15 ธ.ค. 2022 เวลา 11:00 • ครอบครัว & เด็ก
บ้านตอไม้กับสหายนักซ่อม
เมื่อพูดถึงการศึกษาสมัยใหม่ ที่เราได้ยินเสมอคือคำว่า active learning หรือ learning by action แปลว่าเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ
นิทานประกอบภาพสำหรับเด็กเรื่องนี้เล่าเรื่องการศึกษาสมัยใหม่ครบทุกองค์ประกอบ ด้วยเรื่องเล่าอบอุ่นใจและภาพประกอบที่มีลายเส้นกับการลงสีที่อบอุ่นยิ่งกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทราบว่าสถานที่แห่งนี้มีอยู่จริง
 
การศึกษาสมัยใหม่ไม่ควรเป็นการสอนหนังสือตามหลักสูตรตายตัวอย่างเดิม แต่ควรเป็นการพาทำ คือพาเด็กๆไปทำงาน แล้วการเรียนรู้จะเกิดขึ้นจากการทำงาน ทำได้อย่างไรให้อ่านจากหนังสือเล่มนี้ได้เลย
 
เริ่มจากองค์ประกอบแรกคือ ทำงานเป็นทีม
หากเราเคยได้ยินวลีที่ว่า เราไม่สามารถสอนปลาให้ปีนต้นไม้ หรือ เคยเห็นภาพล้อที่ครูคนหนึ่งออกข้อสอบให้สัตว์ทุกตัวปีนต้นไม้ นิทานและภาพประกอบเรื่องนี้จะช่วยฉายความหมายที่ซ่อนอยู่ให้เห็นอย่างชัดเจน
มีสัตว์หลากหลายชนิดเข้ามาช่วยกันทำงานเป็นทีมด้วยความถนัดของแต่ละตัว ลองดูเถิดว่าตัวไหนได้งานอะไร คงไม่มีใครจะใช้ผึ้งไปขุดดินกระมัง
 
การทำงานเป็นทีมนำไปสู่การเรียนรู้เป็นทีม
ความข้อนี้สำคัญและเข้าใจยาก เรามักติดภาพเด็กเรียนหนังสือเป็นรายบุคคลและพัฒนาเป็นรายบุคคล แต่หนังสือนี้จะช่วยให้เราเห็นว่าสัตว์ทุกตัวเป็นส่วนหนึ่งของทีม
ปัญหามีว่าสัตว์ทุกตัวมีความชอบคนละเรื่อง ถนัดคนละอย่าง และอาจจะว่อกแว่กไปคนละทางได้เสมอๆ ความว่อกแว่กเป็นปัญหาของเด็กๆ ในฐานะบุคคลคนเดียว แต่ความว่อกแว่กของสมาชิกทีมเป็นเรื่องของทีมและเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้
ลองนับดูว่ากว่าจะซ่อมบ้านตอไม้แล้วเสร็จทีมออกนอกทางไปกี่ครั้ง
 
“เด็กทุกคนควรได้ทำอะไรบางอย่างสำเร็จในทุกๆวัน”
เป็นคำพูดที่ผมใช้เสมอในการอธิบายความหมายของเซลฟ์เอสตีม (self- esteem) สัตว์ประเภทต่างๆได้ทำงานที่ชอบและถนัดในทุกๆวัน พวกเขาจึงมีเซลฟ์เอสตีมในความหมายที่ว่า “รู้ว่าตนเองทำอะไรได้บ้าง” ก็จะทำงานนั้นได้จนเชี่ยวชาญ กว่าจะไปถึงวันที่จะเชี่ยวชาญได้เด็กๆ ต้องเรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างมากมายเกินกว่าที่การสอนตามหลักสูตรปกติจะให้ได้
ขอให้สังเกตว่าทีมไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง มีใครบางคนที่ช่วยดูแล เปิดโอกาส สร้างโอกาส และให้การสนับสนุน จนกว่าทีมจะทำงานสำเร็จ บรรลุภารกิจ นั่นคือไปถึงเป้าหมาย การเรียนรู้สมัยใหม่จึงเป็นการพัฒนา EF ของเด็กๆทุกคนไปพร้อมกัน ตามความถนัดและระดับความสามารถของเด็กแต่ละคน สอดคล้องกับแนวคิดการสร้างนั่งร้าน (scaffolding) แห่งการเรียนรู้
หากเชื่อว่าอะไรที่สนุกคือการเล่น การทำงานที่สนุกคือการเล่นด้วย และหากเชื่อว่าการเล่นคือการเรียนรู้ นิทานประกอบภาพเล่มนี้น่าจะช่วยให้เราทุกคนเห็นด้วยตาว่า การเล่น การทำงาน และการเรียนรู้ เป็นเรื่องที่เกิดพร้อมกันได้
ท้ายที่สุดนี้ชวนดูไวยากรณ์ของหนังสือ หากหน้ากระดาษคือโลก (the world หรือ the whole) ศิลปินผู้สร้างงานได้ค่อยๆ วางสัตว์แต่ละชนิดลงไปบนโลก สัตว์แต่ละชนิดมีปฏิสัมพันธ์กับตอไม้ในลักษณาการต่างๆกัน ด้วยกลไกนี้โลกจึงเคลื่อนไหวและพัฒนา ที่เคลื่อนไหวและพัฒนาตามไปด้วยคือเด็กของเราที่กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้
Cr.นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
โฆษณา