28 พ.ย. 2022 เวลา 13:15 • ประวัติศาสตร์
การอดอาหาร : อาวุธหนัก ของ มหาตมะ คานธี
ถ้าหาก “ ความจริง อหิงสา และการดื้อแพ่ง “ คือหัวใจของการต่อสู้ทางการเมืองของ มหาตมะ คานธี แล้ว “ การอดอาหาร “ ก็คือ อหิงสาขั้นสูง ซึ่งยากที่จะมีใครปฏิบัติได้ หากแม้นว่าปฏิบัติได้ ก็ใช่ว่าจะบรรลุถึงความสำเร็จ การอดอาหารของ มหาตมะ คานธี จึงกลายเป็นต้นแบบ ให้นักเคลื่อนไหวรุ่นหลังได้ศึกษาและนำไปใช้ เพื่อให้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับหลักความรุนแรงตามแนวทางตะวันตก อหิงสา กับ การอดอาหาร น่าจะมีความย้อนแย้งกัน เพราะอหิงสานั้นต่อต้านความรุนแรงทั้งกาย วาจา และใจ ในขณะที่การอดอาหารนั้นก็จัดว่าเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง เพราะนำไปสู่ความทุกข์ทรมานและอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตในที่สุด ยิ่งเมื่อใช้มุมมองพุทธศาสนาแล้ว ก็ยิ่งชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่ทางสายกลาง ที่จะนำไปสู่การพ้นทุกข์ได้เลย
เมื่อกว่าสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว เจ้าชายสิทธัตถะก็เคยทำทุกรกิริยาด้วยการอดอาหาร จนร่างกานซูบผอม แทบจะเหลือเพียงหนังติดกระดูก ก็ยังมิอาจบรรลุสัจธรรมได้ แต่พอเปลี่ยนเป็นมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง จึงบรรลุมรรคผลตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเผยแผ่คำสอนจนเติบใหญ่ในชมพูทวีป
แต่ทว่าชมพูทวีปในวันเวลาที่มหาตะ คานธี มีชีวิตอยู่ คือช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 ซึงเป็นช่วงเวลาที่มีเต็มไปด้วยความวุ่นวายทางการเมือง ชมพูทวีปอันกว้างใหญ่มีชื่อว่าอินเดีย อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ผู้คนส่วนใหญ่นับถือฮินดูและอิสลาม พุทธศาสนาหมดความสำคัญไปจากสังคมอินเดีย หลายศตวรรษแล้ว
ตามคติความเชื่อของฮินดู การอดอาหารถือว่าเป็นบุณยกริยา ที่ต้องปฏิบัติกันในวันขึ้น 11 ค่ำ และ แรม 11 ค่ำ ของทุกเดือน ในขณะที่ชาวมุสลิมก็มีการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน การอดอาหารเพื่อควบคุมร่างกายและจิตใจ จึงเป็นวัฒนธรรมที่มหาตมะ คานธี คุ้นเคยมาตั้งแต่เยาว์วัย พอเมื่อถึงคราวที่เขาได้เป็นผู้นำมวลชน เขามักจะใช้การอดอาหารเป็นอาวุธสำคัญ ในการรนณรงค์ทางสังคมและการเมือง
เพราะการที่จะควบคุมการเคลื่อนไหวของมวลชนอินเดีย ให้เป็นไปตามหลักการสัตยาเคราะห์ ( ความจริง อหิงสา ดื้อแพ่ง ) ไม่ใช่เรื่องง่าย หลักการประท้วงตามแบบฉบับของมหาตมะ คานธี ถือว่าเป็นนวัตกรรมทางการเมือง ที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เข้าใจ และถึงแม้ว่าจะเข้าใจ ก็ใช่ว่าจะนำมาปฏิบัติได้สมบูรณ์ ภายใต้อารมณ์ทางสังคมที่มีความแปรปรวน
ดังนั้นในช่วงเวลาที่มวลชนเริ่มเดินผิดไปจากแนวทางสันติวิธี หรือมีแนวโน้มที่ความรุนแรงกำลังจะขยายตัว การอดอาหารของมหาตมะจึงช่วยปลุกจิตสำนึก ให้มวลชนกลับเข้ามาอยู่ในแนวทางที่ถูกที่ควร พร้อมกับสร้างแรงกดดันอันมหาศาลไปยังฝ่ายตรงข้าม ซึ่งก็คือกลุ่มนายทุนและจักรวรรดินิยมอังกฤษ
การอดอาหารในระยะเวลาสั้น ๆ ใคร ก็สามารถปฏิบัติได้ แต่ถ้าจะปฏิบัติให้ได้ในระยะเวลาอันยาวนานอย่างเคร่งครัด เยี่ยงนักบวช จึงไม่ใช่เรื่องสามัญธรรมดาที่จะเลียนแบบกันได้ ตลอดชีวิตการต่อสู้ทางสังคมและการเมืองของมหาตมะ คานธี เขาทำการอดอาหารไม่ต่ำกว่า 15 ครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2476 เขาอดอาหารต่อเนื่องกันถึง 31 วัน และมีหลายครั้งที่เขาประกาศว่าจะอดอาหารจนตาย แต่สังคมอินเดียในขณะนั้น ย่อมไม่ต้องการให้เขาตายอย่างแน่นอน เพราะเขาได้กลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชานชนอินเดียไปแล้ว
ฝ่ายมหาตมะ คานธี ก็ย่อมตระหนักได้ด้วยตนเองอยู่แล้วว่า มีความสำคัญเพียงใดต่อผู้คนนับร้อยล้านคน ด้วยประการฉะนี้ การอดอาหารที่อยู่ในกรอบของสัตยาเคราะห์ มีจุดหมายเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ จึงมีผลานุภาพมหาศาลเพียงพอที่จะต่อรองกับรัฐบาลอังกฤษ
ในทางตรงข้าม หากอาศัยแค่เพียงการอดอาหารประท้วงแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้มีหลักการอะไร ที่จะยึดโยงถึงผลประโยชน์ต่อสังคมจนเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดจริงจัง เรียกร้องแต่ความต้องการของตนเองและพวกพ้องกลุ่มเล็ก ๆ เป็นสำคัญ การอดอาหารก็จะสูญเปล่า ไม่ค่าเพียงพอที่จะให้ผู้คนส่วนใหญ่ต้องหันไปมอง นักเคลื่อนไหวรุ่นหลังที่ริอ่านจะเจริญรอยตามมหาตมะ คานธี จึงต้องศึกษาหลักสัตยาเคราะห์ให้ทะลุปรุโปร่ง
ข้อมูลอ้างอิง
กรุณา – เรืองอุไร กุศลาสัย . ข้าพเจ้าทดลองความจริง . สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง . พ.ศ. 2538
ผะอบ จึงแสงสถิตย์พร . มหาตมะ คานธี : วิธีการต่อสู้ . วารสารรามคำแหง ฉบับมนุษย์ศาสตร์ ปีที่ 36 ฉบับที่ 2
อุษา แตงทอง . ภาวะผู้นำที่มีจริยธรรม : กรณีศึกษาประวัติชีวิตและการทำงานของมหาตมะ คานธี .วารสารการเมือง การบริหาร และกฎหมาย ปีที่ 4 ฉบับที่ 3
โฆษณา