2 ธ.ค. 2022 เวลา 00:30 • ข่าวรอบโลก
"สงครามพลังงาน" สู่ "วิกฤตค่าเงิน"
เมื่อสหรัฐอเมริกา และพันธมิตรนาโต สร้างกับดักให้ตัวเองในสงครามยูเครน
เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เมื่อรัสเซียเข้าปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ทำให้สหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลี แคนาดา สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และคณะกรรมาธิการยุโรป กำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินกับรัสเซีย และตัดการเชื่อมต่อธนาคารของรัสเซียจากระบบ SWIFT โดยหวังว่าจะทำให้รัสเซียโดดเดี่ยวจากระบบการเงินและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
นอกจากนี้สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ยังกำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น
- ระงับการนำเข้าก๊าซและน้ำมันจากรัสเซีย
- มาตรการกำหนดเพดานราคาพลังงาน
- ห้ามส่งออกสินค้าใช้ในระบบอุตสาหกรรมและการทหาร และสินค้าฟุ่มเฟือยไปยังรัสเซีย
- ห้ามนำเข้าทองจากรัสเซีย
- สั่งห้ามเที่ยวบินจากรัสเซีย
- บริษัทเอกชนในหลาย ๆ อุตสาหกรรมจากต่างประเทศ ได้ยุติการทำธุรกรรม ถอนเงินลงทุน และยกเลิกความร่วมมือกับรัสเซีย
1
The Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication : SWIFT คือเครื่องมือในการโอนเงินและหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ โดยเชื่อมโยงธนาคารทั่วโลกเอาไว้ด้วยกัน มีกระบวนการทำงานเพื่อแจ้งคำสั่งการโอนไปยังธนาคารปลายทางในต่างประเทศซึ่งผู้โอนเงินต้นทางไม่มีความสัมพันธ์ทางธุรกรรมกับธนาคารปลายทางในประเทศนั้น ๆ จึงทำธุรกรรมผ่านธนาคารตัวแทน (correspondent banking)
มาตรการดังกล่าว ผลักให้รัสเซียกระชับมือกับพันธมิตรอย่างจีนแน่นยิ่งขึ้น และหันไปทำการค้ากับประเทศในกลุ่ม BRICS (บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้) โดยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้แถลงในงานเสวนาวิชาการธุรกิจพลังงานระหว่างจีนกับรัสเซียครั้งที่ 4 ซึ่งจัดประชุมแบบออนไลน์ว่า จีนยินดีที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานกับรัสเซีย เพื่อพัฒนาพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนี่เป็นโอกาสให้รัสเซียและจีนรวมกลุ่มขั้วอำนาจใหม่ของเศรษฐกิจโลก
เรื่องการเงิน รัสเซียยังมีทางเลือกในการใช้เครื่องมือทางการเงินระหว่างประเทศด้วยระบบ System for Transfer of Financial Messages : SPFS ของธนาคารกลางรัสเซีย หรือระบบ Cross-Border Interbank Payment System : CIPS ของประเทศจีนแทนระบบ SWIFT ที่ถูกแบน แม้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง อีกทั้งปัจจุบันยังมีระบบธุรกรรมเงินผ่านระบบ web-based หรือแอปพลิเคชันของธนาคารอีกด้วย
นอกจากนี้ รัสเซียยังตอบโต้สหรัฐอเมริกาและนาโตด้วยการดึงกลุ่มการค้าเสรียูเรเซีย (EEU) ซึ่งประกอบด้วยประเทศเบลารุส, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, อาร์มีเนีย และรัสเซีย เข้าร่วมมือกับ BRICS เดินหน้าใช้เงินประจำชาติซื้อขายพลังงาน โดยไม่พึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียนี้ เป็นตลาดเศรษฐกิจเดียวที่มีขนาดประชากรกว่า 180 ล้านคน และกำลังขยายข้อตกลงทางการค้าไปยังเวียดนามและสิงคโปร์
2
ขณะที่สหรัฐอเมริกากำลังวุ่นวายอยู่กับการระดมพันธมิตรเข้าร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย เพื่อลงโทษที่เปิดฉากทำสงครามกับยูเครน พันธมิตรสำคัญอย่างซาอุดีอาระเบียก็หันไปกระชับความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น โดยทั้งสองประเทศประกาศซื้อขายน้ำมันด้วย "สกุลเงินหยวน" และซาอุดีอาระเบียยังตัดสินใจลดกำลังการผลิตน้ำมันของโอเปกลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยไม่ฟังคำทัดทานของสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด ความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกาและซาอุดีอาระเบียในฐานะคู่ค้าที่มีผลประโยชน์ร่วมกันมายาวนานจึงเริ่มแตกร้าว
1
และนี่เป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกาตัดสินใจผ่านร่างกฎหมาย No Oil Producing and Exporting Cartels : NOPEC ซึ่งจะมีผลให้สหรัฐอเมริกาสามารถฟ้องร้องสมาชิกโอเปกได้หากพบว่ามีการฮั้วราคาน้ำมันเกิดขึ้น ทั้งนี้ ในวุฒิสภายังเรียกร้องให้ยุติการขายอาวุธให้กับซาอุดีอาระเบียอีกด้วย และนี่จะเป็นการเร่งให้เกิดการใช้เปโตรหยวน แทนเปโตรดอลลาร์ เร็วขึ้น สหรัฐอเมริกาอาจจะไม่สามารถควบคุมเพดานราคาน้ำมันในตลาดโอเปกได้อีกต่อไป
และในที่สุดซาอุดีอาระเบียก็ได้ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ BRICS
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2565 ว่า ซาอุดีอาระเบียอาจปรับลดราคาน้ำมันดิบในเอเชียในเดือนมกราคม 2566 เนื่องจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางกำลังเผชิญภาวะกำลังการผลิตน้ำมันดิบล้นตลาด ประกอบกับจีนมีความต้องการน้ำมันดิบลดลงจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ Covid-19 รวมถึงเอเชียมีแนวโน้มจะสั่งซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียเพิ่มขึ้น จึงต้องลดราคาน้ำมันเพื่อเพิ่มอุปสงค์น้ำมันดิบจากประเทศในเอเชีย ซึ่งก็จะเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทยด้วย
การแซงก์ชั่นรัสเซีย ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรัสเซียเท่านั้น แต่กลับเป็นเหมือนบูเมอแรงวนกลับมาเล่นงานประเทศที่แซงก์ชั่น ซึ่งรัสเซียเป็นคู่ค้า โดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับพลังงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก จนทำให้เกิดภาวะขาดแคลน หลายประเทศในสหภาพยุโรปจึงได้รับผลกระทบเรื่องราคาพลังงาน และเป็นผลต่อห่วงโซ่อุปทานจนเกิดภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งก็รวมถึงสหรัฐอเมริกาเองด้วย และยังเป็นการกระตุ้นให้รัสเซียร่วมมือกับจีนเร่งภารกิจเปลี่ยนขั้วอำนาจโลกใหม่ให้เกิดเร็วยิ่งขึ้น
2
โฆษณา