30 พ.ย. 2022 เวลา 06:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การเก็บภาษีหุ้น อาจจะส่งผลกระทบเชิงลบในระยะยาว
เมื่อวาน ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ดำเนินการจัดเก็บภาษีขายหุ้นในตลาดหุ้นไทย อัตรา 0.05% โดยจะเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2566
และจะเพิ่มเป็น 0.1% ในปี 2567 เป็นต้นไป ....
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ จะกระทบกับตลาดหุ้นไทยอย่างไร และจะส่งผลดีหรือผลเสียมากน้อยแค่ไหน
ผลดี คือ รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการจัดเก็บภาษี
โดยในปี 2566 รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกราวๆ 6.5 พันล้านบาท
และปี 2567 จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากถึง 1 - 2 หมื่นล้านบาท ...
ผลเสียที่ตามมา ภาพระยะสั้นอาจจะมีแรงเทขายจากนักลงทุนสถาบัน และต่างชาติ
แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่า คือ ผลกระทบระยะยาวซึ่งจะกระทบ 3 ข้อด้วยกัน คือ
1. ความน่าสนใจในการลงทุนลดลง
แต่เดิม ตลาดจะวางตัวในฐานะเป็นแหล่ง "ออมเงิน" ของคนทั่วไปที่อยากจะใช้เงินทำงาน แต่เนื่องจาก Transaction Cost ที่สูงขึ้น อาจจะไม่เป็นการส่งเสริมให้นักลงทุนเข้ามาออมเงินผ่านหุ้น และอาจจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันตลาดหุ้นโลก ลดลงอีกด้วย
2. กดดันสภาพคล่องลดลง
รัฐมีความจำเป็นต้องหารายได้เข้าประเทศ เป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่การจัดเก็บภาษี จะทำให้สภาพคล่องลดลง เมื่อสภาพคล่องลด รัฐบาลก็จะจัดเก็บภาษีในระยะยาวมีโอกาสลดลงตามไปด้วย
3. กดดันทิศทางตลาดหุ้น
โดยเฉพาะนักลงทุนเก็งกำไร โรบอทเทรดที่เน้นการซื้อขายในช่วงสั้น อาจจะต้องมีการปรับตัวกันมากขึ้น รวมถึงปรับกลยุทธ์ซื้อขายก่อนที่การเก็บภาษีจะมีผลบังคับใช้
จริงๆแล้วเรื่องของการเก็บภาษี มันก็เป็นเรื่องสมควรและเป็น "หน้าที่" ของคนไทยทุกคนที่ต้องจ่ายภาษี
แต่สิ่งที่ภาครัฐควรทำ คือ การนำภาษีของประชาชนไปใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างสังคมโดยรวมให้ดีขึ้นในทุกมิติ
และไม่แน่ว่า การเก็บภาษีครั้งนี้อาจจะเป็นการส่งสัญญาณกลายๆว่าในอนาคตจะมีภาษีเกี่ยวกับหุ้นตามมาอีก เช่น ภาษี Capital gain Tax หรือการเพิ่มภาษีจากเงินปันผล ได้ในอนาคต
โฆษณา