25 พ.ย. 2022 เวลา 12:19 • กีฬา
เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ เป็นสถานที่ ที่ชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศ เคยเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสที่สุด แต่วันนี้เป็นเมืองที่คนญี่ปุ่นมีความสุขที่สุด และทั้งหมดเกิดจากฟุตบอล เรื่องราวเป็นอย่างไร วิเคราะห์บอลจริงจังจะเล่าให้ฟัง
2
ย้อนกลับไปในเดือนตุลาคม 1993 เป็นการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย หาตัวแทน 2 ทีมไปเล่นในฟีฟ่า เวิลด์คัพ 1994 ที่สหรัฐอเมริกา
ในสมัยนั้น การแข่งขันไม่ได้แข่งแบบเหย้า-เยือน แต่ทีมทั้งหมด ที่ผ่านถึงรอบสุดท้าย จะรวมแข่งในเมืองเดียว ซึ่งก็คือ โดฮาของกาตาร์นั่นเอง
ญี่ปุ่นไม่เคยไปฟุตบอลโลกมาก่อน มันคือความฝันสูงสุดของแฟนบอลทั้งประเทศ และคราวนี้พวกเขาใกล้เคียงมากๆ ขอเพียงแค่นัดสุดท้ายเอาชนะอิรักให้ได้ ก็จะได้ไปบอลโลกที่สหรัฐฯ ทันที โดยไม่ต้องสนใจผลของคู่อื่นทั้งสิ้น
หรือถ้าผลออกเสมอ แล้วอีก 2 คู่ที่แข่งพร้อมกัน ถ้าเกาหลีใต้ไม่ชนะเกาหลีเหนือ และ ซาอุดิอาระเบียไม่ชนะอิหร่าน ญี่ปุ่นก็ยังเข้ารอบอยู่ดี
คือดูๆ ไปแล้ว โอกาสที่ญี่ปุ่นจะได้ไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายนั้นสูงมากๆ เพราะทุกอย่างอยู่ในกำมือตัวเอง
28 ตุลาคม 1993 การแข่งขันเริ่มต้นขึ้น ญี่ปุ่นนำอิรักไปก่อนตั้งแต่นาทีที่ 5 จากคาซูโยชิ มิอูระ นำ 1-0 แต่พอครึ่งหลังอิรักตีเสมอได้ 1-1 จากอาเหม็ด ราห์ดี้ ในนาทีที่ 55
2
ญี่ปุ่นไม่ถอดใจ นำ 2-1 จากมาซาชิ นากายามะ ในนาทีที่ 69 ขอแค่รักษาสกอร์นี้ได้จนจบเกม พวกเขาได้ไปบอลโลกทันที
1
สถานการณ์ของอีกสองสนาม เกาหลีใต้ถล่มเกาหลีเหนือ 3-0 ขณะที่ซาอุดิอาระเบียเชือดอิหร่าน 4-3 มันบังคับให้ญี่ปุ่นต้องชนะสถานเดียว พวกเขาต้องรักษาสกอร์ที่มีเอาไว้ให้ได้
1
หลังจากขึ้นนำญี่ปุ่นเลือกจะถอยมาเล่นเกมรับ ไม่คิดจะบุกอีกแล้ว โค้ชถอดกองหน้าแล้วเอากองกลางลงแทน คือคิดตามคอมม่อนเซนส์ก็เข้าใจได้ ยิงเพิ่มไปก็เท่านั้น
2
การคิดรักษาสกอร์ด้วยการอุดให้แน่นก็เป็นวิธีหนึ่ง แต่มันก็เปิดช่องให้อิรักได้เดินหน้าบุกมาขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือ
เกมจบ 90 นาทีไปแล้ว เข้าสู่ช่วงทดเวลาบาดเจ็บ และกรรมการจะทดแค่ 1 นาทีเท่านั้น
ตอนนี้แฟนๆ ญี่ปุ่นบนสแตนด์เตรียมฉลองกันแล้ว ขณะที่นักเตะก็ลงไปแพ็กเกมรับกันหมดหน้าเขตโทษ
2
อิรักนั้นไม่มีลุ้นอะไรแล้ว ต่อให้ชนะญี่ปุ่นก็ไม่ได้เข้ารอบอยู่ดี แต่พวกเขากลับเล่นด้วยสปิริต ไม่มีใครอยากแพ้ เวลาลงเล่นให้ทีมชาติตัวเอง
4
ช่วงเสี้ยววินาทีที่ญี่ปุ่นไม่ทันระวังตัว นาที 90+1 อิรักได้เตะมุม พวกเขาเล่นบอลสั้น แล้วครอสบอลเข้ามากลาง ก่อนจะเป็นจาฟฟาร์ ออมราน โหม่งเข้าประตูไปดื้อๆ ผู้รักษาประตูญี่ปุ่นขาตาย ตีเสมอเป็น 2-2
4
นักเตะญี่ปุ่นล้มกลิ้งไปกองกับพื้น พวกเขารู้ว่าสถานการณ์นี้คืออะไร และหลังจากเอาลูกมาเขี่ย ได้สัมผัสบอลอีก 3 ที กรรมการก็เป่านกหวีดหมดเวลา
3
ญี่ปุ่นตกรอบฟุตบอลโลกในเสี้ยววินาทีสุดท้าย กลายเป็นซาอุฯ กับ เกาหลีใต้ ได้โควต้าไป นี่คือความเจ็บปวดที่ยากจะบรรยายของญี่ปุ่น อีกแค่ก้าวเดียวเท่านั้นพวกเขาก็ทำไม่ได้
5
เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า Agony of Doha (ความเจ็บปวดแห่งโดฮา) แฟนบอลทีมชาติญี่ปุ่นไม่มีใครลืมเรื่องนี้ได้ เพราะมันทรมานจริงๆ อีกแค่ไม่กี่วินาที คุณจะได้ไปฟุตบอลโลกครั้งแรกอยู่แล้ว
สำหรับบางประเทศ ถ้าเจ็บปวดหนักขนาดนี้ อาจจะเป๋ไปเลย แต่ญี่ปุ่นค่อยๆ เก็บเศษซากความเจ็บปวด หาข้อผิดพลาดว่าเกิดอะไรขึ้น
2
พวกเขาพัฒนาฟุตบอลเจลีก ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นเพื่อป้อนนักเตะคุณภาพเข้าสู่ทีมชาติมากขึ้น
2
พวกเขาไม่อาย ถ้าจะทำเรื่องโอนสัญชาติให้นักเตะที่มีคุณภาพ อย่างเช่น วากเนอร์ โลเปซ หัวหอกชาวบราซิล ที่ยิงกระจายให้คาชิว่า เรย์โซล แต่ทีมชาติบราซิลไม่เรียก ซึ่งก็ไม่แปลก บราซิลยุคนั้น มีโรนัลโด้, เบเบโต้, โรมาริโอ ดังนั้นวากเนอร์ โลเปซ จึงถูกมองข้ามไป ญี่ปุ่นก็ฉวยโอกาสนี้ มอบสัญชาติและให้มาเล่นในสีเสื้อญี่ปุ่นแทน
2
ญี่ปุ่นเข้าใจดีว่า ในช่วงที่ประเทศตั้งไข่ มันก็คงจะดี ถ้าผู้เล่นได้เรียนรู้จังหวะจากตัวต่างชาติ สามารถดูดเอาทักษะต่างๆ และพัฒนาให้นักเตะยุคใหม่ๆ เก่งขึ้นกว่าเดิมได้
4
สุดท้าย ความเจ็บปวดแห่งโดฮา ก็ค่อยๆ ลบเลือนไป เพราะพวกเขากลับมายิ่งใหญ่ ด้วยการคว้าโควต้าฟุตบอลโลกครั้งแรก ในฟรองซ์ 98
2
อย่างไรก็ตาม แม้จะได้ไปบอลโลกแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองโดฮา และ กาตาร์ เป็นสถานที่ ที่แฟนบอลญี่ปุ่นไม่อยากจะนึกถึง เพราะมีเรื่อง Agony of Doha นั่นเอง
จากปี 1993 ผ่านไป 29 ปี เข้าสู่ฟุตบอลโลก 2022 ทีมชาติญี่ปุ่นกลับมาที่โดฮาอีกครั้ง ลงเล่นเกมฟุตบอลโลกกลุ่ม E นัดแรก เจอกับเยอรมัน แชมป์โลก 4 สมัย
2
รู้หรือไม่ว่า ผู้เล่น 11 ตัวจริง ของญี่ปุ่นในเกมที่เสมออิรัก เมื่อปี 1993 หนึ่งในนั้นมีชื่อว่า ฮาจิเมะ โมริยาสุ ซึ่งคือเฮดโค้ชทีมชาติญี่ปุ่นคนปัจจุบันนั่นเอง
3
ในวันนั้นที่เจอกับอิรัก โมริยาสุ มีอายุ 25 ปี เขาเป็นผู้เล่นของซานเฟรซเซ่ ฮิโรชิม่า เจ้าตัวลงสนามมาด้วยความฝัน มี Passion ว่าอยากพาทีมชาติตัวเองไปบอลโลกครั้งแรกให้ได้
โมริยาสุเล่นได้ดีทั้งเกม แต่ในนาที 90+1 ตอนอิรักเล่นเตะมุมสั้น เขาเป็นคนที่วิ่งเข้าไปสกัดลูกครอสช้าไป 1 จังหวะ จนอิรักได้เปิด นำมาสู่การโหม่งตีเสมอ และญี่ปุ่นตกรอบ
1
โมริยาสุก้มหน้าไม่อยากจะเชื่อ ว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นจริงๆ หลังจบเกมเขาให้สัมภาษณ์ว่า "ผมไม่เคยเจอความเจ็บปวดมากขนาดนี้ในชีวิต" คืนนั้นเขากลับไปที่โรงแรมแล้วนอนร้องไห้
เรื่องนี้เป็นปมในใจของโมริยาสุตลอดมา หลังจากที่เขาแขวนสตั๊ดแล้วมาเป็นโค้ช เขาจึงมีจุดยืนเรื่องการคุมทีม เขากล่าวว่า "ความผิดพลาดที่โดฮา คือเราเล่นเกมอุดอย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้นผมไม่อยากให้นักเตะคนไหน ต้องมีเสียใจแบบผมอีก"
4
ปรัชญาของโมริยาสุ คือทีมจะไม่อุด 100% แม้จะเจอทีมใหญ่กว่าก็ตาม แต่จะหาช่องทางในการสู้ ในการบุกอยู่ตลอด คือถ้าเล่นรับเต็มตัวก็มีแต่จะรอโดน แต่ถ้าสู้บ้าง ผลลัพธ์ก็อาจไม่เป็นเหมือนเดิม
6
29 ปีผ่านไป โมริยาสุที่เปลี่ยนจากกองกลางทีมชาติ เขากลับมาที่โดฮาอีกครั้ง ในฐานะเฮดโค้ชทีมชาติ และพาญี่ปุ่นลงเล่นเกมฟุตบอลโลกนัดแรกกับเยอรมัน
1
จากที่เคยเสมออิรัก 2-2 ในปี 1993 ต้องตกรอบอย่างสุดเศร้า
1
วันนี้ ที่เมืองเดียวกันนี้ ญี่ปุ่นเอาชนะเยอรมันได้
ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ถ้าจะคิดให้ทุกข์ มันก็ทุกข์ แต่บางคนเลือกเอามันมาเป็นแรงผลักดันให้ชีวิต
3
ในที่สุด โมริยาสุ คนที่เจ็บปวดแสนสาหัสในปี 1993 เขาเขียนความทรงจำใหม่ในเมืองโดฮาให้ตัวเอง ด้วยการชนะเยอรมันแชมป์โลก 4 สมัย
6
ก็อย่างที่คนบอกกันเสมอ ว่าไม่มีอะไรจะทำให้ความเศร้าลบเลือน ได้ดีกว่าการสร้างความทรงจำดีๆ ใหม่ ขึ้นมาทดแทน
7
จากวันนั้นในปี 1993 สิ่งที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนไป คือพวกเขาพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และไม่ใช่ทีมที่ต้องลุ้นใน รอบคัดเลือกโซนเอเชียอีกแล้ว แต่พวกเขายกระดับมาถึงขั้น ต่อสู้กับชาติมหาอำนาจได้อย่างสูสี
2
จาก Agony of Doha 29 ปีผ่านไป เมื่อคิดถึงเมืองโดฮา ตอนนี้คนญี่ปุ่นไม่นึกถึงความเศร้าอีกต่อไปแล้ว มันหลงเหลือไว้เพียงแค่ความสุขเท่านั้น
และในฟุตบอลโลกครั้งนี้ เราไม่มีทางรู้ได้เลย ว่าทีมชาติญี่ปุ่นของโมริยาสุ สุดท้ายแล้วจะทะยานไปได้ไกลขนาดไหน
2
ความทรงจำใหม่ที่โดฮา อาจจะมีบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าการชนะเยอรมันก็ได้ ใครจะไปรู้
โฆษณา