2 ธ.ค. 2022 เวลา 10:54 • ปรัชญา
“อำนาจ” ของ ผี, พราหมณ์, พุทธ
① ผี, พราหมณ์, พุทธ ล้วนมีอำนาจเหนือธรรมชาติ อันเป็นความเชื่อของมนุษย์ ที่ถูกมนุษย์ด้วยกันสร้างขึ้น ตั้งแต่ยุคดั้งเดิมดึกดำบรรพ์สืบทอดถึงปัจจุบัน
1
คนทุกวันนี้เชื่อว่าไทยเป็น “พุทธแท้” มาก่อน โดยไม่มีอย่างอื่นปะปนแปดเปื้อน
1
แต่แท้จริงมีพยานหลักฐานและร่องรอยจำนวนมาก ยืนยันสอดคล้องว่าพุทธในไทยไม่เคยเป็นพุทธบริสุทธิ์อยู่โดดๆ เพราะล้วนมีผีกับพราหมณ์ปะปนเป็นเนื้อเดียวกันตั้งแต่ยุคแรกประดิษฐานในสุวรรณภูมิ ราว 2,000 ปีมาแล้ว จนถึงทุกวันนี้ยิ่งปะปนกันมากมิได้ต่างจากอดีต
1
② ผี หมายถึงอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งเป็นระบบความเชื่อดั้งเดิมของมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ทั่วโลกเมื่อหลายหมื่นหลายพันปีมาแล้ว ก่อนมีศาสนา เช่น พราหมณ์, พุทธ, ฯลฯ
ผีบรรพชน เป็นผีใหญ่สุดของตระกูลไทย-ลาว เพศหญิง สิงสถิตอยู่ฟ้ากับดิน มักเรียกอย่างคุ้นเคยสั้นๆว่า ผีฟ้า แต่หมายถึงฟ้าดิน
ผีฟ้า เป็นผีใหญ่สุดอยู่ฟ้าดิน หรือผู้เป็นใหญ่ของฟ้าดิน ตรงกับคำว่า เจ้าฟ้า
ควบคุมวิถีชีวิตคนทั้งหลาย เช่น รักษาโรคภัยไข้เจ็บ, ให้น้ำเป็นฝนตกลงมาหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ธัญญาหาร, พิชิตคนพาล อภิบาลคนดี, ฯลฯ
คนจึงเรียกแถนผู้เป็นผีใหญ่สุดของฟ้าดินว่า ผีฟ้าพญาแถน แล้วเรียกเมืองที่แถนบันดาลให้ไว้ว่าเมืองเจ้า แต่ออกเสียงเป็น เซ่า, ซวา, ชวา ปัจจุบันคือเมืองหลวงพระบางในลาว
1
คำว่า ผี กับ เจ้า มีความหมายเดียวกัน คือผู้เป็นใหญ่ ยังใช้ในภาษาพูด เช่น ไหว้ผีไหว้เจ้า, ไหว้เจ้าไหว้ผี
ผีฟ้า ใช้แทนคำว่า พระราชา, กษัตริย์ ก็ได้ เช่น เมื่อกล่าวถึงกษัตริย์กรุงศรียโสธร หรือนครธม ในศิลาจารึกวัดศรีชุม รัฐสุโขทัย จึงจารึกว่า “ผีฟ้าเจ้าเมืองศรีโสธรปุระ”
③ พราหมณ์, พุทธ คือระบบความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติ อย่างเดียวกับผี แต่มีขึ้นหลังผี
เป็นศาสนาจากอินเดีย(ที่อาจรับจากที่อื่นอีกต่อหนึ่งมาก่อนแล้ว) แผ่ถึงสุวรรณภูมิและไทย ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือราวหลัง พ.ศ. 500
เมื่อแผ่มาถึงก็ริบอำนาจของศาสนาผีด้วยความรุนแรง ให้คนพื้นเมืองหันมายอมรับนับถือพราหมณ์, พุทธ แทนผี
แต่คนพื้นเมืองจำนวนมากยอมบางอย่าง ไม่ยอมบางอย่าง ทางฝ่ายพราหมณ์, พุทธ จึงประนีประนอมจำยอมยกย่องผีในบางเรื่อง เช่น
ยอมรับโล้ชิงช้าของผีมาอยู่ในพิธีพราหมณ์ตรียัมปวาย
ยอมรับทำขวัญของผีมาอยู่ในพิธีบวชพระของพุทธ
เทวดา เป็นสิ่งที่คนฝ่ายพราหมณ์กับพุทธสมมุติขึ้นว่ามีอำนาจเหนือธรรมชาติ ตรงกับคำว่าผี นั่นเอง
มีตัวอย่างอยู่ในโองการแช่งน้ำ เรียกพรหม เทวดาพราหมณ์ฮินดู ผู้สร้างและตรวจสอบโลกว่า ขุนแผน คือ แถน ซึ่งเป็นผีฟ้าดินพื้นเมืองตระกูลไทย-ลาว
แต่เมื่อคนพื้นเมืองสุวรรณภูมิรับคำว่าเทวดามาแล้ว ก็ยกย่องเทวดาของพราหมณ์, พุทธ อยู่เหนือกว่าผีพื้นเมืองที่ถูกครอบงำให้เหยียดว่าเลว
④ ผี, พราหมณ์, พุทธ อยู่ปะปนกัน มีหลักฐานเก่าสุดในโองการแช่งน้ำ วรรณคดีเก่าแก่ยุคก่อนอยุธยา สืบจนปัจจุบัน
เนื้อเรื่องโองการแช่งน้ำเริ่มด้วยร่ายสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามในศาสนาพราหมณ์ คือ วิษณุ(พระนารายณ์), ศิวะ (พระอีศวร), พรหม (พระพรหม) โดยไม่ระบุว่าเทวดาองค์ไหนอวตารลงมาเป็นกษัตริย์ครองอโยธยาศรีรามเทพ (ยุคก่อนอยุธยา) ตามลัทธิเทวราชของพราหมณ์
แต่กษัตริย์ในโองการแช่งน้ำเป็น “สมมติราช” หมายถึงเลือกคนธรรมดาเป็นราชาที่มี “ธรรมิกราช” คือปกครองโดยธรรมตามปรัชญาพุทธเถรวาท
เท่ากับเป็นพยานว่ากษัตริย์บ้านเมืองลุ่มน้ำเจ้าพระยาโบราณไม่ “อวตาร” เป็นเทวราชอย่างกัมพูชา แต่เป็นสมมติราช กับ ธรรมิกราช ที่เน้นเลือกคนใดคนหนึ่งเป็นราชาหรือกษัตริย์ ซึ่งมีอยู่ในพระไตรปิฎก เรียกอัคคัญสูตร ดังสืบถึงปัจจุบันมีสร้อยพระนามว่า “เอนกนิกรสโมสรสมมติ”
โองการแช่งน้ำท้ายสุดต้องเชิญผีมาเป็นพยานในพิธีถือสัตย์สาบาน เช่น “ผีดง ผีหมื่นถ้ำล้ำหมื่นผา มาหนน้ำหนบก—ล้วนผีห่าผีเหว เร็วยิ่งลมบ้า หน้าเท่าแผง—”
สามัญชนปัจจุบันมีพิธีไหว้ครูที่เลียนแบบราชสำนักโบราณ ล้วนเต็มไปด้วย ผี, พราหมณ์, พุทธ มีพยานอยู่ในเพลงดนตรีปี่พาทย์ประโคมเพลงหน้าพาทย์
เริ่มต้นเป็นพุทธ ด้วยการประโคมนมัสการพระรัตนตรัยด้วยเพลงสาธุการ แล้วตามด้วยเป็นพราหมณ์ โดยเพลงสัญลักษณ์เทวดา เช่น ตระนารายณ์บรรทมสินธุ์, ตระพระพิราพ, ฯลฯ กับเป็นผีในพิธีเข้าทรง
นอกจากนั้น ผี, พราหมณ์, พุทธ ยังมีอยู่ใน คำไหว้ครูเสภา ดังนี้
สืบนิ้วจะประนมเหนือเกศา
ไหว้พระพุทธพระธรรมล้ำโลกา พระสงฆ์ทรงศีลาว่าโดยจง
คงคายมนามาเป็นเกณฑ์ พระสุเมรุหลักโลกสูงระหง
ดินน้ำลมไฟอันมั่นคง จึงดำรงได้รอดมาเป็นกาย
ไหว้คุณบิดาแลมารดร ครูพักอักษรสิ้นทั้งหลาย
อนึ่งจะบังคมองค์นารายณ์ อันสถิตย์แทบสายสมุทไทย
เอาพระยานาคราชเป็นอาสน์แก้ว หามีเหตุไม่แล้วหาตื่นไม่
ทรงสังข์จักรคทาเกรียงไกร ไวยกูณฐ์มาเป็นพระรามา
อนึ่งจะบังคมบรมพงศ์ ทรงหงศ์เหินระเห็จพระเวหา
ไหว้องค์พระอิศวรเจ้าโลกา พระนารายน์รามาธิบดี
ไหว้พระฤๅษีสิทธิ์แลคนธรรพ์ พระวิศณุกรรม์เรืองศรี
สาปสรรเครื่องเล่นในธรณี จึงได้มีปรากฏแต่ก่อนมา ฯ
⑤ “อำนาจ” ของ ผี, พราหมณ์, พุทธ ถูกสร้างให้มีขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ตั้งแต่ยุคดั้งเดิม
แต่จะมีอย่างไร? มากหรือน้อยขนาดไหน? ย่อมต่างกันตามกาละเทศะคือเวลาและสถานที่ โดยเห็นได้จากประเพณีพิธีกรรม และศิลปกรรมทั้งหลาย
ประเพณีพิธีกรรม สำคัญที่สุดของมนุษย์ที่แสดงอำนาจของผี, พราหมณ์, พุทธ คือประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย
ทำให้พระเจ้าสุริยวรมันแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา สร้างปราสาทนครวัดให้เป็นสัญลกัษณ์หมายถึงเขาพระสุเมรุ หรือ“วิษณุโลก”ที่สถิตของพระวิษณุ เพื่อพระองค์จะสถิตที่นั่นเมื่อสวรรคต
ศิลปกรรม ที่มาจากอำนาจของผี, พราหมณ์, พุทธ รวมอยู่เป็นศาสนสถานซึ่งมีมากทั่วโลก ตั้งแต่ประติมากรรม, สถาปัตยกรรม, จิตรกรรม รวมถึงวรรณกรรม, ดนตรี, นาฏศิลป์
ทั้งประเพณีพิธีกรรมและศิลปกรรมจากอำนาจของผี, พราหมณ์, พุทธ ล้วนมีขึ้นเพื่อยอยกการเมืองการปกครองแบบราชอาณาจักรให้มั่งคั่งและมั่นคง
....
(ต้นฉบับปาฐกถาแขวนเสรีภาพฯ  อาทิตย์ 18 มีนาคม 2555  “อำนาจ” ของ ผี, พราหมณ์, พุทธ
สุจิตต์ วงษ์เทศ)
โฆษณา