26 พ.ย. 2022 เวลา 06:37 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ฤดูหนาวของประเทศไทย เป็นฤดูที่แปลกประหลาด เพราะแม้ว่าชื่อฤดูจะฟังดูเย็นยะเยือก แต่คนไทยกลับยังต้องเปิดแอร์นอนตีพุงอยู่บ้านกัน แล้วรู้หรือไม่ว่าเทคโนโลยีที่เราเรียกกันว่า แอร์ หรือที่มีชื่อเต็ม ๆ ว่าเครื่องปรับอากาศ มันเกิดขึ้นมาได้ยังไง แล้วยี่ห้อไหนเกิดขึ้นเป็นเจ้าแรกของโลก?
ย้อนกลับไปในฤดูร้อนอันอบอ้าวปี ค.ศ. 1902 ที่โรงพิมพ์แห่งหนึ่งในนิวยอร์ก เกิดปัญหาความชื้นในอากาศที่มีมากจนเกินไป ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อคุณภาพสีของเครื่องพิมพ์ภาพ และไม่เป็นผลดีต่อการผลิตสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ
แต่แล้วอุปสรรคก็สร้างฮีโร่ เพราะเหตุการณ์นี้ทำให้ วิศวกรหนุ่มชาวอเมริกันที่มีชื่อว่า วิลลิส ฮาวิแลนด์ แคเรียร์ (Willis Haviland Carrier) คิดไตร่ตรองหาวิธีการที่จะสามารถช่วยเหลือโรงพิมพ์ผู้น่าสงสารได้
จนกระทั่งวันหนึ่ง แคเรียร์ได้ไอเดียในการคิดค้นเครื่องที่สามารถดูดอากาศภายในโรงงานมารวมกัน และควบแน่นความชื้นในอากาศจนกลายเป็นไอน้ำ หลังจากนั้นก็ส่งอากาศที่ลดความชื้นแล้วเข้าไปในห้องแทน
ซึ่งเมื่อเขาผลิตเครื่องมือนั้นได้สำเร็จ มันกลับส่งผลให้อากาศที่หมุนเวียนอยู่ในโรงพิมพ์มีอุณหภูมิที่ลดต่ำลงด้วย นั่นจึงกลายเป็นต้นกำเนิดของเครื่องปรับอากาศตัวแรกของโลก
เมื่อแคเรียร์พบว่าเครื่องมือที่เขาคิดค้นนั้น ไม่ได้มีความสามารถเพียงแค่ลดความชื้นในอากาศ แต่มันสามารถปรับอุณหภูมิภายในห้องปิดได้อีกด้วย ซึ่งเป็นความดีงามที่ยังไม่มีใครเคยทำมา เขาจึงทุ่มเทกายใจ เปิดบริษัทรับผลิตเครื่องปรับอากาศ ที่เรารู้จักกันในชื่อยี่ห้อว่า “แคเรียร์” (Carrier)
แคเรียร์ได้จดสิทธิบัตร เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ในชื่อว่า “Apparatus for Treating Air” หรือที่แปลตรงตัวว่า “เครื่องมือสำหรับบำบัดอากาศ” และได้รับอนุมัติในวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1906 ก่อนที่เขาจะใช้มันผลิตเครื่องปรับอากาศให้ผู้คนจำนวนมากได้ใช้กัน
เครื่องปรับอากาศแคเรียร์ในขณะนั้น ถูกสร้างมาให้ทำหน้าที่หลัก ๆ ได้ 4 อย่างด้วยกัน ได้แก่ ความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิ ความสามารถในการควบคุมความชื้น ความสามารถในการควบคุมการไหลเวียนของอากาศ และยังต้องสามารถทำให้อากาศสะอาดด้วย แล้วทั้งหมดที่ทำมาก็ส่งผลให้ผู้คนเรียกเขาว่าเป็น “บิดาแห่งเครื่องปรับอากาศโลก”
และวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ ก็เป็นวันคล้ายวันเกิดของ วิลลิส ฮาวิแลนด์ แคเรียร์ หากเขายังมีชีวิตอยู่ ทุกวันนี้เขาคงมีอายุครบ 146 ปีแล้ว ยังไงก็ขอสุขสันต์วันเกิดด้วยนะครับ
อ่านบทความฉบับเต็มพร้อมภาพประกอบได้ที่:
โฆษณา