27 พ.ย. 2022 เวลา 04:02 • ความคิดเห็น
บทความสำหรับคนที่คิดว่าชีวิตมนุษย์ไม่มีคุณค่าอันใด
อากาศของโลกในปัจจุบันมีไนโตรเจน 78% ออกซิเจน 21% คาร์บอนไดออกไซด์ 0.04% ที่เหลือเป็นแก๊สชนิดอื่น
ย้อนไปเมื่อ 2.5 พันล้านปีที่แล้ว โลกเรามีไนโตรเจน 80% คาร์บอนไดออกไซด์ 19% และออกซิเจนเพียง 0.05%
ด้วยออกซิเจนเพียงน้อยนิด โลกยุคนั้นจึงแทบไม่มีสิ่งมีชีวิตอันใดอาศัยอยู่ได้ยกเว้นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว (single-celled organisms)
โชคดีที่ในบรรดาสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวนั้น มีไซยาโนแบคทีเรีย (cyanobacteria) ถือกำเนิดขึ้นมาด้วย
ความสามารถพิเศษของไซยาโนแบคทีเรียคือการสังเคราะห์แสง (photosynthesis) ที่รับแสงจากดวงอาทิตย์ แล้วเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นออกซิเจน
เมื่อประมาณ 2.5 พันล้านปีที่แล้ว ไซยาโนแบคทีเรียเริ่มขยายเผ่าพันธุ์ไปทั่วโลก และค่อยๆ เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นออกซิเจนที่เราได้ใช้หายใจกันอยู่ทุกวันนี้ (สัดส่วนของออกซิเจนเพิ่มจาก 0.05% เป็น 21% ส่วนคาร์บอนไดออกไซด์ลดจาก 19% เป็น 0.04%)
กระบวนการนี้กินเวลาเป็นพันล้านปี เพราะแบคทีเรียต้องสร้างออกซิเจนมากพอจนน้ำในมหาสมุทรอิ่มตัวไปด้วยออกซิเจนเสียก่อน (saturate the seas) จากนั้นก็ต้องมากพอที่จะทำให้พื้นผิวโลกเต็มไปด้วยออกซิเจน (saturate the earth) แล้วสุดท้ายถึงจะมีออกซิเจนลอยมาอยู่ในอากาศได้ ซึ่งก็คือเมื่อ 900 ล้านปีที่แล้ว
1
แล้วสิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นเมื่อ 600 ล้านปีที่แล้ว นั่นคือการก่อตัวของชั้นโอโซนที่เกิดจากออกซิเจนของไซยาโนแบคทีเรียเหล่านี้
นี่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะก่อนจะมีชั้นโอโซน ดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลกนั้นไม่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์แม้แต่นิดเดียว
แต่เมื่อโลกมีโอโซน ก็เกิด Cambrian explosion ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางชีวภาพที่สิ่งมีชีวิตหลายชนิดอุบัติขึ้นในท้องทะเลพร้อมๆ กัน และไม่นานพืชชนิดแรกก็ขึ้นไปเติบโตบนพื้นผิวโลกได้
1
ดังนั้นสิ่งมีชีวิตแทบทุบผู้ทุกนามบนโลกใบนี้ – รวมถึงตัวเราด้วย – ล้วนเป็นหนี้บุญคุณของไซยาโนแบคทีเรีย
แบคทีเรียเหล่านี้ไม่ได้จากเราไปไหน ลูกหลานของมันคือคลอโรพลาสต์ (chloroplasts) ซึ่งอยู่ในพืชพันธุ์นานาชนิดและยังทำหน้าที่สังเคราะห์แสงกันต่อไป
ต้นไม้จึงเป็นเหมือน “เงาสะท้อนลมหายใจ” ของมนุษย์และสัตว์ทั้งปวง เราหายใจเอาออกซิเจนเข้ามา และหายใจออกเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนต้นไม้ก็หายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป และหายใจออกเป็นออกซิเจน
ลองคิดภาพว่าเราเกิดเป็นไซยาโนแบคทีเรียเมื่อ 2.5 พันล้านปีที่แล้ว
เราลืมตาขึ้นมา มีชีวิตอยู่แค่สองสัปดาห์ แล้วก็ตายจากไป
แล้วเราก็คงรู้สึกว่า ชีวิตเราช่างไร้ความหมายยิ่งนัก โลกตอนที่เราเกิด กับโลกตอนที่เราตายก็หน้าตาเหมือนเดิมไม่มีผิดเพี้ยน
ไซยาโนแบคทีเรียอย่างเราไม่มีทางจินตนาการได้เลยว่าทุกลมหายใจเข้าออกของเรานั้นเป็นส่วนก่อเกิดของสิ่งมีชีวิตอเนกอนันต์ในกาลต่อมา
ความหมายของชีวิตมนุษย์คืออะไร จึงอาจอยู่ไกลเกินกว่าที่เราจะเข้าถึงและเข้าใจได้ เหมือนกับที่ไซยาโนแบคทีเรียไม่มีทางเข้าใจว่าชีวิตของมันมีความหมายอย่างไร
1
เมื่อมองไปยังจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล เราย่อมรู้สึกว่าตัวเราช่างน้อยนิด เป็นเพียงหนึ่งในประชากร 7 พันล้านคน จะไปสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้
แต่การใช้ชีวิตของเราจะส่งผลต่อคนในครอบครัวและเพื่อนฝูง ซึ่งจะส่งผลต่อสังคม ต่อประเทศชาติ ต่อระบบนิเวศน์และโลกใบนี้
ถ้าแบคทีเรียเซลล์เดียวยังสามารถพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินให้กับโลกทั้งใบได้
มนุษย์ตัวน้อยๆ อย่างเราก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกันครับ
ขอบคุณเนื้อหาส่วนใหญ่จาก TedX Taipei | Tom Chi | Everything is Connected — Here’s How
โฆษณา