28 พ.ย. 2022 เวลา 11:22 • ธุรกิจ
8 วิธีฮีลตัวเองเมื่อต้องเจอกับความเครียด
8 วิธีฮีลตัวเองเมื่อต้องเจอกับความเครียด
เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในสถานการณ์ที่หางานไม่ได้มาหลายเดือน ดังนั้นใครที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ JobThai จะพามาดูวิธีฮีลตัวเองให้กลับมาเป็นคนเดิมที่มีกำลังใจและพร้อมสู้อีกครั้ง
1
1. หาสิ่งที่กลัวที่สุดของตัวเองให้เจอ และลิสต์วิธีแก้ไขออกมา
อย่างแรกหยิบสมุดหรือกระดาษขึ้นมา เขียนคำถามข้อแรกว่า เรากลัวอะไร? คำถามที่สอง สิ่งที่แย่ที่สุดของความกลัวคืออะไร? และคำถามที่สามคือ มีวิธีการรับมือยังไง? จากนั้นกลับมาวิเคราะห์ทั้งสามข้อใหม่ เราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่แย่ที่สุดของความกลัวที่เราเขียน สุดท้ายแล้วเราก็ยังมีวิธีรับมือได้ ดังนั้นจะคิดมากหรือเครียดกับมันไปก่อนทำไม แต่สิ่งสำคัญของวิธีนี้คือการเขียนออกมาเท่านั้น
2. อย่าเพิ่งกลัวอนาคตแต่ให้อยู่กับปัจจุบัน
ชีวิตคนเราก็เหมือนการใส่แว่น VR แม้ตัวจะอยู่ในสถานที่ที่สงบ แต่ภาพหน้าจอสั่งให้เราตื่นเต้น กลัว หรือตกใจกับสิ่งที่เห็นได้ ซึ่งก็เหมือนกับที่เราชอบกลัวอนาคตที่มันยังไม่ได้เกิด เช่น เราทำงานอยู่ในที่ปัจจุบันแต่กลัวจะถูกให้ออกจากงานเพราะโควิด-19 เราเครียด คิดมาก กินไม่ได้นอนไม่หลับ ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันเราก็ยังไม่ได้ถูกไล่ออกเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นจงคิดว่าความจริงคือวันนี้ ไม่ใช่วันพรุ่งนี้ หรืออีกสองเดือนข้างหน้า อยู่กับปัจจุบันก่อนดีที่สุด
3. “ห้ามความคิด” ไม่ได้ แต่ “หยุดความคิด” ได้
มีวิธีนึงที่สามารถหยุดความคิดได้ นั่นก็คือเมื่อไหร่ก็ตามที่เรากำลังกังวลเรื่องอนาคต ให้เบรกตัวเองด้วยการพูดเสียงดังให้ตัวเองตกใจ ถ้าเรากำลังจมดิ่งกับความคิดเรื่องหางานไม่ได้จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ ให้เราเบรกด้วยคำพูด เช่น เอ่ยๆ! เดี๋ยวๆ! หยุด! หรือถามตัวเองว่า คิดแล้วได้อะไร? การทำแบบนี้อาจจะฟังดูไม่น่าช่วยได้ แต่ถ้าได้ลองทำแล้ว มันจะทำให้เรามีสติ ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เราอยู่กับปัจจุบันไหม เป็นวิธีที่ดึงตัวเองให้กลับมาได้
4. ย้ายโฟกัสไปหาสิ่งที่ได้ประโยชน์ และปรับปรุงจุดอ่อน
การย้ายโฟกัสไปเรื่องอื่นแทนที่จะหมกมุ่นอยู่แต่กับความเครียดช่วยได้มากกว่าที่คิด เช่น ถ้าเรากังวลว่าการหางานประจำไม่ได้สักทีทำให้เงินเก็บที่เรามีอยู่เริ่มลดลง และอาจไม่พอใช้ เราก็อาจลองหางานเสริมอื่น ๆ ทำในขณะที่หางานประจำไปด้วย การเครียดไม่ได้ช่วยให้เราได้อะไรดีขึ้นหรือช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะฉะนั้นย้ายไปทำสิ่งที่มีประโยชน์กับตัวเราดีกว่า รวมถึงอยากให้กลับมามองตัวเองให้ดีว่าเราพลาดตรงไหนแล้วปรับปรุงให้ดีขึ้น
5. เสพสิ่งบวก ๆ และเข้าหาคนที่มีพลังบวก
มีหลายคนที่ความคิดส่วนมากเป็นไปในทางลบซะมากกว่าบวก ซึ่งที่เป็นแบบนั้นอาจเป็นเพราะสื่อต่าง ๆ ที่เสพ เช่น ข่าว หนัง ละคร หรือ Social Media ความคิดลบ ๆ ก็เลยไหลเข้ามาไม่หยุด ดังนั้นลองแก้ด้วยการหาเสพสิ่งบวก ๆ ให้ชีวิตบ้าง รวมถึงเราอาจจะลองไปคุยกับคนที่กล้าลงมือทำ ไม่กลัวหรือย้อมแพ้อะไรง่าย ๆ ยิ่งถ้าไปคุยกับคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว และเคยผ่านจุดที่แย่มาก่อน พวกเขาจะให้คำแนะนำได้ดี
6. อย่าเหมารวมว่าความเชื่อของเราทุกอย่างคือความจริง
หลายคนชอบเข้าใจว่าความเชื่อของตัวเองคือความจริง ด้วยข้ออ้างว่าเห็นคนอื่นก็เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งที่ความจริงแล้วคนที่เราอ้างถึงอาจจะเป็นส่วนน้อยของประชากรบนโลกนี้ด้วยซ้ำ เช่น เราเป็นเด็กจบใหม่ที่เชื่อว่าทุกบริษัทไม่อยากได้คนไม่มีประสบการณ์ ซึ่งความเป็นจริงมันก็มีบริษัทที่คิดแบบนั้น รวมถึงบริษัทที่ไม่ได้คิดแบบนั้น ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนความเชื่อของตัวเองว่ามันไม่ใช่ความจริงทั้งหมดเสมอไป
7. ตื่นและเข้านอนให้ตรงเวลาเพื่อลดความเครียด
ถึงเราจะว่างงานหรือมีเวลาว่างทั้งวัน ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะทำให้เราคิดว่าตัวเองสามารถเข้านอนดึกหรือตื่นสายได้ เพราะการได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ในทุก ๆ วัน จะทำให้สมองของเราโปรดโปร่ง สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ช่วยไม่ให้เรามีความรู้สึกตำหนิตัวเองที่อาจจะก่อให้เกิดเป็นภาวะโรคซึมเศร้า รวมถึงการกินและออกกำลังกายให้เป็นประจำก็ช่วยได้
8. ปล่อยวาง แต่ไม่ใช่ ปล่อยปะละเลย
คำว่า “ปล่อยวาง” กับ “ปล่อยปะละเลย” ไม่เหมือนกัน ปล่อยปะละเลยคือ การยอมแพ้ ไม่สนใจที่จะทำสิ่งดี ๆ เพื่อพัฒนาปรับปรุงตัวเอง หรือไม่เอาอะไรแล้วในชีวิต ปล่อยให้ทุกอย่างไหลไปตามเวรตามกรรม แต่คำว่าปล่อยวาง คือการคิดว่าช่างมัน หรือคิดไปก็เท่านั้นไม่ได้เกิดประโยชน์ ซึ่งคนเราไม่สามารถปล่อยวางได้ทุกเรื่อง แต่เรื่องที่สามารถปล่อยวางได้ก็คือเรื่องที่เราควบคุมหรือแก้มันไม่ได้
อ่านบทความเต็มได้ที่
อ่านบทความอื่น ๆ ของ JobThai
คลิกเลย 👉 https://blog.jobthai.com
โฆษณา