Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
SoccerSuck
•
ติดตาม
25 พ.ย. 2022 เวลา 10:27 • กีฬา
#SSColumn
เรื่องของฟาสซิสต์ กับ ฟุตบอลโลก (ฉบับหลังหนาม)
โดย : เบียร์ หลังหนาม
กลับมาที่บทความที่พูดถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของฟุตบอลโลก ต่อเนื่องจากครั้งก่อนที่ผมเล่าเรื่อง ‘จุดเริ่มฟุตบอลโลก (ฉบับหลังหนาม)’ ไป ทว่าครั้งนี้จะเป็นเรื่องราวที่มีประเด็นลึกซึ้งมากขึ้นมาอีกหน่อย เพราะผมจะพูดถึง ‘ลัทธิฟาสซิสต์’ กับ ‘ฟุตบอลโลก’
บางท่านอาจจะเคยได้ยินหรือรู้จักชื่อของ ‘เบนิโต มุสโสลินี’ มาบ้าง จากเรื่องราวเกร็ดความรู้ต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ตและจากหน้าหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ แต่ถ้าท่านยังไม่รู้จัก ผมจะทำให้ท่านได้รู้จักชายคนนี้ไปทีละนิด อย่างค่อยเป็นค่อยไป และขอเกริ่นก่อนเลยว่า...ชายคนนี้เป็นตัวละครหลักในเรื่องที่ท่านกำลังอ่านอยู่
‘เบนิโต มุสโสลินี’ ถือกำเนิดขึ้นในเมืองเล็ก ๆ ในแคว้นเอมีเลีย – โรมัญญา ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี มุสโสลินีมีแม่เป็นคุณครูสอนหนังสือในโรงเรียนที่เคร่งศาสนาคาทอลิก มีพ่อเป็นช่างตีเหล็กและนักสังคมนิยม ในวัยเด็กของมุสโสลินีนั้นมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่กับพ่อในโรงตีเหล็ก มันทำให้เขาได้ซึมซับแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองจากพ่อมามากมาย ซึ่งจะไปในทิศทางของ ‘ลิทธิอำนาจทหาร’ และ ‘ลัทธิชาตินิยม’
ตั้งแต่เด็ก มุสโสลินีมีนิสัยที่ห้าวหาญเป็นอย่างมาก เขาเป็นคนเลือดร้อนและไม่เคยยอมใคร เขามักจะมีเรื่องทะเลาะต่อยตีกับเพื่อนอยู่เป็นประจำ หนักสุดก็ถึงขั้นที่ว่าใช้มีดพกแทงเพื่อนจนได้รับบาดเจ็บ ทว่าในทางกลับกัน มุสโสลินีเป็นเด็กที่ฉลาด เขาเป็นคนที่เรียนรู้ง่ายและเข้าใจเร็ว มันทำให้เขาเป็นคนที่มีผลการเรียนดี ในขณะที่พฤติกรรมแย่
เข้าสู่ช่วงวัยรุ่น มุสโสลินีพาตัวเองไปอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากตัวเขานั้นต้องการจะหนีการเกณฑ์ทหาร ในขณะที่ร่อนเร่ทำงานต่าง ๆ ไปเรื่อยเปื่อยในสวิส เขาได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งในการอ่านหนังสือเชิงปรัชญาและแนวคิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง ซึ่งมันได้ส่งผลให้เขา เริ่มสนใจในสังคมนิยมแบบพลังของมวลชน
ขณะที่อยู่สวิตเซอร์แลนด์ มุสโสลินีเป็นผู้นำในการให้คนงานหยุดงานเพื่อการประท้วงที่โลซาน สุดท้ายเขาก็ถูกจับได้ และถูกส่งกลับประเทศอิตาลีไป ซึ่งตอนนั้นเขาเองก็ยังมีหมายเรียกเกณฑ์ทหารอยู่ มุสโสลินีจึงหาทางหนีไปยังสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง อยู่ไปอยู่มาแบบที่เรียกว่าอยู่ไม่นิ่ง มุสโสลินีเขียนหนังสือโจมตีรัฐบาลสวิส สร้างความฮึกเหิมให้ประชาชนออกมาประท้วงอีก กลายเป็นว่าอยู่ไม่ได้อีก...โดนล่า (ก็เพราะอยู่นิ่ง ๆ ไม่เป็นนี่แหละ!!!) เขาจึงหนีจากเจนีวาเข้าโลซานอีกรอบ
กระทั่งทางอิตาลีนิรโทษกกรรมให้ แต่ต้องแลกกับเข้าไปเป็นทหารประจำการ ด้วยความที่มุสโสลินีโฮมซิกคิดถึงบ้าน เขาจึงตัดสินใจเข้าไปเป็นทหาร 2 ปี จากนั้นก็ออกมาเป็นครูสอนหนังสือ แต่ด้วยความหาทำของมุสโสลินีอีกเช่นเคย เขาผันตัวไปสู่วงการการเมือง เขียนบทความต่อต้านรัฐบาลอิตาลีที่ส่งคนไปตายในสนามรบ ทางรัฐบาลเองก็เอือมกับมุสโสลินีถึงขั้นสุด พยายามหาวิธีหุบปากมุสโสลินีให้ได้ แต่กลายเป็นว่ามุสโสลินียังห้าวหาญไม่เลิก!
และแล้วมุสโสลินีก็ถูกเกณฑ์ให้ไปร่วมรบกับเพื่อนร่วมชาติในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเหตุการณ์นี้ คือจุดที่เปลี่ยนชีวิตของมุสโสลินีไปตลอดกาล เพราะเขาต้องไปเผชิญชะตากรรมต่าง ๆ นา ๆ เห็นความสยดสยองของสงคราม ถึงแม้สุดท้ายเขาจะรอดกลับมาได้ แต่ก็กลับมาพร้อมกับแผลขนาดใหญ่ที่เกิดจากระเบิด ชนิดที่ว่าใครเห็นก็ว่าตาย...
หลังสงคราม มุสโสลินีเหมือนได้เกิดใหม่ และมีบางอย่างในตัวเขาที่เปลี่ยนไป นั่นก็คือแนวคิด!! จากคนที่คลั่งสังคมนิมแบบพลังมวลชน ได้แปรเปลี่ยนไปเป็น คนคลั่งชาติ!!
มุสโสลินีได้กลับมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอีกครั้ง เขายังพยายามใส่อุดมการณ์ของเขาไปในงานเขียน เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้แก่ประชาชนในการขับเคลื่อนอิตาลีให้เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ มุสโสลินีพูดลงในงานของตัวเองอย่างชัดเจน ว่าเขาต่อต้าน ‘คอมมิวนิสต์’ ผนวกกับการออกปราศัยที่น่าฟังของฮีโร่จากสงคราม นั่นจึงเป็นแรงกระเพื่อมชั้นดีที่ให้ผู้คนในประเทศ ไม่ว่าจะรวยจะจนชนชั้นไหน ต่างก็พากันเห็นด้วยและยกใจให้กับเขา
ในปี 1919 มุสโสลินีเริ่มทำการก่อตั้งพรรค Fasci Italinani di Combattimento หรือเรียกย่อ ๆ ว่า Fascist (ฟาสซิสต์) ท่ามกลางความเคารพรักของคนในประเทศ ซึ่งพรรคฟาสซิสต์คือลัทธิชาตินิยม ที่ต้องการให้ผู้คนในประเทศเต็มไปด้วยความสามัคคี รักใคร่กลมเกลียวจนเป็นเอกภาพ ก้าวสู่การเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่เหนือใคร ๆ
ส่วนหนึ่งมุสโสลินีได้รับแรงบันดาลใจมาจากจักวรรดิโรมันอันยิ่งใหญ่ของ ‘จูเลียส ซีซาร์’ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดของโลก แม้กระทั่งการทำความเคารพของเหล่าฟาสซิสต์ ที่เป็นท่ายืนตรงยกแขนขวาตรงเฉียงใบหูไปด้านหน้า พร้อมกับคว่ำมือและนิ้วเหยียดตรง ก็ได้รับอิทธิพลมาจากกองทัพโรมันที่แสดงความเคารพของซีซาร์
พรรคฟาสซิสต์ของมุสโสลินีเป็นที่สนอกสนใจของผู้คนเป็นอย่างมาก เกือบทั้งชาติต่างแห่แหนเข้ามาสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคด้วยความภาคภูมิใจ และเมื่อถึงจุดที่ฟาสซิสต์มีพลังอำนาจล้นหลาม มุสโสลินีก็ได้รวบรวมกองทัพฟาสซิสต์เข้าสู่ใจกลางกรุงโรมเพื่อกดดันให้รัฐบาลในกษัตริย์เอมานูเอเล่ที่ 3 ลาออก และพรรคฟาสซิสต์จะเข้ามาบริหารประเทศเอง
ซึ่งเมื่อทำได้สำเร็จ เหล่าประชาชนทั้งหลายก็พากันแต่งตั้งให้มุสโสลินีขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตัวมุสโสลินีเองมีความทะเยอทะยานมากกว่านั้น เขาแต่งตั้งตัวเองเป็น ‘อิล ดูเช่’ หรือที่เรียกว่า ‘ท่านผู้นำ’ คนที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครองประเทศแต่เพียงผู้เดียว
ครั้นเมื่อมุสโสลินีขึ้นแท่นเป็นผู้ปกครองประเทศ อิตาลี ณ เวลานั้นเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างก้าวกระโดดในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของคริสต์ศาสนา , เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในด้านต่าง ๆ ซึ่งในภายหลัง แนวคิดการปกครองแบบฟาสซิตส์ ได้กลายเป็นต้นแบบให้กับ ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ ในการจัดตั้ง ‘พรรคนาซี’ ในปี 1933
มุสโสลินีเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับทุก ๆ เรื่องในประเทศเป็นอย่างมาก ไม่เว้นแต่วงการกีฬาที่เขาตั้งใจจะวางระบบและรากฐานให้แข็งแรง เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานของความมีวินัยและความแข็งแกร่ง ที่สามารถนำมาปลูกฝังให้กับเด็ก ๆ ในประเทศ ซึ่งกีฬาที่มุสโสลินีให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือ ‘กีฬาฟุตบอล’
สำหรับมุสโสลินีแล้ว กีฬาฟุตบอลถือเป็นเครื่องมือชั้นดีในการสร้างพลังคลั่งชาติให้กับประชาชน เขาเชื่อว่าคนอิตาลีนั้นมีกีฬาฟุตบอลอยู่ในสายเลือด มุสโสลินีเป็นหนึ่งคนที่ทำการวางรากฐานให้กับการแข่งขันกัลโช่ ซีเรียอา ให้มีมาตราฐานระดับโลก และเป็นที่คลั่งไคล้ของแฟนบอล ส่วนหนึ่งก็มาจากแนวคิดที่ว่า ยิ่งประชาชนรักสิ่งที่เป็นท้องถิ่นนิยมากแค่ไหน มันย่อมส่งผลดีต่อระดับประเทศ
1
อย่างที่หลายท่านทราบ ว่าฟุตบอลโลกครั้งแรกนั้นจัดขึ้นที่ประเทศอุรุกวัย และถึงแม้การแข่งขันในครั้งนั้นจะมีปัญหารวมถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มากมาย แต่มุสโสลินีก็มองเห็นว่า ‘นี่คือการแข่งขันกีฬาระดับโลก’ และสิ่งที่เขาตั้งใจเป็นอย่างยิ่งคือ เขาต้องการให้อิตาลีเป็นประเทศแรกของทวีปยุโรป ที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกอีกด้วย! หนำซ้ำเจ้าตัวยังประกาศอย่างหนักแน่นว่า “อิตาลีจะเป็นแชมป์โลกบนพื้นแผ่นดินของตัวเอง!”
เพื่อให้ความฝันกลายเป็นความจริง สมาชิกจากพรรคฟาสซิสต์ที่เป็นตัวแทนของเอฟเออิตาลี ต้องเข้าประชุมกับทาง FIFA ทุกครั้ง ในประเด็นเรื่องหาเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในตอนนั้นมี ‘ประเทศสวีเดน’ ที่เป็นคู่แข่งตัวสำคัญอยู่
แน่นอนว่ามุสโสลินีไม่ยอม พรรคฟาสต์ซิสต์เริ่มวางนโยบายผลักดันวางแผนในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกอย่างยิ่งใหญ่ อิตาลีจะทำการโปรโมทการแข่งขันให้ได้ทั่วทั้งยุโรป จะเปิดประเทศและใช้สนามใหญ่จาก 8 เมืองทั่วประเทศ หนำซ้ำจะพัฒนาระบบวิทยุกระจายเสียงเพื่อถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกไปทั่วทวีป ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลประโยชน์ที่ทาง FIFA ปฏิเสธไม่ได้
และแล้วในวันที่ 9 ตุลาคม 1932 ทาง FIFA ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ‘อิตาลีคือเจ้าภาพฟุตบอลโลก 1934’ ส่วนทางอิตาลีมีเวลาเตรียมตัวแค่ 2 ปีในการเตรียมตัว ซึ่งทางพรรคฟาสซิสต์ก็ทุ่มงบไม่อั้น
ว่ากันว่าฟุตบอลโลกครั้งที่ 2 เป็นฟุตบอลโลกที่ตั้งใจโฆษณาให้กับ ‘ลัทธิฟาสต์ซิสต์’ โดยเฉพาะ ซึ่งถ้าให้พูดกันตรง ๆ ก็ถือว่าไม่ผิดอย่างที่เขาว่ากันเลยสักนิด เพราะก่อนที่ฟุตบอลโลกจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ พรรคฟาสซิสต์ของมุสโสลินีได้สั่งให้ศิลปินชื่อดังออกแบบโปสเตอร์ฟุตบอลโลกเพื่อเป็นการโปรโมท นอกเหนือจากนี่ยังสั่งให้จัดทำชุดแสตมป์ ไปรษณียากร และการ์ดที่ระลึกต่าง ๆ ซึ่งโดยรวมก็ออกมาค่อนข้างดี แต่มุสโสลินีไม่ชอบ แถมยังถามต่อว่า “อะไรที่บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของอิตาลี ?”
ศิลปินคนเดิมจึงออกแบบโปสเตอร์ชุดที่ 2 เพื่อเอาใจท่านผู้นำ คือภาพกราฟฟิกนักฟุตบอลในชุดทีมชาติอิตาลีกำลังง้างเท้ายิงประตู และมีแถบธงชาติประเทศต่าง ๆ เป็นพื้นหลังประกอบ? ซึ่งโปสเตอร์ตัวใหม่นี้ก็ถูกใจมุสโสลินีเป็นอย่างมาก
แต่ที่แอดวานซ์ไปกว่านั้นคือ ภาพรูปปั้นนักฟุตบอลอิตาลี ที่รับภาพมาจากมุมเสย เห็นท่าทางของนักฟุตบอลคนนั้นกำลังเงยหน้ามองท้องฟ้า มือขวาชูขึ้นและเหยียดตรงเฉียงไปเบื้องหน้า นี่คือท่าทำการเคารพแบบฟาสซิสต์!! ซึ่งภาพนี้ถูกทำให้เป็นการ์ดที่ระลึกที่แจกใส่ในซองบุหรี่...เรียกว่าโฆษณาสุดฤทธิ์
ตลอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 1934 ความเป็นฟาสซิสต์ปรากฏอยู่ในเกมฟุตบอลในเชิงสัญลักษณ์ เพราะนักเตะหลายชาติต้องทำท่าเคารพแบบฟาสซิสต์ก่อนที่เกมจะเริ่ม!
เกมการแข่งขันในปีนั้น เป็นครั้งแรกที่มีการแข่งขันรอบคัดเลือก ซึ่งมีทีมชาติที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 32 ทีม แต่คัดให้เหลือเพียงแค่ 16 ทีมที่จะเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายในอิตาลี ซึ่งทั้ง 16 ทีมก็ประกอบไปด้วย 1.อิตาลี (เจ้าภาพ) 2. ฮังการี 3.เนเธอแลนด์ 4.โรมาเนีย 5.สเปน 6.สวีเดน 7.สวิตเซอร์แลนด์ 8.สหรัฐอเมริกา 9.อาร์เจนตินา 10.ออสเตรีย 11.เบลเยียม 12.บราซิล 13.เชโกสโลวาเกีย 14.อียิปต์ 15.ฝรั่งเศส 16.เยอรมนี
ส่วนอุรุกวัยที่เป็นแชมป์เก่าไม่ได้มาร่วมเล่นฟุตบอลโลกในครั้งนี้ด้วย ว่ากันว่างอนที่ครั้งแรกอิตาลีไม่ยอมไปตอนตนเป็นเจ้าภาพ (ฮ่า)
ฟุตบอลทีมชาติอิตาลีทำผลงานได้ดีตามที่มุสโลลินีคาดหวัง พวกเขาเอาชนะคู่แข่งได้เรื่อย ๆ จนสามารถเข้าถึงรอบชิงไปเจอกับทีมชาติเชโกสลาวาเกีย และสามารถเอาชนะไปได้ 2 ประตูต่อ 1 ทัพอัซซูรี่คว้าแชมป์สมัยแรกของตัวเองมาครองได้สำเร็จ ประกาศความยิ่งใหญ่ของเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของฟาสซิสต์ให้ทั่วโลกได้รับรู้ ซึ่งอันที่จริงต้องยกเครดิตให้กับ ‘วิคโตรริโอ พอซโซ’ ที่เป็นโค้ชทีมชาติในตอนนั้น เพราะเขาคือตัวแปรที่สำคัญที่สุดกับทุกชัยชนะที่เกิดขึ้น
ความยิ่งใหญ่ของทีมชาติฟุตบอลอิตาลีถูกสานต่อมาถึงฟุตบอลโลกครั้งที่ 3 ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ ทัพอัซูรี่สวมสีเสื้อสีดำเพื่อแสดงออกถึงความเป็นฟาสซิสต์ มุสโสลินีส่งโทรสารถึงปลุกระดมความคลั่งชาติก่อนลงเตะ พวกเขาเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนั้โดยไม่เกรงกลัวข้อครหาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากแฟนบอลชาติอื่น และท้ายที่สุดพวกเขาก็เป็นแชมป์เปียนส์อีกครั้ง รับความสำเร็จไปฝากท่านผู้นำอีกหน
จะว่าไปแล้ว ‘ลัทธิฟาสซิสต์’ ของมุสโสลินีไม่ได้เลวร้ายอะไร เห็นได้ชัดจากสิ่งที่มุสโสลินีทำ เขาสามารถสร้างชาติอิตาลีให้ขึ้นไปอยู่ในจุดที่ดีที่สุดได้ช่วงเวลาหนึ่ง หลายสิ่งอย่างในประเทศถูกพัฒนาไปได้อย่างก้าวกระโดดด้วยเพราะแนวคิดของเขา เพียงแต่ว่าในท้ายที่สุด มุสโสลินีดันเลือกทางผิด...เขาดันไปคล้อยตามฮิตเลอร์ที่เป็นผู้นำนาซีเยอรมัน ที่มีอุดมการณ์คลั่งชาติไม่ต่างจากเขา
มุสโสลินีลืมไปแล้วว่าครั้งหนึ่งตัวเขานั้นเคยต่อต้านสงครามขนาดไหน แต่เมื่ออยู่ในบทบาทของ ‘ท่านผู้นำ’ มันทำให้เขาหลงลืมในสิ่งที่เขาเคยเป็น และในท้ายที่สุด...ตัวเขานั้นต้องพบกับจุดจบของชีวิตแบบโศกนาฎกรรม
SoccerSuck พร้อมนำเสนอรายการที่ได้รู้ความจริง ได้ยิ่งกว่าฟุตบอล!
ผ่านทุกช่องทางของ SoccerSuck TH แล้วที่
Instagram:
https://bit.ly/3xzln0z
YouTube:
https://bit.ly/3reBi3f
TikTok:
https://bit.ly/3Oq18JC
Blockdit:
https://bit.ly/3qU7B5G
Website:
www.soccersuck.com
สนใจติดต่อโฆษณา
Tel. 065-4695416 (คุณหวา)
E-mail:
sale@soccersuck.com
ข่าวรอบโลก
ข่าวฟุตบอล
ฟุตบอล
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย