Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
MYSTERY LIFE
•
ติดตาม
30 พ.ย. 2022 เวลา 07:22 • สิ่งแวดล้อม
เสือโคร่งแห่งป่าห้วยขาแข้ง – กรกฎาคม พ.ศ. 2565 มีข่าวแม่เสือโคร่งตัวหนึ่งให้กำเนิดลูกน้อยกลางป่าห้วยขาแข้งจำนวน 2 ตัว
เป็นเสือโคร่งชื่ออภิญญา ซึ่งนักวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ติดปลอกคอส่งสัญญาณดาวเทียม คอยเฝ้าติดตามชีวิตและศึกษาเรื่องราวความเป็นอยู่ของเธอมาโดยตลอด – นับตั้งแต่วันท้องย้วยจนถึงวันท้องยุบ
เช่นเดียวกับเสือโคร่งอีกหลายๆ ตัวในป่าห้วยขาแข้ง ที่ต่างก็สวมปลอกคอ หรือบ้างก็เรียกว่า ‘สร้อย’ ตามสำนวนของนักวิจัย
แต่ไม่ว่าจะเรียกอย่างไร การเฝ้าติดตามศึกษาวิจัยชีวิตเสือโคร่งก็ทำให้เราทราบว่า เสือโคร่งแห่งป่าห้วยขาแข้งยังอยู่ดีมีสุขเป็นส่วนใหญ่
[แม้บางคราวจะข่าวชวนกังวลอย่างการพบเสือบางตัวระหกระเหินเป๋ออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ไปบ้าง แต่ด้วยการทำงานที่ว่องไวของเจ้าหน้าที่ ก็สามารถดึงเอาเสือกลับคืนสู่ป่าได้สำเร็จแทบทุกครั้ง]
เพราะบนพื้นที่กว่าล้านเจ็ดแสนไร่แห่งนี้ยังคงอุดมสมบูรณ์ และมีเหยื่อให้ล่าอย่างเพียงพอ อีกทั้งยังมีอาณาเขตกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ผืนป่าอนุรักษ์ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ไม่ด้อยไปกว่ากัน คอยเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ของชีวิตอย่างเกื้อหนุนจุนเจือ
ตามรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อวันเสือโคร่งโลก (29 กรกฎามคม) ปี 2565 พบว่าผืนป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรมีเสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีนอาศัยอยู่ร่วมๆ 100 ตัว
1
เรียกได้ว่าเกินกว่าครึ่งของจำนวนเสือโคร่งที่มีอยู่ในป่าธรรมชาติของประเทศไทย – ประมาณ 140-180 ตัว
และยังกล่าวได้อีกว่าห้วยขาแข้ง คือแหล่งพันธุกรรมเสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีนแห่งสุดท้ายของโลก
เนื่องจากข้อมูลการปรับปรุงจำนวนประชากรเสือโคร่งเมื่อปี พ.ศ. 2559 บ่งชี้ว่า เสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศเวียดนาม ลาว เมียนมา และกัมพูชา ไม่มีที่ใดเพิ่มจำนวนขึ้นเลย ซ้ำยังมีแนวโน้มลดลงอีกต่างหาก
โดยในเมียนมา ไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือออกมาหลายปีแล้ว ส่วนประเทศอื่นๆ เสือโคร่งต้องเผชิญภัยคุกคามจากการล่าอย่างรุนแรง และไม่พบเห็นมาเป็นเวลานาน จนทำให้เชื่อได้ว่าอาจสูญพันธุ์ไปจากถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติเป็นที่เรียบร้อย
1
ตรงกันข้ามกับผืนป่าห้วยขาแข้ง ที่จำนวนเสือโคร่งยังคงเพิ่มขึ้น แม้จะมีล้มหายตายจาก หรือกระจายตัวออกไปอยู่ยังผืนป่าใกล้เคียง ทั้งทุ่งใหญ่นเรศวร แม่วงก์ และคลองลาน หรือในป่าอื่นๆ ที่เชื่อมร้อยถึงกันในกลุ่มป่าตะวันตก
แต่โดยรวมประชากรเสือโคร่งในผืนป่าห้วยขาแข้งก็ยังคงหนาแน่นกว่าผืนป่าใดๆ ในประเทศ
ซึ่งนั่นเป็นเพราะจากอดีตที่ผ่านมา ผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ได้รับการปกป้องดูแลมาโดยตลอด นับเนื่องตั้งแต่การสำรวจป่าห้วยขาแข้งของคุณผ่อง เล่งอี้ ในวันที่อำเภอลานสักยังไม่มีถนนหนทาง จนนำมาสู่การประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในปี พ.ศ. 2515
ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงการคัดค้านเปิดป่าทำสัมปทานไม้ของคุณสืบ นาคะเสถียร และประชาชนชาวอุทัยธานีในปี พ.ศ. 2531
และในสมัยที่คุณสืบ นาคะเสถียร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก็มีการทำการทำแผนแม่บทการจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ห้วยขาแข้ง ร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ตลอดจนรายงาน Nomination of The Thung Yai – Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary หรือ รายงานเสนอเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เพื่อเข้าร่วมเป็นมรดกโลกกับยูเนสโก จนผืนป่าทั้งสองแห่งได้รับรองให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติในปี พ.ศ. 2534
แน่นอนว่า เสียงปืนของเช้ามืดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ข้าราชการกรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หันมาให้ความสำคัญกับผืนป่าห้วยขาแข้งเพิ่มมากขึ้น
เหล่านี้คือเรื่องราวจุดเริ่มต้นงานอนุรักษ์ในอดีต ก่อนจะพัฒนาระบบงานตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงานวิจัยเสือโคร่ง ของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ที่วันนี้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
การทำงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol) ก็มีป่าห้วยขาแข้งเป็นพื้นที่นำร่อง และกลายเป็นแม่แบบของงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อมา
การวางแผนและการทำงานต่างๆ มากมายเหล่านี้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับบริบทของผืนป่า ที่เหมาะกับการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง
กล่าวคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ถือเป็นศูนย์รวมการกระจายพันธุ์ของสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช จาก 4 ภูมิภาคของเอเซีย คือ ภูมิภาคซิโน-หิมาลายัน, อินโด-เบอร์มีส, อินโดจีน และซุนดาอิค ประกอบด้วยความหลากหลายของสภาพป่า และสภาพภูมิประเทศมีความเหมาะสมต่อความเป็นบ้านของสัตว์ป่าหลายชนิด โดยเฉพาะประชากรสัตว์กีบที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง
ตัวอย่างเช่น วัวแดง กระจายหนาแน่นบริเวณป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังด้านตะวันออกของลำห้วยขาแข้ง กระทิง หรือช่วงระหว่างที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าริมห้วยทับเสลา จนถึงสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ โดยเฉพาะช่วงไหนที่เป็นทุ่งโล่งมีหญ้าระบัดจะพบกวางป่าออกมาหากินเป็นฝูง อีกทั้งยังมีกระทิง และหมูป่า
มีโป่ง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์กีบเป็นจำนวนมาก
ที่รู้จักกันดีจากสาธารณชนหรือนักท่องเที่ยว เช่น โป่งช้างเผือก ซึ่งเป็นโป่งที่มีต้นไม้ใหญ่ที่เป็นอาหารสัตว์ป่าได้ เช่น มะเดื่อ กระจายอยู่รอบๆ ซึ่งขณะนี้กำลังสุกและร่วงหล่นอยู่ตามพื้น มีทุ่งหญ้าที่สมบูรณ์ และมีลำห้วยทับเสลา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไหลผ่าน
พื้นที่โป่งส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการอาศัยและหากินของสัตว์กีบ เป็นอย่างยิ่ง
จากข้อมูลงานวิจัยของ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย (2559) ได้ตรวจวัดประชากรเหยื่อของเสือโคร่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบว่าสัตว์หลักๆ ที่เสือโคร่งชอบกิน 5 อันดับ ได้แก่ กระทิง วัวแดง กวาง เก้ง และหมูป่า ซึ่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบสัตว์ทั้ง 5 ชนิด โดยมีความหนาแน่น 6 ตัวต่อตารางกิโลเมตร
3
ซึ่งถือว่ามีความหนาแน่นของประชากรเหยื่อเพียงพอต่อการดำรงชีวิตของเสือโคร่ง โดยใน 1 ปี เสือโคร่ง 1 ตัว จะล่าเหยื่อประมาณ 54 ตัว เพื่อเป็นอาหาร
ขณะเดียวกันสัตว์กีบก็มีพืชอาหารมากมายพอกิน อีกทั้งมีงานด้านการเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์กีบขนาดเล็กของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งช่วยหนุนเสริม
ที่รวมๆ แล้ว สามารถอธิบายแบบสั้นๆ ได้ว่า ‘เสือโคร่ง’ สามารถเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่มีสัตว์ป่าดำรงอยู่ได้อย่างชัดเจน
เมื่อมีความสมบูรณ์พูนพร้อมกันอย่างสัมพันธ์ต่อกันเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่ป่าห้วยขาแข้ง จะเป็นบ้านและแหล่งพันธุกรรมที่สำคัญของเสือโคร่ง ทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก
#เสื้อโคร่ง #ห้วยขาแข้ง #MYSTERYLIFE #Nature #Wildlife
เครดิต: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
seub.or.th
เสือโคร่งแห่งป่าห้วยขาแข้ง - มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เสือโคร่งแห่งป่าห้วยขาแข้ง สามารถเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่มีสัตว์ป่าดำรงอยู่ได้อย่างชัดเจน
4 บันทึก
11
4
3
4
11
4
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย