27 พ.ย. 2022 เวลา 07:39 • ไลฟ์สไตล์
¤ ปริเฉทที่ ๔ ตอนที่ ๓
ลักขณปริคคาหกปริวรรต
ลักษณะของพระมหาบุรุษ
**********
~ พระมหาบุรุษได้รับความอภิบาล ~
ฝ่ายพระญาติทั้งหลาย คือ ศักยะและโกลิยะ
ทั้ง ๒ ฝ่าย และชนทั้งหลายเหล่าอื่นเป็นอันมาก
อาศัยได้ฟังพยากรณ์แห่งพราหมณ์ทั้งหลายนั้น
และได้เห็นปาฏิหาริย์อัศจรรย์
ซึ่งเป็นไปแด่พระมหาบุรุษนั้น ณ กาลก่อนด้วย
ก็ชื่นชมบันเทิงจิต มีความเคารพนับถือ
ในพระมหาบุรุษมาก
แล้วบริหารปฏิบัติพระมหาบุรุษเจ้านั้น
ด้วยสุขสมบัติ ตามกำลังให้ไพบูล
พิเศษกว่า พระญาติสามัญอื่น ๆ
เพราะเหตุนั้น พระมหาบุรุษเจ้า
จึงเป็นสุขุมาลบุคคลอุดมในความสุขอย่างยิ่ง
อันพี่เลี้ยงนางนมทั้งหลายเปลี่ยนเอว
เปลี่ยนหัตถ์กันอุ้มทรง บริหารบำรุง
บำเรอพระองค์ด้วยกุมารบริวารทั้งปวง
ล้วนพิเศษไพศาลประณีตอุดมนัก
ถึงซึ่งความเจริญด้วยความสุข
บริโภคจันทน์เมืองกาสี ภูษาทรงและภูษาโพก
ล้วนประณีตของเกิดในเมืองกาสีสิ้น
เป็นผ้าละเอียดสัมผัสอ่อนพิเศษดีกว่าผ้าอื่น ๆ
ในครั้งนั้น ชนผู้อภิบาลด้วยเศวตฉัตรกั้น ณ เบื้องบน
พระมหาบุรุษนั้น เป็นนิตย์ ทั้งกลางวันและกลางคืน
ด้วยมิให้หนาวและร้อน และแดด และน้ำค้าง
มาเบียดเบียนพระมหาบุรุษนั้นได้
**********
~ ทรงบรรลุปฐมฌาน ~
...ต่อมาวันหนึ่ง
พระราชาได้มี
"พระราชพิธีวัปปมงคล (แรกนาขวัญ) "
วันนั้น พวกชาวนครต่างประดับประดา
พระนครทุกหนทุกแห่งดุจดังเทพวิมาน
เหล่าพวกทาสและกรรมกรทั้งหมด ต่างนุ่งห่มผ้าใหม่
ประดับประดาด้วยของหอมและดอกไม้
ประชุมกันในราชตระกูล.
ในพระราชพิธีมีการเทียมไถถึงพันคัน
ก็ในวันนั้น ไถ ๑๐๘ อันหย่อนหนึ่งคัน (๑๐๗ คัน)
หุ้มด้วยเงินพร้อมด้วยโคผู้ ตะพาย และเชือก.
ส่วนที่งอนพระนังคัล (ไถ)
ของพระราชาหุ้มด้วยทองคำสุกปลั่ง.
เขาของโคผู้ ตะพาย เชือก และปฏัก
ก็หุ้มด้วยทองคำทั้งนั้น.
พระราชาทรงพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก
เสด็จออกจากพระนคร ทรงพาพระราชโอรสไปด้วย.
ในที่ประกอบพระราชพิธี มีต้นหว้าอยู่ต้นหนึ่ง
มีใบหนาแน่น มีเงาทึบ.ภายใต้ต้นหว้านั้นนั่นแหละ
พระราชาทรงรับสั่งให้
ปูลาดพระแท่นบรรทมของพระราชโอรส
เบื้องบนให้ผูกเพดานปักด้วยดาวทองคำ
ให้แวดวงด้วยปราการพระวิสูตร (ผ้าม่าน) วางอารักขา
ส่วนพระองค์
ก็ทรงประดับประดาด้วยเครื่องสรรพอลงกรณ์
มีหมู่อำมาตย์แวดล้อม
ได้เสด็จ ไปยังที่จรดพระนังคัล (ไถ)
ในที่นั้น พระราชาทรงถือพระนังคัลทองคำ
พวกอำมาตย์ถือคันไถเงิน ๑๐๗ คัน
พวกชาวนาต่างพากัน ถือคันไถที่เหลือ
เขาเหล่านั้นต่างถือคันไถไถไปข้างโน้นบ้างข้างนี้บ้าง.
แต่พระราชาทรงไถไปจากด้านในสู่ด้านนอก
จากด้านนอกสู่ด้านใน.
ในที่นั้นมีมหาสมบัติ
พี่เลี้ยง นางนมและชนบริวาร
ที่นั่งห้อมล้อมพระโพธิสัตว์อยู่
เห็นว่าร่มไม้หว้าเป็นสถานไม่มีภัยอันตราย
ต่างพากันออกมาข้างนอก จากภายในพระวิสูตร (ผ้าม่าน)
เพลินดู มหรสพตามปรารถนา
ด้วยคิดว่า "พวกเราจะดูสมบัติของพระราชา"
**********
ครั้งนั้นเป็นอัศจรรย์
พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรแล้วไม่ทรงเห็นใคร
มีความสงัดกาย สงัดพระหฤทัย เกิดความสงบ
ทรงนั่งขัดสมาธิกำหนดลมหายใจเข้าออก
(เจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน)
ทำ "ปฐมฌาน" ให้เกิดขึ้นแล้ว
เสวยสุข อันเกิดจากความสงบนั้น
**********
แม้เพลาตะวันบ่าย เงาไม้หว้าก็คงเหมือนเมื่อเวลาเที่ยง
ไม่คล้อยเคลื่อน เลื่อนชายไปตามกาล ดำรงเป็นอจลสถาน
เงาของต้นไม้นั้น ตั้งเป็นปริมณฑลตรงอยู่
ให้ประชุมชนได้เห็น เป็นมหัศจรรย์...
เมื่อพวกนางนม และบริวารทั้งหลาย
ได้เห็นความอัศจรรย์ดังนี้
จึงเข้าไปกราบทูลแด่พระราชาว่า
ข้าแต่สมมติเทพ พระราชกุมารประทับนั่งอย่างนี้
เงาของต้นไม้เหล่าอื่นชายไป
แต่เงาของต้นหว้า ตั้งเป็นปริมณฑลตรงอยู่อย่างนี้.
พระราชารีบเสด็จมา
ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์จึงตรัสว่า
"นี่แน่ะพ่อ นี้เป็นการไหว้เจ้าครั้งที่สอง"
แล้วทรงไหว้พระโพธิสัตว์
**********
~ เมื่อพระมหาบุรุษมีพระชนมพรรษา ๗ ปี ~
ในนิเวศน์แห่งท้าวสุทโธทนสักกะผู้พระบิดานั้น
ท้าวเธอให้ขุดสระโบกขรณีทั้งหลาย
ปลูกอุบลบัวสาย (บัวเขียว) ไว้สระหนึ่ง
ปลูกประทุมชาติบัวหลวงไว้สระหนึ่ง
ปลูกปุณฑริกสัตตบงกช (บัวขาว) ไว้สระหนึ่ง
เพื่อประโยชน์ เป็นที่เล่นสำราญ แห่งพระมหาบุรุษนั้น.
**********
~ ศึกษาศิลปวิทยา ~
เมื่อพระสิทธัตถะกุมาร มีพระชนมพรรษา ๗ ปี
ควรจะศึกษาศิลปวิทยาได้แล้ว
พระราชบิดาจึงทรงพาไปมอบไว้ใน
"สำนักครูวิศวามิตร"
พระกุมารทรงเรียนได้ว่องไว
จนสิ้นความรู้ของอาจารย์สิ้นเชิง
และได้แสดงความรู้ให้ปรากฎในหมู่พระญาติ
ยิ่งกว่าพระกุมารองค์อื่น
**********

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา