1 ธ.ค. 2022 เวลา 07:32 • ความคิดเห็น
ตอนโดนยืมเงิน
ไม่อยากให้เลย
แต่มักใจอ่อน
ทำอย่างไรให้ใจแข็ง?
เดี๋ยวนี้บางคนถึงขั้นเล่นของ
ก่อนออกจากบ้านไปยืมเงินใคร
จะจุดธูปไหว้พระ สวดขอพรเทวดา
อธิษฐานขอให้บุคคลอันเป็นเป้าหมายใจอ่อน
เห็นหน้าข้าพเจ้าแล้ว
จงยอมให้ข้าพเจ้ายืมแต่โดยดี
บางทีก็ตีสนิทข้ามปี
ทำดีด้วยทุกอย่าง
เพียงเพราะมุ่งหมายจะขอก้อนใหญ่ในไม่ช้า
คนยุคเราเงินขาดมือกันมาก
เลยกลายเป็นปัญหาทางใจของคนใกล้ตัว
หลายคนต้องเผชิญสถานการณ์ประเภท
‘เห็นแก่ความเป็นญาติพี่น้องเถอะ’
หรือ ‘ผิดเองที่ยอมสนิทด้วย’
หรือกระทั่ง ‘โทษฐานที่รู้จักกันห่างๆ’
หลายครั้งลำบากใจ
รู้สึกเหมือนเป็นคนใจดำอำมหิต
ถ้าเห็นคนรอบตัวตกทุกข์ได้ยากแล้วไม่ให้ยืมเงิน
ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ได้มีมาก
เผลอๆฐานะโดยรวมด้อยกว่าคนยืมอีก
การให้ทาน
ถ้าให้ ‘เศษเงินส่วนเกิน’ ได้โดยไม่ลำบากก็ดี
แต่ถ้ายังมีไม่มากขนาดเห็นเป็น ‘เศษเงิน’
ก็ควรมีหลักการวางใจให้อยู่ตรงที่ที่สบาย
อาจเริ่มจากการถามตัวเองง่ายๆว่า
๑) เงินจำนวนที่ให้ไป
ถ้าไม่ได้คืนแล้วเดือดร้อนในภายหลังไหม?
หากตอบตัวเองว่าเดือดร้อน แม้ทางใจ
ก็ให้บอกคนยืมไปเต็มปากเต็มคำว่า ‘มีไม่พอ’
คือไม่พอที่จะช่วยเขา ต้องเอาไว้ช่วยเรา
ช่วยครอบครัวตัวเองก่อน
แล้วบอกตัวเองว่า นี่เรียกว่าใจแข็ง ไม่ใช่ใจดำ
๒) รู้สึกว่าตัวเองใจร้าย ดูดายหรือเปล่า?
หากตอบตัวเองว่าเป็นทุกข์จากการไม่ช่วย
ก็ให้ยืนยันกับตัวเอง
และยืนยันกับคนยืมอย่างหนักแน่นว่า
การช่วยมีหลายวิธี
วิธีช่วยที่ดีที่สุด คือให้คำแนะนำ
ถ้าให้คำแนะนำแล้วยังไม่อิ่มใจ
เห็นเขายังงงๆ หาทางออกให้ชีวิตไม่เจอ
ก็อาจจะกุลีกุจอ วิ่งเต้นติดต่อสถาบันการเงินให้
ท่องไว้ว่า ถ้าเขาคิดจะคืนจริง
ก็ให้เขายืนยันความตั้งใจนั้นกับธนาคาร
อย่ามารับปากเอากับคุณ
ที่ไม่มีพนักงานทวงหนี้เป็นมือเป็นเท้า
แล้วก็บอกตัวเองด้วยว่า
ถ้าใจดีจริง ต้องช่วยให้เขาได้ดีจริงๆ
ให้ยืมง่ายไป เขาอาจเสียคน
เพราะยืมเพื่อน ยืมญาติ มันง่าย
ทำให้คนบางคนเคยตัวได้
เราอย่าไปมีส่วนทำให้เขาเสียคนเลย
นักยืมเงินญาติเกินครึ่ง
ยืมแล้วไม่อยากคืน คืนแล้วเสียดาย
อ้อยเข้าปากช้างแล้ว ทำไมต้องคายด้วย
ขาดเงินอีกก็หาญาติที่ยังไม่เคยยืมอีก
พวกนี้พอก่อหนี้สินท่วมหัวจนติดเป็นนิสัย
ก็มักมีชีวิตเป็นนักสร้างหนี้ไปจนตาย
เกิดใหม่ก็ต้องไปชดใช้ต่ออีก
เพราะใช้ชีวิตก่อกรรมในทางสร้างหนี้ไว้เป็นหลัก
พิจารณาเห็นเช่นนี้แล้ว
ก็คิดว่าเราอย่ามีส่วนส่งเสริม
ให้เขาได้มีสิทธิ์เป็นคนพรรค์นั้นเลย
ท่องไว้แม่นๆว่า ถึงแม้เราให้
ก็ไม่ได้แปลว่าช่วยให้เขาพ้นความเดือดร้อนเสมอไป
แต่อาจเพิ่มคนเดือดร้อนขึ้นอีกคนคือเราเอง
๓) ฝืนใจเพราะกลัวถูกด่าหรือเปล่า?
หากถูกต่อว่าซึ่งๆหน้า
ประมาณแล้งน้ำใจ
ที่ไม่ให้ความช่วยเหลือสำเร็จรูป คือ เงินเป็นก้อนๆ
ก็ให้ทำไว้ในใจว่า
คนเห็นแก่ตัว แล้งน้ำใจไม่ใช่เรา แต่เป็นเขาต่างหาก
จะเอาตัวรอด เอาที่สบายใจตัวเอง
แล้วมาว่าเรา โดยไม่คิดว่าเราจะรอดหรือเปล่า
หรือเราจะเป็นกังวลแค่ไหน
ขอให้ทราบว่า คนที่ยืมเงินไม่ได้แล้วด่าสาดนั้น
ไม่มีความเกรงใจ ไม่มีความละอายอยู่เลย
คนไม่มีความละอายนั้น พร้อมชักดาบตาไม่กระพริบแน่ๆ
ถ้าคุณจะต้องเสียเพื่อนหรือเสียญาติแบบนี้ไป
ก็อย่าได้เสียใจ หรือเสียดายอดีตดีๆที่ผ่านมา
เพราะอดีตที่ดีๆเหล่านั้น
อาจเป็นแค่ภาพลวงตาที่เขาสร้างขึ้น
ปกปิดจิตใจที่ดำมืดก็ได้
๔) รับได้ไหม
หากให้ยืมไปวันนี้ แล้วโดนเนรคุณในวันหน้า?
เป็นเรื่องแปลกแต่จริง
หลายๆคนช่วยใคร แทนที่เขาจะสำนึกบุญคุณ
กลับมาแว้งกัด ด้วยเหตุผลทางอารมณ์
แบบคนที่ไม่อยากรู้สึกว่าเป็นหนี้บุญคุณใคร
ต้องหาทางทำให้ผู้มีบุญคุณ
กลายเป็นคนเลวในสายตาของสังคม
เพื่อตัวเองจะได้ไม่ต้องเป็นคนเลว
ในความจำของตน และในสายตาของคนอื่น
คุณไม่มีทางรู้จักใครจริงล่วงหน้า
เพราะแม้แต่เขาเองก็อาจไม่ได้ตั้งใจเป็นอย่างนั้น
อารมณ์ติดหนี้บุญคุณมันอาจพาไปเองในวันหนึ่ง
สรุปคือ ท่องไว้ว่า
การให้ทานนั้นดี ให้ได้ก็ให้
คนที่ให้ได้แล้วให้นั้น
ยิ่งให้มากขึ้นเท่าไร
ยิ่งมีสิทธิ์เจอเพื่อนแท้มากขึ้นเท่านั้น
แต่ถ้าไม่มีพอจะให้แล้วฝืนใจให้
แบบนี้ยิ่งให้ ยิ่งมีสิทธิ์สร้างศัตรูคู่แค้นขึ้นมาแทน!
โฆษณา