2 ธ.ค. 2022 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ถอดรหัสกำไรสุทธิ ปี 2565 ไตรมาส 3 ใน SET
ช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยมีความแข็งแกร่งและฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนมาจากภาพรวมผลประกอบการที่เติบโตขึ้น
ซึ่งหลังจากที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ทยอยออกงบการเงินในไตรมาส 3 ออกมาครบแล้ว ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์และสรุปประเด็นที่น่าสนใจให้นักลงทุนได้อ่านกันอีกเช่นเคย
2
📌 SET มี P/E Ratio ต่ำลงเล็กน้อย ขณะที่ mai มี P/E Ratio สูงขึ้นในไตรมาสที่ 3/65 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
อ้างอิงข้อมูลจาก SET พบว่าดัชนี SET ปิดตลาดเดือนกันยายน 65 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายในไตรมาสที่ 3/65 อยู่ที่ 1589.51 ซื้อขายกันที่ P/E Ratio 17.52 ลดลงเมื่อเทียบกับดัชนี SET ปิดตลาดในเดือนมิถุนายน 65 (ไตรมาสที่ 2/65) ที่ P/E Ratio 18.46 ขณะที่ดัชนี mai ในเดือนเดียวกันอยู่ที่ 653.29 มี P/E Ratio 58.56 สูงขึ้นกว่าเดือนมิถุนายน 65 ที่ 50.98
ตารางที่ 1 ภาพรวมกำไรสุทธิของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ SET
📌 กำไรในตลาดโตแค่ไหนและโตจากอะไร
ภาพรวมใน 9 เดือนแรกของกำไรสุทธิของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ยังคงขยายตัวได้ดีที่ 14% โดยมี 3 อุตสาหกรรมหลักที่ผลักดันให้ขยายตัว ได้แก่
1
  • 1.
    บริการ (84%)
  • 2.
    เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (52%)
  • 3.
    ทรัพยากร (40%)
เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา โดยเกษตรและอุตสาหกรรมมีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิได้เยอะสุดหากเทียบไตรมาสที่ 3/65 กับไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 25% รองลงมาคือบริการที่ขยายตัวที่ 4% ส่วนทรัพยากรนั้นหดตัวสูงที่ -59% และสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวที่ -95%
1
อุตสาหกรรมธุรกิจการเงินและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีก็ยังคงเติบโตได้ดีในภาพรวม 9 เดือนแรก แต่มีการหดตัวเช่นกันหากมองในมุมไตรมาสเทียบไตรมาส โดยธุรกิจการเงินมีกำไรสุทธิโต 17% ใน 9 เดือนแรกและหดตัว -20% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เทคโนโลยีมีการขยายตัวที่ 6% และ -20% ตามลำดับ
ขณะที่อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค (-75%) สินค้าอุตสาหกรรม (-44%) อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (-2%)
ยังคงมีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ 9 เดือนแรกเป็นลบ เป็นปัจจัยลบต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคเริ่มมีสัญญาณในการฟื้นตัวบางส่วน โดยมีอัตราการเติบโตไตรมาสที่ 3/65 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ 0.2% ซึ่งดีขึ้นหากเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก
1
📌 อุตสาหกรรมไหนโดดเด่นทั้งรายได้และกำไร
ต่อมา เรามาดูผลการดำเนินงานตลาดหลักทรัพย์ทั้ง SET และ mai ในไตรมาสที่ 3/65 รายหมวดธุรกิจ โดยแบ่งข้อมูลเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
  • 1.
    กลุ่มที่ 1 รายได้และกำไรสุทธิเติบโตขึ้น
  • 2.
    กลุ่มที่ 2 รายได้ลดลง แต่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น
  • 3.
    กลุ่มที่ 3 รายได้และกำไรสุทธิลดลง
  • 4.
    กลุ่มที่ 4 รายได้เพิ่มขึ้น แต่กำไรสุทธิลดลง
ตารางที่ 2 ความแข็งแรงของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ SET แบ่งได้ 4 กลุ่ม
ในที่นี้จะขอพูดถึงตลาด SET ก่อน (ตารางที่ 2) ในหมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ทำกำไรเติบโตมากสุดสะท้อนถึงการบริโภคของประชาชนที่เพิ่มขึ้นเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา
3 หมวดธุรกิจย่อยในธุรกิจการเงินโดยรวมยังทำรายได้และกำไรได้ดีในไตรมาสที่ 3/65 แม้ว่าจะทำกำไรได้น้อยกว่าในไตรมาสที่ 2/65 ก็ตาม โดย 3 หมวดธุรกิจอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น ดังนี้
1) ธุรกิจธนาคาร ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งจากต่างประเทศและในไทย อีกทั้งยังฟื้นตัวจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงของหลายธนาคาร
2) ประกันภัยและประกันชีวิต กลับมากำไรเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากกำไรลดลงในไตรมาสก่อน กลุ่มนี้ก็ได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน นอกจากนี้ ผลกระทบจากการเคลมประกันโควิด-19 ก็ถูกคำนวณในหลายไตรมาสก่อนหน้าแล้ว
3) เงินทุนและหลักทรัพย์ ยังคงทำผลงานได้ดีต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกัน การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจส่งผลต่อธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคในอนาคต
อย่างไรก็ดี ธุรกิจเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ เหมืองแร่ ที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ 4 คือ มีทั้งรายได้และกำไรลดลง สะท้อนมาจากภาวะสินค้าขาดตลาดคลี่คลายลงประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลง
ในส่วนของผลประกอบการในตลาด mai (ตารางที่ 3) มีทิศทางแตกต่างกับตลาด SET ในบางส่วน โดยหมวดอสังหาริมทรัพย์มีรายได้และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับตลาด SET แต่เกษตรและอุตสาหกรรมอาหารมีรายได้ลดลงแต่กำไรเพิ่มขึ้น แตกต่างกับตลาด SET ที่เพิ่มขึ้นทั้งคู่
1
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือธุรกิจการเงินที่มีรายได้และกำไรสุทธิลดลง สวนทางกับธุรกิจการเงินในตลาด SET ที่มีรายได้และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น
ตารางที่ 3 ความแข็งแรงของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ mai แบ่งได้ 4 กลุ่ม
กล่าวโดยสรุป ทิศทางผลการดำเนินงานในหลายอุตสาหกรรมมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าช่วงไตรมาสก่อน สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่กำลังฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ การวางกลยุทธ์ในลงทุนยังคงต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่เกิดมาจากด้านต้นทุนที่สูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งในรัสเซีย-ยูเครน หรือจีน-ไต้หวัน
1
และความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ ความผันผวนของสินทรัพย์จะส่งผลให้ SET Index ผันผวนตามได้เช่นกัน
ดังนั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่ผลประกอบการมีทิศทางขาขึ้นและมีปัจจัยสนับสนุนอื่นที่ดี เพื่อเพิ่มโอกาสให้คุณได้ลงทุนได้ถูกจังหวะและได้กำไรในช่วงเวลาเช่นนี้
1
ผู้เขียน : ธนัชญา ปิยวรไพบูลย์ Economics Data Analytics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Source : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
โฆษณา