29 พ.ย. 2022 เวลา 11:43 • การศึกษา
🔸 เมื่อถามว่าจิตวิทยาคืออะไร สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงคงจะหนีไม่พ้น คนโรคจิต หรือความเจ็บป่วยทางจิตอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลา บางคนอาจนึกถึงการสะกดจิต พลังอภินิหารต่าง ๆ ทั้ง Psychokinesis ที่สามารถเคลื่อนย้ายวัตถุได้ด้วยพลังจิต ไม่ก็นึกถึงการดูดวง การเข้าทรง การเห็นผี แต่สำหรับบางคนที่เคยเรียนจิตวิทยามาบ้าง อาจนึกถึง ซิกมุน ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่เป็นบุคคลที่เปรียบเสมือนไอคอนทางจิตวิทยา
ซิกมุน ฟรอยด์ (Sigmund Freud)
🔸 จิตวิทยา หรือ Psychology ในทางวิชาการนั้นคือศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมและกระบวนการของจิตในมนุษย์ โดยการศึกษาที่ว่าจะใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษา ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า จิตวิทยาเป็นสาขาย่อยของวิทยาศาสตร์ก็ไม่ผิดนัก
🔸 การศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของจิตในมนุษย์นี้ มีมานานมากแล้วตั้งแต่สมัยก่อนศริสตการ ตั้งแต่ช่วงยุค กรีก-โรมัน ที่มีความรุ่งเรือง มีความเจริญทางด้านศิลปกรรม วิทยาการ ปรัชญา และการศึกษา นักปราชญ์คนดังหลายๆคนทั้ง โซคราติส (Socrates) พลาโต (Plato) และ อริสโตเติล (Aristotle) ได้มีการศึกษาสิ่งที่มนุษย์อย่างเราต่างเคยสัมผัสอย่างลึกซึ้ง อาทิ ความสุข ความปรารถนา จินตนาการและการรู้สึกตัว ในเชิงปรัชญา ด้วยวิธีการที่เรียกว่า Armchair Method
🔸 ซึ่งเป็นการศึกษาผ่านการนั่งขบคิด และพูดคุยแลกเปลี่ยนกับปราชญ์คนอื่น ๆ เปรียบเสมือนการนั่งพิงโซฟานุ่มๆ เอาแขนวางบนที่พักแขน และจิตนาการว่าความจริงของโลกเป็นเช่นใดโดยใช้ประสบการณ์ เมื่อได้คำตอบที่ดูเข้าท่าก็นำมาแลกเปลี่ยนกับพวกพ้อง ตอนนั่งดื่มกาแฟยามเช้า ซึ่งวิธีการศึกษานี้ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือในปัจจุบันแล้ว
🔸 เมื่อเวลาผ่านล่วงเลยมาถึงยุคกลางในยุโรป ช่วงศตวรรษที่ 5-15 ความรู้ทั้งหลายต้องถูกพับเก็บใส่กระเป๋าเป็นเวลาเกือบ1000 ปี ด้วยอิทธิพลของศริสตจักรในเวลานั้น ที่ห้ามไม่ให้ประชาชนคิดผิดแปลกแตกต่างจากจากคำสอนในพระคำภี หากมีใครฝ่าฝืนจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง อาจถึงขั้นถูกประหารเลยทีเดียว หลังยุคกลางผ่านพ้นไป ก็มีการรื้อฟื้นศึกษาเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องของร่างกายและจิตใจ โดยนักปราชญ์ที่โด่งดังในสมัยนั้น อาทิ เรอเน เดการ์ต (Rene Descartes) และ โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes)
🔸 ส่วนจิตวิทยายุคปัจจุบันที่เป็นวิทยาศาสตร์นี้ เกิดขึ้นหลังจากนั้นในช่วง ปลาย ศตวรรษที่ 18 ในยุโรปและอเมริกา เริ่มจาก วิลเฮลม วุนดท์ (Wilhelm Wundt) ที่เปิดห้องทดลองทางจิตวิทยาที่เป็นวิทยาศาสตร์ขึ้นแห่งแรกที่เยอรมนี ในปี 1879 ส่วนที่สหรัฐอเมริกา วิลเลียม เจมส์ (William James) ได้ผลักดันเปิดหลักสูตรจิตวิทยาขึ้นที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ในปี 1890 รวมทั้งเขียนหนังสือ The Principle of Psychology ในปี 1892 และในปี 1900
หนังสือ The Principle of Psychology
🔸 วุนดท์ เจมส์ และ ฟรอยด์ ถือเป็นบุคคลสำคัญผู้ผลักดันจิตวิทยาสมัยใหม่ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ต่อมาก็มีนักจิตวิทยาผู้ปราดเปรื่องอีกมากมาย มาศึกษาและพัฒนาศาสตร์จิตวิทยาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดย เทรนด์การศึกษาทดลองทางจิตวิทยานี้ ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัยจากช่วงแรกที่เน้นศึกษาเพื่ออธิบายกระบวนการภายในของมนุษย์ เช่น อารมณ์ ความคิด และระดับของจิต ต่อมาก็เปลี่ยนมาเน้นศึกษาสิ่งที่สังเกตได้แบบเห็นๆ และวัดค่าออกมาได้เป็นตัวเลขแบบชัดเจน นั่นคือพฤติกรรมภายนอก เช่น การเดิน การกิน การยิ้ม
🔸 ซึ่งเทรนด์ก็เปลี่ยนอีกครั้งวกกลับมาศึกษากระบวนการภายในอีกครั้ง เช่นการรับรู้ ความคิด และความจำ แต่ให้ความสำคัญกับสมองและระบบประสาทมากขึ้น ซึ่งทำให้ความรู้ทางจิตวิทยาในยุคปัจจุบัน สามารถประสานเข้ากับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับมนุษย์หลายๆสาขาได้อย่างแนบสนิท เช่นประสาทวิทยาและวิวัฒนาการ
🔸 การเปลี่ยนแปลงของเทรนด์การศึกษาจิตวิทยาในข้างต้นนั้น นำมาสู่การถกเถียงกันของนักจิตวิทยากลุ่มแนวคิดต่าง ๆ ที่แต่ละกลุ่มให้ความสำคัญกับตัวแปรที่แตกต่างกันในการอธิบายสิ่งเดียวกัน แต่โดยส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่า ตัวแปรทั้งหลายที่แตกต่างกันนี้ จะสามารถร่วมกันอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพทีเดียว
"เช่นหากจะอธิบายว่าพฤติกรรมภายนอกของมนุษย์เกิดขึ้นได้อย่างไร นักจิตวิทยาบางคนจะบอกว่า เกิดจากการตอบสนองจากสิ่งเร้าภายนอก พวก ภาพ เสียง กลิ่น รส บางคนบอกเกิดจากการรับรู้จากสิ่งเร้าข้างต้น บางคนก็บอกว่าเกิดจากพลังงานจิตหรือบางคนบอกว่าเกิดจากกระบวนการภายในก็ตามแต่สุดท้ายแล้วทุกตัวแปรที่ว่า ก็ร่วมกันทำให้เกิดพฤติกรรมนั่นเอง"
🔸 เนื้อหาที่นักจิตวิทยาทำการศึกษานั้นกว้างขวางอย่างมาก จนดูเหมือนจะครอบคลุมทุกองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับตัวมนุษย์ ทั้งเรื่องบุคลิกภาพ คุณลักษณะของมนุษย์ เชาว์ปัญญา พัฒนาการของมนุษย์ ความรู้สึก การรับรู้ การเรียนรู้ แรงจูงใจ การคิด พฤติกรรมอปกติ ฯลฯ
🔸 เมื่อนำเนื้อหาข้างต้นมาประยุกต์ใช้จะพบว่าสาขาของจิตวิทยานั้นมีมากมาย อาทิ สาขาจิตวิทยาคลินิก ที่มุ่งเน้นทำความเข้าใจ และช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจ สาขาจิตวิทยาการให้คำปรึกษา ที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือให้บุคคลสามารภฝ่าฟันผ่านพ้นอุปสรรค พร้อมทั้งมีการเจริญงอกงาม สาขาจิตวิทยาการศึกษา ที่มุ่งพยายามให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือสาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร ที่พัฒนาการทำงานในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาขาทางจิตวิทยาที่มีเป็นสิบๆสาขาเพียงเท่านั้น
🔸 จากที่กล่าวมาทำให้ทราบว่าจิตวิทยานั้นซ่อนอยู่ทุกที่ในสังคมมนุษย์ ทั้งการตัดสินใจ และการวางกลยุทธ์ขององค์กรขนาดใหญ่ที่อ้างอิงจากผลการวิจัยและองค์ความรู้ทางจิตวิทยา รวมถึงการพัฒนาบัณฑิต ที่จะออกไปประกอบอาชีพ แม้กระทั่งร้านสะดวกซื้อชื่อดังที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศก็จัดวางสินค้า เลือกพื้น จัดไฟ และอบรมการบริการของพนักงานตามหลักจิตวิทยาทั้งสิ้นเพื่อให้ลูกค้าจับจ่ายซื้อสินค้าให้มาก และให้เพื่อบริษัทให้ได้กำไรมาก
เราจึงไม่สามารถหลีกหนีจากอิทธิพลของจิตวิทยา ที่ผ่านการศึกษาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์นี้ได้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำอย่างยิ่งที่พวกเราควรจะรู้จักกับจิตวิทยา
โฆษณา