4 ธ.ค. 2022 เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์
Theodor Amandus Gottsche - วิศวกรรถไฟขวัญใจชาวปากน้ำ
เดนมาร์กถือเป็นชาติหนึ่งที่เดินทางมาทำงานในราชสำนักสยามในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 - กลางศตวรรษที่ 20 ในฐานะนักเดินเรือ ตำรวจ ทหารเรือ รวมไปถึงวิศวกรตามบริษัทต่างๆ
มีวิศวกรชาวเดนมาร์กที่เข้ามาในประเทศไทย มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ รวมไปถึงสร้างสะพานเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ต่อชาวบ้านย่านปากน้ำ
ชื่อของเขาธีโอดอร์ อมานดุส เกิตเช่ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ “ที.เอ. เกิตเช่”
จากเดนมาร์กสู่สยาม
เกิตเช่เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.1859 ที่วอร์ดิงบอร์ก (Vordingborg) ทางตอนใต้ของเกาะซีแลนด์ ประเทศเดนมาร์ก ต่อมาได้เดินทางเข้ามาทำงานในสยามในปี ค.ศ. 1882 จากคำชักชวนพระยาชลยุทธ์โยธิน (แอนเดรียส ดู เปลิส เดอ ริเชลิว) ในฐานะนายทหารเรือและเป็นผู้บัญชาการประจำป้อมผีเสื้อสมุทร และมีส่วนร่วมในการรบกับฝรั่งเศสที่ปากน้ำในวิกฤติการณ์ ร.ศ.112 ในเดือนกรกฏาคม ค.ศ.1893 อีกด้วย ซึ่งการพิพาทในครั้งนี้ เกิตเช่ได้รับพระราชทานเป็น “ขุนบริพัตรโภคกิจ”
แอนเดรียส ดู เปลซิส เดอ ริเชลิว (พระยาชลยุทธ์โยธิน) ผู้ชักชวนเกิทเช่ทำงานในสยาม
กัปตันฝรั่งของชาวปากน้ำ
นอกจากการเป็นทหารเรือ เกิตเช่ยังรับหน้าที่เป็นผู้ควบคุมหัวจักรจูงขบวนเสด็จในพิธีเปิดทางรถไฟสายปากน้ำเมื่อวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1893 ซึ่งถือเป้นทางรถไฟเอกชนสายแรกของประเทศไทย และหันมาเป็นดำเนินธุรกิจรถไฟปากน้ำอย่างเต็มตัวในปี ค.ศ.1899
ตารางเวลา หัวรถจักร และเส้นทางรถไฟสายปากน้ำ
ตลอดระยะเวลาทำหน้าที่เป็นกัปตันควบคุมรถไฟสายปากน้ำ อีกทั้งสนับสนุนงานมหรสพงานพระสมุทรเจดีย์ที่ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ทำให้เขากลายเป็นที่รักของชาวปากน้ำ
โดยเกิตเช่มีบ้านพักอยู่ในซอยวัดกลาง ไม่ไกลจากตลาดปากน้ำ อีกทั้งยังแต่งงานสาวปากน้ำ (1868-1922) มีบุตรธิดาหลายคน ได้แก่ อัลเบิร์ต (1896-1990), ดูอัท (1899-1901), คาร์ล (1901-1974), เอ็มม่า (1903-??), ลิสเบ็ท (1904-1912), ลิเลียน (1909-10), เบอร์ธา ที่ได้แต่งงานกับปีเตอร์ อุลริช กงสุลเยอรมัน ในปี ค.ศ.1914 และคาริน ที่ได้แต่งงานกับจอร์จ แฮมมอนด์ส บรรณาธิการสำนักข่าวมาลายา ทริบูนในปี ค.ศ.1932
หลุมฝังศพตระกูลเกิทเช่ ณ สุสานโปรแตสแตนท์ ภาพจาก Danish Graves in Thailand
นอกจากเกิตเช่ทำงานในบริษัทรถไฟปากน้ำแล้วยังทำงานในกรมรถไฟหลวง และดำเนินธุรกิจเกี่ยวยางพารา, มะพร้าว, ดีบุก รวมไปถึงผู้ฝากเงินรุ่นบุกเบิกและเป็นตัวแทนของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้อีกด้วย
เกิตเซ่ได้รับพระราชทานนามสกุล “คเชศะนันท์” จากรัชกาลที่ 6 ในปี ค.ศ.1921 และเมื่อเกิตเช่ทำงานในสยามครบ 50 ปี ในปี ค.ศ.1931 ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างสะพานข้ามคูขนาดเล็กบริเวณบ้านพักของท่าน (ซอยวัดกลาง) และตั้งชื่อสะพานแห่งนี้ว่า “สะพานเกิทเช่” พร้อมจารึกป้ายโลหะระบุระยะเวลาที่ทำงานในสยาม (ปัจจุบันป้ายแห่งนี้ไม่ได้อยู่ที่สะพานแล้ว)
สะพานเกิทเช่ หลังวัดกลางวรวิหาร
ลาลับที่เดนมาร์ก
หลังจากที่ทำงานในสยามครบ 50 ปี เกิทเช่จึงลาออกจากบริษัทรถไฟปากน้ำและเดินทางกลับเดนมาร์กเพื่อนรักษาสุขภาพในเดือนธันวาคม ค.ศ.1932 โดยได้แวะพักที่แคลิฟอร์เนียชั่วระยะหนึ่ง ก่อนถึงแก่กรรมวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ.1935 ณ เอสบีเยร์ (Esbjerg) ทางตะวันตกของเดนมาร์กด้วยวัย 76 ปี
ต่อมาเรื่องราวของเกิตเช่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหอชมเมืองสมุทรปราการ ในฐานะเป็นจุดเริ่มต้นของระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดสมุทรปราการและประเทศไทย
เรื่องของทางรถไฟสายปากน้ำ
โฆษณา