27 พ.ย. 2022 เวลา 07:59 • การเกษตร
ปุ๋ยหมักไม่กลับกอง ทำได้ง่าย ๆ สไตล์คนเมือง
บางคนเห็นคำว่า ปุ๋ยหมัก ภาพในหัวมาก่อนแล้วคือต้อง ต้องทำในพื้นที่กว้างๆ พื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งเมื่อก่อนผมก็คิดแบบนั้น หลังจากที่ผมได้ติดตามเฟสบุคกล่มที่ชื่อว่า ห้องเรียนปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง แม่โจ้
ซึ่งได้เห็นหลายๆคน ที่ผมเรียกศิษย์พี่ ได้มีการทำปุ๋ยหมักตามสูตรของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
จนผมสั่งซื้อหนังสือ ของ อาาจารย์ลุง (อจล.) มา
และตามคติของผม ลงมือทำ เท่านั้นคือคำตอบ
ผมจึงได้เริ่มลงมือทำด้วยตัวเอง ซึ่ง บริบทของผมอาจจะแตกต่างจากคนอื่น นั่นคือ ทำในหมู่บ้านจัดสรร ที่อยู่ในชุมชนเมือง จนปัจจุบันผ่านมา 3 เดือนแล้ว ซึ่งกระบวนการทำปุ๋ยหมักประมาณ 2 เดือนกว่าๆ และนำไปใช้กับผัก และ ต้นไม้ที่ปลูกที่สวนต่างจังหวัด มันได้ผลดีมาก จึงอยากจะมาแชร์
วิธีการ ปุ๋ยหมักไม่กลับกอง ทำได้ง่าย ๆ สไตล์คนเมือง หมู่บ้านจัดสรรก็ทำได้
ไร้กลิ่น ไร้แมลง จนข้างบ้านไม่รู้ว่าเราทำปุ๋ย
ผมมีพื้นที่ว่างเกือบ 2 ตารางเมตร (เกือบนะครับแต่ไม่ถึง)
วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น (ที่ผมใช้ทำ)
1. สแลน เพื่อใช้ล้อมกองปุ๋ยให้อยู่ทรง เพราะเป็นการย่อส่วนจากการทำกองปุ๋ยขนาดใหญ่ แต่ถ้าให้ดี ควรเป็นตาข่ายหรืออะไรก็ได้ที่มีช่องระบายอากาศ เพราะการทำปุ๋ยหมักแบบนี้เราอาศัยหลักการ อากาศภายนอกไหลเวียนเข้าข้างใน
ซึ่งถ้าถ้าอากาศไหลเวียนไม่ดี ก็จะทำให้เป็นไปได้ช้า ที่ผมเลือกใช้สแลน เพราะผมไม่รีบ และเป็นการทดลองทำครั้งแรก ยังไม่มั่นใจเรื่องกลิ่นเท่าไหร่
ซึ่งจริงๆแล้ว การย่อยสลายทางชีวภาพแบบใช้ออกซิเจน หรือ ที่เรียกว่า Aerobic Decomposition นี่มันเป็นการย่อยสลายที่ ไม่มีกลิ่นจริงๆ
2. เศษพืช ซึ่งก็ใช้ได้หลายชนิด แต่ละชนิดก็จะมีอัตราส่วนแตกต่างกันไป
ซึ่งก็สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ตามสูตรมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ของ อจล. เลย
สำหรับผมใช้เศษหญ้า ที่มาจากสนามฟุตบอล
(พอดีเห็น เขาตัดหญ้าที่สนามฟุตบอลพอดี เลยขอมาลองทำดู)
3. มูลสัตว์ ตามสูตรใช้มูลสัตว์อะไรก็ได้ แต่ถ้าเป็นขี้วัวแห้งจะเหมาะสมที่สุด เพราะไม่มีกลิ่น ส่วนขี้ไก่ ขี้หมู นั้นมักจะมีแมลงวันตอม และมีกลิ่นหน่อย ที่เป็นกลิ่นของตัวมันเอง ซึ่งผมเลือกใช้ ขี้วัวแห้ง
4. น้ำ เราต้องใช้น้ำในการควบคุมความชื้น
สรุปวัสดุอุปกรณ์ที่ผมใช้ทั้งหมดคือ
1. สแลน พร้อมกับท่อ PVC เก่าๆ สำหรับทำโครง
2. หญ้า
3. มูลสัตว์ (ขี้วัวแห้ง)
4. ก๊อกน้ำที่อยู่ใกล้ๆ
สำหรับวิธีการทำนั้นง่ายมากเลยครับ
1. ติดตั้งโครงสแลน ไว้ใกล้ๆ ก๊อกน้ำ
2. ตวงเศษหญ้า 4 ส่วน เพื่อใช้กับมูลสัตว์ 1 ส่วน ตามสูตร โดยใช้วิธีการตวง เช่น เศษหญ้า 4 กะละมัง / ขี้วัวแห้ง 1 กะละมัง
3. วางเศษหญ้าบางๆ 4 ส่วนที่เราเตรียมไว้ในโครง เน้นย้ำว่าบางๆ ห้ามเหยียบ
ใช้ไม้เขี่ยๆ ให้ได้ระดับที่เสมอกัน
4. โรยขี้วัวแห้งทับด้านบน 1 ส่วน โดยเกลี่ยให้เท่าๆกัน
5. รดน้ำให้ชุ่ม เพียงเท่านั้นก็เสร็จแล้ว 1 ชั้น
ทำต่อไปเรื่องๆ จนหญ้าหมด หรือเต็มโครงที่เราเตรียมไว้
สำหรับการดูแลปุ๋ยหมัก ก็ง่ายอีกเช่นกัน
1. ทุกๆวันพยายามรดน้ำผิวนอก วันละครั้ง โดยไม่ให้ชุ่มเกินไป คือ ใม่มีน้ำนองออกนอกกองปุ๋ยได้
2. ทุกๆสัปดาห์ หรือ 7-10 วัน ทำการเจาะรู แต่ละรูห่างกันประมาณ 10-20 ซม. เพื่อกรอกน้ำเข้าไปให้ลึกที่สุด กรอกน้ำไม่ให้น้ำนองออกมามากเกินไป
จากนั้น ปิดรูเพื่อไม่ให้สูญเสียความร้อนในรู
(ระหว่างที่เจาะรูจะสังเกตุได้ว่า มีไอร้อนออกมามาก นั่นเป็นเพราะมีการย่อยสลายของ จุลินทรีย์อยู่ )
3. ดูแลกองปุ๋ยแบบนี้ไปเรื่อยๆ ช่วงแรกๆที่ ช่วงแรกๆที่กองปุ๋ยยุบลงสมารถเติมหญ้าและมูลสัตว์เป็นชั้นๆบางๆเพิ่มเติมได้ (ถ้าหญ้ายังเหลือ)
4. เมื่ออายุปุ๋ยได้ประมาณ 2 หรือมากกว่านั้นหากเราไม่ค่อยได้ดูแลตามขั้นตอน
อุณหภูมิกองปุ๋ยจะลดลงเรื่อยๆ จนปกติ ก็ถือว่าเสร็จครับกระบวนการ
การนำไปใช้
1. เมื่อกระบวนการหมักเสร็จสมบูรณ์แล้ว การนำออกมาผึ่งให้แห้ง แต่ไม่ต้องแห้งสนิท แล้วบรรจุใส่กระสอบไว้ เตรียมนำไปใช้กับต้นไม้ พืชผัก ที่เรารักกัน
ข้อควรระวัง การทำปุ๋ยหมักไม่กลับกอง
1. ระวังอย่าให้กองปุ๋ยแห้ง เพราะถ้าแห้งจุลินทรย์ก็จะไม่ทำงานไม่ย่อยสลายต่อครับ
2. ระวังลืม การทำปุ๋ยหมักไม่กลับกอง ยังไง 7-10 วันก็ต้องเจาะรู กรอกน้ำนะครับ
เพียงเท่านี้ เราก็ได้ปุ๋ยหมักชั้นเลิศ ที่มีธาตุอาหารสำหรับต้นไม้ที่เรารัก
สำหรับใครที่จะทำเป็นธุรกิจก็ควรมีการทดสอบ เพื่อยืนยันผลของปุ๋ยด้วยนะครับ
ส่วนใครที่ทำใช้เองก็ลงมือทำได้ง่ายๆ เลยครับ
ขอบคุณความรู้ดีๆ จากท่านอาจารย์ ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร
และใครที่สนอยากรู้อัตราส่วนที่เหมาะสมสำหรับการนำไปใส่ต้นไม้ พืชผัก ที่เรารัก ก็มีศิษย์พี่หลายๆคน แชร์ข้อมูลไว้มากมายเลยนะครับ
หรือกดติดตาม กดถูกใจ ผมไว้ หากผลการทดลองผมสำเร็จ จำนำข้อมูลดีๆ มาแบ่งปันอีกครับ
โฆษณา