30 พ.ย. 2022 เวลา 09:50 • ข่าว
บ.ยาญี่ปุ่น-สหรัฐฯ คิดค้นยาชะลออาการอัลไซเมอร์ตัวใหม่
บริษัทผลิตยาจากญี่ปุ่นค้นพบยาชะลออาการอัลไซเมอร์สำเร็จ หลังจากการทดสอบประสบความล้มเหลวหลายครั้ง มุ่งเป้าใช้เพื่อการชะลอการก้าวเข้าสู่ระยะต่อไปของโรคอัลไซเมอร์ แต่ไม่ใช่การรักษาให้หายขาด เตรียมวางจำหน่ายเร็วๆ นี้
1
บริษัทเอไซ (Eisai) ผู้ผลิตยาจากญี่ปุ่น ภายใต้ความร่วมมือกับบริษัทไบโอเจน (Biogen) ของสหรัฐฯ ร่วมพัฒนายาชะลออาการอัลไซเมอร์ ที่มีชื่อว่า
"เลแคเนแมบ" (Lecanemab) ได้สำเร็จ หลังจากโครงการทดลองยาชนิดนี้ เกิดความล้มเหลวมาแล้วหลายครั้ง
อย่างไรก็ดี ตัวยาเลแคเนแมบยังแสดงผลชะลอโรคอัลไซเมอร์ได้เพียงเล็กน้อย ขณะที่ผลข้างเคียงของตัวยานั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
นอกจากนั้น เลแคเนแมบ จะช่วยชะลอโรคอัลไซเมอร์ได้ก็ต่อเมื่อให้ผู้ป่วยรับยาในช่วงแรกเริ่มของโรคเท่านั้น ดังนั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์มานาน จะใช้ยาตัวนี้ไม่ได้ผล
แต่สำหรับวงการแพทย์ที่พยายามหาหนทางรักษาโรคอัลไซเมอร์ และต้องพบกับความผิดหวังและสิ้นหวังมาอย่างยาวนานแล้ว
ประสิทธิภาพของยาตัวนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยสถาบันวิจัยโรคอัลไซเมอร์ในสหราชอาณาจักรระบุว่า ผลการใช้ตัวยานี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
ปัจจุบัน แพทย์จะให้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์รับยาเพื่อบรรเทาอาการ แต่ยังไม่มีตัวยาใดที่นำไปสู่การรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้
เลแคเนแมบเป็นแอนติบอดี หรือโปรตีนที่สร้างจากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของมนุษย์ แต่นักวิจัยได้ปรับแต่งเลแคเนแมบ ให้เมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์แล้ว มันจะเข้าจู่โจมโปรตีนที่มีลักษณะเป็นสารเหนียวที่เรียกว่า "เบตา อะไมลอยด์" (beta amyloid) ที่ก่อตัวขึ้นในสมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์
อะไมลอยด์ คือโปรตีนที่เกาะกลุ่มกันในพื้นที่ว่างระหว่างเซลล์ประสาท จนกลายเป็นคราบจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยก่อให้เกิดอาการของอัลไซเมอร์
ทีมวิจัยได้ทดลองใช้ยาเลแคเนแมบ กับอาสาสมัคร 1,795 คนที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ในระยะแรก โดยให้ยาเลแคเนแมบ ทุกๆ 2 สัปดาห์
โดยผลการทดลองที่ได้รับการนำเสนอในการประชุมว่าด้วยการทดลองทางคลินิกว่าด้วยโรคอัลไซเมอร์ ในนครซานฟรานซิสโก และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์นิวอิงแลนด์เจอร์นัล ชี้ว่า
แม้จะไม่ได้รักษาโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างปาฏิหาริย์ และผู้ป่วยยังคงมีอาการอัลไซเมอร์ แต่เมื่อรับยาไปแล้ว 18 เดือน พบว่าภาวะสมองเสื่อมช้าลงราว 1 ใน 4 จากอัตราปกติ
ศาสตราจารย์ จอห์น ฮาร์ดี หนึ่งในนักวิจัยระดับโลกที่อยู่เบื้องหลังการศึกษายับยั้ง เบตา อะไมลอยด์ ตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน มองว่า ผลวิจัยนี้เป็นการค้นพบครั้งประวัติศาสตร์ และเชื่อว่า "เรากำลังเห็นจุดเริ่มต้นของการรักษาโรคอัลไซเมอร์"
ด้านทีมนักวิจัยได้เปิดเผยว่า หลังจากการทดสอบยานั้นพบว่า ยาเลแคเนแมบ ชะลอการก้าวเข้าสู่ระยะต่อไปของโรคอัลไซเมอร์ ได้ช้าลงถึง 31% แต่มีความเป็นไปได้ว่า ประสิทธิภาพของยาอาจขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของสมองในผู้ป่วยแต่ละคนที่แตกต่างกันตามข้อบ่งชี้ของแพทย์ที่รักษา
ซึ่งทีมนักวิจัยยังย้ำว่า การใช้ยาดังกล่าวในผู้ป่วยอัลไซเมอร์เป็นเพียงแค่การชะลอการลุกลามของโรคเท่านั้น ไม่ใช่ยารักษาที่สามารถทำให้หายขาดจากโรคได้
ตอนนี้ ทางการสหรัฐฯ กำลังประเมินผลการทดลองดังกล่าว เพื่อเตรียมตัดสินใจว่าจะนำตัวยา เลแคเนแมบ มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในวงกว้างหรือไม่ ขณะที่ผู้พัฒนาตัวยา คือ บริษัทยา เอไซ และ ไบโอเจน มีแผนจะเริ่มกระบวนการอนุมัติใช้ตัวยาในหลายประเทศในปีหน้า.
ที่มา BBC
โฆษณา