดย อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ และเป็นอดีตนักถอดรหัสให้กับสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาด้วย
กองทุนนี้คือ Medallion Fund ที่ผู้บริหารกองทุนนี้ ล้วนเป็นนักคณิตศาสตร์ทั้งหมด จึงเรียกได้ว่ากองทุนนี้ คือการรวมกลุ่มกันของนักคณิตศาสตร์ เพื่อจะมาเอาชนะตลาดการเงิน
Medallion Fund สามารถทำผลตอบแทนโดยเฉลี่ย ได้สูงถึง 66% ต่อปี นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 1988 เอาชนะผลตอบแทนของนักลงทุนชื่อดังอย่าง Warren Buffett และ George Soros ไปได้อย่างขาดลอย
และถ้าหากคุณสงสัยว่ากองทุนนี้ ต้องผ่านอุปสรรคอะไรมาบ้าง กว่าจะประสบความสำเร็จแบบทุกวันนี้
BillionMoney จะสรุปให้ฟัง แบบฉบับเข้าใจง่าย ๆ
Medallion Fund มีจุดเริ่มต้นมาจากชายที่ชื่อ Jim Simons นักคณิตศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสโตนีย์บรูก นิวยอร์ก
Jim Simons เริ่มลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ หลังจากที่ได้รับเงินของขวัญแต่งงาน เป็นจำนวน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ
แต่ก็มีเหตุให้เขาต้องหยุดการซื้อขาย เมื่อภรรยาของเขาตั้งท้อง อย่างไรก็ตามลึก ๆ แล้ว Jim Simons เป็นคนที่หลงใหลในการสร้างความมั่งคั่ง พอ ๆ กับที่เขาหลงใหลในปัญหาทางคณิตศาสตร์
ในช่วงที่เขาทำงานเป็นนักถอดรหัสให้กับรัฐบาล เขาได้ใช้เวลาว่างชักชวนเพื่อนร่วมงาน เขียนงานวิจัยเกี่ยวกับตลาดหุ้น
หลังจากที่ Jim Simons ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด บนเส้นทางของนักคณิตศาสตร์ในวัย 40 ปี เขาก็เริ่มกลับมาสนใจเรื่องการลงทุนอีกครั้ง
Jim Simons ได้เริ่มก่อตั้งบริษัทของตัวเองขึ้น ในปี 1978 ชื่อว่า Monemetrics และเขาก็เริ่มเชิญชวนเพื่อนร่วมงานของเขา เข้ามาช่วยสร้างแบบจำลองทางการเงิน เพื่อพยากรณ์ราคาสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ ทั้งค่าเงิน และสินค้าโภคภัณฑ์
ในสมัยนั้นเทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้ามากพอ ที่จะส่งคำสั่งซื้อขายแบบอัตโนมัติได้ ดังนั้นแบบจำลองทางการเงินจึงทำหน้าที่แค่ให้คำแนะนำในการซื้อขายเท่านั้น
4
พอเป็นแบบนี้ ทำให้ในช่วงแรก เพื่อนร่วมงานของ Jim Simons บางคน จึงเริ่มที่จะไม่สนใจคำแนะนำของโมเดล แต่กลับซื้อขายตามสัญชาตญาณของตัวเอง
จนมูลค่าการลงทุนของเพื่อนร่วมงานคนนั้น ลดลงไปถึง 40% ซึ่งสร้างบาดแผลให้กับ Jim Simons เป็นอย่างมาก จนถึงขั้นคิดที่จะปิดกองทุน
แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงศรัทธาในตัว Jim Simons และเชื่อว่าเขาจะหาทางแก้ไขปัญหาทั้งหมด และกลับมาสร้างผลตอบแทนได้ดีเหมือนเดิม
หลังจากเกิดปัญหาขึ้น Jim Simons ตัดสินใจรีแบรนด์บริษัทขึ้นมาใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Monemetrics เป็น Renaissance Technologies และยุบกองทุนภายใต้การบริหารจัดการที่ชื่อ Limroy เปลี่ยนมาเป็น Medallion Fund
พร้อมกับปรับกลยุทธ์ให้ซื้อขายบ่อยขึ้น แต่มีระยะเวลาการลงทุนที่สั้นลงแทน เพื่อให้การขาดทุนต่อการเทรด 1 ครั้ง มีค่าน้อยลง จนแทบไม่มีนัยสำคัญต่อพอร์ตการลงทุนโดยรวม
สิ่งที่ Medallion Fund ค้นพบก็คือ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มักจะปรับตัวลงในวันศุกร์ จากนั้นจะปรับตัวขึ้นในวันจันทร์ เพราะนักลงทุนสถาบันไม่ต้องการให้ข่าวร้าย ในวันที่ตลาดปิด ส่งผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนของพวกเขา
1
Medallion Fund ก็จะอาศัยจังหวะนั้น รับซื้อสัญญาซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ จากสถาบันการเงินเหล่านั้น แล้วปล่อยขายในวันจันทร์
แม้ Medallion Fund จะสามารถกลับมาสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้อีกครั้ง แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการระดมทุน
2
เพราะในตอนนั้น เริ่มมีกองทุนที่ใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณ แบบเดียวกับ Medallion Fund เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมสูงขึ้น
และอุปสรรคสำคัญอีกอย่าง ที่ขัดขวางการระดมทุนของกองทุน นั่นก็คือนโยบายการเก็บรักษาความลับที่เข้มงวดของ Jim Simons ที่ทำให้ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนรู้สึกเกิดความไม่มั่นใจในความโปร่งใส
ดังนั้นแล้ว Medallion Fund จึงต้องเติบโตจากเงินทุนที่มีอยู่ แต่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เล็กเกินไปสำหรับกองทุนนี้แล้ว
ดังนั้นตลาดหุ้น จึงเป็นตลาดที่ Jim Simons อยากเข้าไปทำกำไร
แม้การสร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์ เพื่อเอาชนะตลาดหุ้นจะทำได้ยากกว่าตลาดอื่น ๆ ที่ Medallion Fund เคยทำมา แต่พวกเขาก็ประสบความสำเร็จในที่สุด
ปัจจุบัน Renaissance Technologies มีกำไรสะสมมากกว่า 3,600,000 ล้านบาท
และมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการทั้งหมด 2,000,000 ล้านบาท
และด้วยสินทรัพย์ที่มากขนาดนี้ ก็ทำให้ Medallion Fund กลายเป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก..
References:
-หนังสือ The Man Who Solved the Market โดย Gregory Zuckerman
1
โฆษณา