Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
KBank Live
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
25 พ.ย. 2022 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
มาทำความรู้จัก ทางเลือกจ่ายค่าตอบแทนให้ Win-Win ทั้งกิจการ และคนสำคัญในธุรกิจ แถมช่วยจัดการภาษี และความเสี่ยง
• คนที่เป็นหัวเรือหลักของธุรกิจส่วนใหญ่มักเป็นกรรมการ ที่ถูกเรียกว่า KEYMAN ซึ่งหากเกิดเหตุไม่คาดฝันย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ดังนั้นการมีประกัน KEYMAN จะช่วยลดผลกระทบจากความเสี่ยงตรงจุดนี้
1
• บุคคลที่เป็น KEYMAN จะได้ประโยชน์หลักในเรื่องความคุ้มครอง ส่วนบริษัทสามารถนำค่าใช้จ่ายนี้ไปลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้ โดยต้องเป็นค่าเบี้ยประกันของกรมธรรม์ที่มีความคุ้มครอง 10 ปี ขึ้นไปและเบี้ยประกันที่บริษัทจ่ายให้ต้องไม่เกิน 5% ของรายได้ทั้งปี หรือ ไม่ควรเกิน 20% ของกำไรสุทธิ
• เงินชดเชยจากกรมธรรม์ประกันชีวิตนี้สามารถช่วยธุรกิจให้อยู่รอดได้โดยสามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจ ขยายกิจการ ชำระหนี้ สต็อกสินค้าเพื่อเตรียมการขาย หรือเป็นมรดกให้ลูกหลานของ KEYMAN เป็นต้น
ธุรกิจเดินหน้าได้ด้วยผู้นำที่ต้องรับผิดชอบตั้งแต่การหาลูกค้า จัดการธุรกิจและพนักงานภายใน รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งกิจการบางแห่งอาจเดินหน้าได้ด้วยผู้นำที่เป็นกรรมการเพียงไม่กี่คน
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายกิจการมักมีความเสี่ยงหนึ่งที่สำคัญคือการเกิดเหตุไม่คาดฝันกับผู้นำของกิจการ หรือบุคคลที่เรียกกันว่า KEYMAN
KEYMAN คือใคร?
โดยทั่วไปธุรกิจมักเป็นแบบเจ้าของคนเดียว หรือมีหุ้นส่วนเป็นคนใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัวที่ร่วมกันสืบทอดกิจการมาจากคนรุ่นก่อน เพื่อนสนิทที่ร่วมก่อตั้งธุรกิจมาด้วยกัน โดยลักษณะของ KEYMAN คือบุคคลที่เป็นหัวเรือหลักของธุรกิจ
หากขาดคนๆ นี้ไปธุรกิจอาจหยุดชะงัก ไม่มีใครสามารถตัดสินใจแทนได้ในระหว่างที่ KEYMAN ไม่อยู่ ซึ่งโดยปกติ KEYMAN มักมีชื่อเป็นกรรมการบริษัท
ดังนั้นหากเกิดเหตุไม่คาดฝันกับ KEYMAN ย่อมส่งผลกระทบต่อกิจการ แต่เราก็สามารถจัดการความเสี่ยงเพื่อบรรเทาผลกระทบนี้ลงได้
โดยสามารถทำได้ตั้งแต่การสร้างมือรองหรือทายาทรุ่นต่อไป ให้พร้อมรับช่วงธุรกิจต่อได้ทันที แต่หากประเมินแล้วมือรองยังรับช่วงต่อได้ไม่เต็มที่ เช่น ความสัมพันธ์ของคู่ค้ายังผูกติดกับ KEYMAN อยู่ หรือการหาแหล่งเงินทุน
เช่น การขอสินเชื่อกับธนาคาร ยังต้องอาศัยประสบการณ์และความน่าเชื่อถือของ KEYMAN รวมไปถึงหาก KEYMAN จากไปทำให้รายได้ธุรกิจลดลงจนส่งผลกระทบต่อแหล่งรายได้ของผู้ถือหุ้นหรือสมาชิกในครอบครัวของกลุ่มเจ้าของธุรกิจ (เช่น ธุรกิจกงสี) การมีประกัน KEYMAN เพื่อมีเงินก้อนให้กับธุรกิจหรือสมาชิกครอบครัวของ KEYMAN ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ
ประกัน KEYMAN มีประโยชน์อย่างไร?
ประกัน KEYMAN คือ ประกันชีวิต ที่บริษัทหรือกิจการเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันโดยมี KEYMAN หรือบุคคลสำคัญของกิจการเป็นผู้เอาประกัน และการทำประกันที่ว่าต้องทำให้กับทุกคนที่มีชื่อเป็นกรรมการบริษัท โดยผู้รับผลประโยชน์กรณี KEYMAN เสียชีวิต อาจเป็นสมาชิกของคนในครอบครัว KEYMAN หรือบริษัทที่เป็นผู้ชำระเบี้ยก็ได้
1) หลักประกันเงินก้อนให้กับธุรกิจหรือคนในครอบครัว
เงินเอาประกันที่ผู้รับผลประโยชน์ได้รับหากผู้เอาประกันเสียชีวิต จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความสูญเสียนั้นได้ เช่น หากผู้รับผลประโยชน์คือบริษัท เงินเอาประกันนั้นจะถูกนำไปใช้ในการดำเนินกิจการระหว่างที่รายได้อาจสะดุดในช่วงที่ขาด KEYMAN ท่านนั้นไป
หรือหากผู้รับผลประโยชน์คือสมาชิกในครอบครัวของ KEYMAN เงินเอาประกันนั้นจะถูกนำไปเป็นค่าใช้จ่ายของครอบครัวเพื่อทดแทนรายได้ที่ลดหรือหายไปหลังจากที่ KEYMAN จากไป โดยประกันที่เน้นหลักประกันที่ว่ามักเป็นประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองตลอดชีพ
2) แรงจูงใจและสวัสดิการ ให้กับบุคคลสำคัญ
ประกัน KEYMAN หากมีเงินคืนระหว่างสัญญาหรือเงินครบสัญญาจากประกัน เงินที่ KEYMAN ได้รับนี้จะได้การยกเว้นภาษี จึงเสมือนเป็นสวัสดิการเงินเก็บให้กับ KEYMAN จากบริษัท
เช่น ประกันชีวิตเพื่อสะสมทรัพย์ ที่เสมือนการสะสมเงินก้อนให้ KEYMAN เมื่อประกันครบสัญญา และประกันชีวิตเพื่อบำนาญ ที่เสมือนสวัสดิการเงินบำนาญหลังเกษียณจากบริษัทผ่านบริษัทประกันชีวิต
3) ทางเลือกบริหารภาษี
เบี้ยประกันที่บริษัทจ่ายไปจะถูกคิดเป็นค่าใช้จ่ายกิจการทำให้กำไรสุทธิและภาษีนิติบุคคลของกิจการลดลง ส่วน KEYMAN หรือกรรมการบริษัทที่เป็นผู้เอาประกันค่าเบี้ยประกันนั้นจะถูกรวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
ดังนั้นสำหรับบริษัทที่ KEYMAN เป็นเจ้าของกิจการ อาจพิจารณาเลือกเพิ่มค่าใช้จ่ายบริษัทในรูปแบบค่าเบี้ยประกันเพื่อลดกำไรสุทธิที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตรา 20% ไปเป็นรายได้กรรมการ
ซึ่งหากรวมกับรายได้อื่นแล้วกรรมการมีรายได้ไม่เกินปีละ 910,000 บาท ก็จะยังมีฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ถึง 20% ซึ่งต่ำกว่าอัตราภาษีนิติบุคคล
อย่างไรก็ตาม ประกัน KEYMAN ต้องเป็นประกันที่มีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป และบริษัทต้องทำให้กับกรรมการทุกคนไม่สามารถเลือกทำให้คนใดคนหนึ่งได้ อีกทั้งเบี้ยประกัน KEYMAN ที่เหมาะสม บริษัทต้องจ่ายไม่เกิน 5% ของรายได้ทั้งปี
หรือไม่ควรเกิน 20% ของกำไรสุทธิ ขึ้นกับว่ายอดใดน้อยกว่า เช่น บริษัทมีรายได้ต่อปี 10 ล้านบาท กำไร 2 ล้านบาท ดังนั้น 5% ของรายได้คือ 500,000 บาท และ 20% ของกำไรคือ 400,000 บาท จากต้วอย่างนี้บริษัทควรซื้อประกัน KEYMAN ให้กับกรรมการทุกคน โดยจ่ายเบี้ยประกันรวมกันทุกคนไม่เกินปีละ 400,000 บาท เป็นต้น
ประกันส่วนตัว VS ประกัน KEYMAN
สำหรับประกันส่วนตัวที่กรรมการมีอยู่ และประกัน KEYMAN ที่บริษัทจ่ายค่าเบี้ยประกันให้ แม้เป็นประกันชีวิตเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกัน ซึ่งสามารถสรุปได้จากตารางด้านล่างนี้
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจตั้งคำถามว่าสรุปแล้วควรทำประกัน KEYMAN หรือไม่ และเมื่อทำแล้วจะคุ้มกับประโยชน์ที่ได้รับหรือไม่ คำตอบของคำถามนี้อยู่ที่
(1) กิจการจะได้รับผลกระทบขนาดไหนหากบุคคลซึ่งเป็น KEYMAN จากไปอย่างกะทันหัน เทียบกับค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายและสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายบริษ้ทได้ หรือ
(2) การแสดงความห่วงใยต่อครอบครัว KEYMAN ด้วยการทำให้ประกันให้กับกรรมการบริษัท และให้ญาติเป็นผู้รับผลประโยชน์เงินก้อนโตจากประกันนั้น ด้วยค่าเบี้ยรายปีเพียงไม่กี่บาท ที่สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายบริษัทได้เช่นกัน
ดังนั้นบริษัทควรจะทำประกัน KEYMAN หรือไม่นั้น จึงอยู่ที่คำตอบของสองคำถามที่ได้กล่าวไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร, เมืองไทยประกันชีวิต
บทความโดย K WEALTH TRAINER พธพร รัตนสิโรจน์กุล
#KBankLive
ภาษี
ความเสี่ยง
ประกัน
8 บันทึก
5
4
8
5
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย