1 ธ.ค. 2022 เวลา 01:42 • ประวัติศาสตร์
กระซิบรักบันลือโลก / กระซิบเรื่องเล่าแต่เก่าก่อน
การเข้าไปชมรูป ปู่ม่าน ย่าม่าน สำหรับฉัน ไม่ต่างอะไรกับการไปยืนพินิจพิจารณารูปวาด The Last Supper ที่ Santa Maria delle Grazie หรือ The Annunciation และ The Adoration of the Magi ที่ทั้ง 3 ภาพ วาดไว้โดย Leonardo Da Vinci ที่ปัจจุบันอยู่ที่ The Uffizi ที่ไปดูกับตาตัวเองมาแล้วแม้แต่น้อย อ่ะ เริ่มเลยนะ
ภาพกระซิบรักบันลือโลก เป็นส่วนหนึ่งของภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดภูมินทร์ กลางเมืองน่าน โดยปัจจุบันเรียกกันว่า ปูม่านและย่าม่าน คำว่า ม่าน หมายถึง พม่า อ้าว แล้วพม่ามาทำอะไรในหัวเมืองเหนือ
อย่าลืมนะครับว่านครรัฐอิสระที่รวมตัวกันเป็นอาณาจักรล้านนา ที่กลายมาเป็นจังหวัดทางภาคเหนือของไทยในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนามาก่อน แล้วเมื่อพระเจ้าบาเยงนองยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ที่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรได้ บรรดาหัวเมืองทั้งหมดก็เลยตกอยู่ภายใต้อำนาจพม่าไปด้วยกว่า 200 ปี
เมืองน่านมาเข้ากับสยาม หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินตั้งกรุงธนบุรีขึ้นและขับไล่พม่าออกไปจากเชียงใหม่ได้สำเร็จ แล้วยังคงสวามิภักดิ์กับสยามต่อเมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นตามมา ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมวัดวาอารามทางเหนือถึงมีศิลปกรรมออกไปในทางพม่าเสียเป็นส่วนใหญ่
ถ้าเราดู ปู่ม่าน จะเห็นว่ามีการขมวดผมไว้กลางกระหม่อมแล้วพันผ้าแบบพม่า มีการสักลายทั้งส่วนบนและส่วนล่างของร่างกาย ด้านล่างสักดำตั้งแต่หน้าท้องลงไปถึงต้นขา เคยได้ยินคำว่า ลาวพุงดำ ไหมครับ คำนี้มาจากการที่คนล้านนาสักลายด้วยหมึกดำบนลำตัวนี่แหละ
เสริมให้อีกนิดว่า ถ้ามีลาวพุงดำแล้วมีลาวพุงขาวไหม คำตอบคือมีนะครับ ลาวพุงขาว ก็คือกลุ่มคนในอาณาจักรล้านช้าง ที่นิยมสักลายไว้ที่ต้นขาลงมาถึงหัวเข่า แต่ไม่สักพุง ก็เลยเรียกว่า ลาวพุงขาว นั่นเองครับ
การเรียกคนล้านนาและล้านช้างว่าลาวนั้นไม่ได้เรียกกันปากเปล่า เพราะมีปรากฎบันทึกอยู่ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งทัพสยามยกไปตีเวียงจันทน์ เมื่อคราวศึกเจ้าอนุวงศ์ด้วยครับ
ส่วนด้านบนสักฝางเพราะน้ำหมึกเป็นสีแดง ลายสักด้านบนนี้ใช้แสดงถึงสถานะทางสังคมและฐานะการเงินของเจ้าของรอยสักด้วยว่าใครมีอะไร เท่าไร ใส่เป็นลายสักมาอวดกันได้เลย แล้วถ้าจากรอยสักฝางที่ลำตัวด้านบนนี่ถือว่า ปู่ม่าน มีฐานะดีนะครับ
ส่วน ย่าม่าน ไว้ผมมวยสูง ใส่เสื้อแขนยาวทับผ้าคาดอกสีแดง ด้านล่างนุ่งผ้าลายลุนตะยาที่นิยมปล่อยชายยาวคลุมพื้นดินตามแบบฉบับการนุ่งผ้าของผู้หญิงพม่า อีกทั้งยังมีเครื่องประดับที่นิ้วและข้อมือที่บ่งบอกถึงสถานะและฐานะของ ย่าม่าน ว่ามีอันจะกินอีกด้วย
ปู่ม่าน เอามือซ้ายแตะไหล่ขวา ย่าม่าน พร้อมเอามือขวาป้องปาก ในขณะที่ ย่าม่าน ก็เอียงหูขวาเข้าหา ปู่ม่าน กิริยาอาการที่แนบชิดสนิทเนื้อแบบนี้ แสดงให้เห็นเลยว่าตามธรรมเนียมโบราณคือต้องเป็นสามีภรรยากันแล้ว ถึงจะทำอะไรแบบนี้ได้ครับ ถ้าหนุ่มสาวจีบกัน ยังไม่เป็นอะไรกัน ทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะเค้าถือว่าเป็นการผิดผีครับ ส่วน ปู่ม่าน จะกระซิบบอก ย่าม่าน ว่าอย่างไรนั้น ปล่อยให้เป็นเรื่องส่วนตัวของปู่กับย่าเค้าไปเถอะ
เอกลักษณ์ที่โดดเด่นอีกอย่างในสายตาคนภาคกลางที่ว่างๆก็ไปเดินส่องจิตรกรรมฝาผนังตามวัดในบางกอกเนี่ยก็คือการแสดงอารมณ์ผ่านสีหน้าในภาพวาด ที่นี่จะเห็นอารมณ์กันชัดๆผ่านใบหน้าเลย แต่ถ้าลงไปดูจิตรกรรมฝาผนังที่บางกอก สีหน้าจะเรียบเฉย แต่อารมณ์จะไปออกที่ลีลาท่าทางแทน
แต่ถึงรูปจะสื่อความเป็นพม่าแค่ไหน ดูเหมือนจะย้อนยุคเพียงใด ว่ากันว่ารูปนี้ถูกวาดขึ้นในคราวบูรณะโดย หนานบัวผัน ในช่วงปี พศ 2410 - 2417 เป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างแผ่นดินรัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี่เองนะ ใช่ครับ รูปนี้มีอายุประมาณ 155 ปี เท่านั้นครับ แต่ตัว วัดพรหมมินทร์ ที่เรียกชื่อเพี้ยนกันจนเป็น วัดภูมินทร์ นี่สร้างขึ้นในปี พศ 2139 เก่าแก่กว่าภาพวาดภายในมากๆ
แต่ก็ไม่แปลกอะไรหรอก เพราะการที่ล้านนาตกอยู่ภายใต้อำนาจพม่ากว่า 200 ปี นี่มันก็หลายชั่วอายุคน ต่อให้พม่าที่หมดอำนาจเหนือแผ่นดินล้านนาไปจากการถูกขับไล่โดยพระเจ้าตากสิน แล้วต่อด้วยการตกเป็นอาณานิคมอังกฤษในช่วงต้นรัตนโกสินทร์จนสูญสิ้นอำนาจในภูมิภาคนี้อย่างสิ้นเชิงไปตั้งแต่ก่อนรูปนี้จะถูกเขียนขึ้นมา
แต่วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ความคิดอ่าน มุมมองของผู้คนที่อยู่กับพม่ามานาน มันก็ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนสะท้อนออกมาบนภาพวาดบนผนังที่วาดโดย หนานบัวผัน ศิลปินท้องถิ่น เชื้อสายไทลื้อ คนนี้ ตลอดไปจนสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมทางเหนือที่เราเห็นๆกันตามวัดๆวังๆย่านนี้ แต่ไม่สังเกตให้ดีนี่ยังไงล่ะครับ
โฆษณา