30 พ.ย. 2022 เวลา 09:10 • ข่าว
แจ็ค หม่า หนีไปอยู่ญี่ปุ่น หลังจีนไล่ปราบบริษัทเทคโนโลยี
3
แจ็ค หม่า เจ้าพ่ออาณาจักรอาลีบาบา กบดานอยู่ในญี่ปุ่น หลังหายหน้าจากสื่อไปนานเกือบ 2 ปี จากปมวิจารณ์รัฐบาลจีน
หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส สื่อในเครือนิกเกอิของญี่ปุ่น รายงานว่า แจ็ค หม่า มหาเศรษฐีชาวจีน ผู้ก่อตั้งอาณาจักรอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ ‘อาลีบาบา’ (Alibaba) ซ่อนตัวอยู่ที่โตเกียวกับครอบครัวเป็นเวลาเกือบ 6 เดือนแล้ว หลังถูกตั้งข้อสังเกตว่าเขาหายตัวไปจากสาธารณชนมาระยะหนึ่ง ในช่วงที่จีนไล่ปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีอย่างหนัก
ไฟแนนเชียลไทม์สอ้างว่าได้ข้อมูลดังกล่าวมาจากแหล่งข่าวไม่ระบุชื่อ รู้เพียงว่าเป็นเพื่อนสนิทของ มาซาโยชิ ซัน ผู้ก่อตั้งซอฟท์แบงก์ (SoftBank) ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหม่า และเป็นนักลงทุนรายแรกๆ ในอาลีบาบา
2
แหล่งข่าวเผยว่า หม่าและครอบครัวเพิ่งเดินทางมาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเมื่อไม่นานมานี้ โดยพาเชฟและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยส่วนตัวมาด้วย ระหว่างใช้ชีวิตอยู่ในโตเกียว เขาได้แวะเวียนไปที่คลับส่วนตัวที่มีสมาชิกเพียงไม่กี่คนในย่านกินซ่าและมารุโนะอุจิอยู่เป็นประจำ และกลายเป็นนักสะสมงานศิลปะตัวยง ควบคู่ไปกับการสำรวจการขยายความสนใจทางธุรกิจของเขาไปสู่ความยั่งยืน
4
นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า มีผู้พบเห็นหม่าปรากฏตัวอยู่ที่สหรัฐฯ และอิสราเอลอยู่บ่อยครั้ง หลังจากที่เขาหายตัวไปจากสาธารณะในจีน รวมถึงการไปปรากฏตัวบนเกาะมายอร์กาของสเปนเมื่อปีที่แล้ว
การหายตัวไปของหม่า เริ่มเป็นที่จับตาของบรรดาสื่อใหญ่ทั่วโลกมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 หลังจากที่เขาขึ้นเวที The Bund Financial Summit ในเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ปีเดียวกัน โดยหม่ากล่าววิพากษ์วิจารณ์นโยบายกำกับดูแลด้านการเงินของจีนว่าล้าสมัย ไม่เหมาะสมกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
คำพูดที่ตรงไปตรงมาของหม่า แม้จะถูกมองว่าเขาอาจมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงขึ้นในระบบการเงินของจีน ให้เอื้อต่อผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น แต่กลับสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับรัฐบาลจีน
1
ก่อนที่หม่าจะหายตัวไป มีข่าวออกมาว่า เขาและเพื่อนร่วมงานบางคนได้ถูกเรียกตัวไปพบกับหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาล จากนั้นก็เริ่มมีผู้สังเกตว่าหม่าหายไป ไม่ปรากฏตัวในหน้าสื่อเลยเกือบ 3 เดือน ก่อนที่เขาจะออกมาปรากฏตัวอีกครั้งในวิดีโอของกิจกรรมการกุศลงานหนึ่งเมื่อเดือนม.ค. 2564 แต่ก็เป็นเวลาสั้นๆ เพียงไม่ถึงนาที
ขณะเดียวกัน บริษัทของหม่าเอง ก็ตกเป็นเป้าการปราบปรามของรัฐบาลอย่างหนัก เริ่มจากตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ระงับการจดทะเบียนของ แอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) บริษัทลูกของอาลีบาบา ที่ให้บริการชำระเงินผ่านแอป อาลีเพย์ (Alipay) เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 โดยให้เหตุผลว่า มีข้อกังวลเรื่องการกำกับดูแลและบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
1
ตามมาด้วยการเปิดการสอบสวนอาลีบาบาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการผูกขาดทางการค้าในจีน จนนำไปสู่การเรียกค่าปรับเป็นจำนวนเงินมากสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1.82 หมื่นล้านหยวน หรือเกือบ 2.8 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาท) โดยระบุว่า อาลีบาบามีพฤติกรรมที่เป็นการผูกขาดตลาด ไม่ยอมให้พ่อค้าแม่ค้าขายสินค้าให้กับแพลตฟอร์มคู่แข่งอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการทำลายผลประโยชน์ของผู้บริโภค
1
พายุที่ถาโถมเข้าใส่ ทำให้หม่าสูญเสียความมั่งคั่งและสถานะมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของจีน ซึ่งเขาเคยครองตำแหน่งมาในช่วงเดือน ต.ค. 2563 ขณะที่หุ้นอาลีบาบามีการซื้อขายอยู่ในระดับสูงสุดประวัติการณ์ ทำให้หม่ามีทรัพย์สินอยู่ในมือขณะนั้นสูงถึง 6.66 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 2.32 ล้านล้านบาท)
1
ขณะที่ปัจจุบัน จากการประเมินของฟอบส์ ทรัพย์สินของหม่าลดลงไปมากกว่าครึ่ง เหลือเพียงราว 2.22 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 7.82 แสนล้านบาท) อยู่ในอันดับที่ 67 ในทำเนียบบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และอันดับที่ 6 ในทำเนียบชาวจีนที่ร่ำรวยที่สุด ซึ่งในตอนนี้ จง ซานซาน เจ้าของแบรนด์น้ำแร่หนงฟู่สปริง เป็นผู้ครองตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 1 ในจีน
1
#MakeTomorrowTODAY
โฆษณา