4 ธ.ค. 2022 เวลา 09:59 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
รีวิว She Said: พูด...ไม่ตะโกน
===
🤫 หนัง Journalism ขับเคลื่อนสังคม
หากคุณชอบหนังเกี่ยวกับเบื้องหลังการแฉครั้งสำคัญ สะเทือนโลก ขับเคลื่อนสังคม ของสำนักข่าวระดับโลก และสร้างจากเรื่องจริง ข่าวจริง อย่างเรื่อง Spotlight หรือ The Post คุณอาจจะชอบ She Said กับภารกิจแฉข่าวคาวของ Harvey Weinstein อดีตเจ้าพ่อแห่ง Miramax และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดย New York Times
She Said เน้นตามติดโปรเซสการขุดคุ้ยเขียนข่าวดังกล่าวและชีวิตส่วนตัว…ในบทบาทของมนุษย์แม่… ของสองนักข่าวสาวไฟแรง Megan Twohey (Carey Mulligan จาก Suffragette และ Promising Young Women) และ Jodi Kantor (Zoe Kazan จาก The Big Sick และ What If)
🤫 Sexual Harassment กับเสียงที่ถูกปิดกั้น
วงการบันเทิงหรือฮอลลีวู้ดคือความฝันของผู้หญิงหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะฝันอยากเป็นนักแสดง ผู้กำกับ หรือทำงานเบื้องหลังต่าง ๆ ในกองถ่าย แต่ในขณะเดียวกัน วงการที่เปลือกนอกดูสวยงามกลับกลายเป็นฝันร้ายของหญิงสาวหลายคนเพราะความเน่าเฟะของระบบทุนนิยมและชายเป็นใหญ่ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาแค่ในอุตสาหกรรมระดับโลกเช่นฮอลลีวู้ด หากแต่ Sexual Harassment ยังเป็นปัญหาในที่ทำงานในทุก ๆ วงการทั่วโลก
ที่ผ่านมาปัญหา Sexual Harassment โดยเฉพาะคดีข่มขืน เป็นปัญหาที่แก้ไขและพูดถึงได้ยาก ไม่ใช่เพราะความอับอายของหญิงสาวที่ถูกกดทับด้วยปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ระบบชายเป็นใหญ่ในที่ทำงานยังส่งผลทำให้เธอจำเป็นต้องปิดปากเงียบ เพื่อความมั่นคงและอยู่รอดในหน้าที่การงานหรือดำรงชีพ
ผลงานนี้ของสองสาวและทีมแห่ง New York Times จึงจุดประกาย #metoomovement ให้ผู้หญิงทั่วโลกที่เคยถูกล่วงละเมิดหรือกดขี่ทางเพศได้กล้าออกมาเปิดเผยและแชร์ประสบการณ์อันเลวร้ายของพวกเธอ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสิทธิสตรีและระบบชายเป็นใหญ่ในสังคม
🤫 พูด...ไม่ตะโกน
เราชอบสไตล์การเล่าเรื่องของ She Said ที่ไม่ได้เล่าอย่างตะโกนหรือเร่งรีบ จนกลายเป็นหนัง Thriller หรือหนังสืบสวนสอบสวนทั่วไป แต่หนังค่อย ๆ เล่าไปตามกระบวนการ ที่ทุกฝ่ายต้องใจเย็น ที่สำคัญคือต้องเห็นอกเห็นใจ เข้าใจ ให้เกียรติและเคารพการตัดสินใจของเหยื่อ ที่จะร่วมมือหรือไม่ร่วมมือมากน้อยแค่ไหน เพราะแต่ละคนก็มีข้อจำกัดหรือพื้นฐานชีวิตแตกต่างกัน
รวมถึงการเล่าถึงบทบาทอื่น ๆ ของสองนักข่าว ในฐานะแม่และภรรยา ที่เหนื่อยไม่แพ้กัน แต่ยังต่อสู้เพื่อผู้หญิงคนอื่น ๆ และเพื่อลูกสาวของตัวเองจะได้ไม่เติบโตไปใน “สังคมที่คิดว่าการปกปิดการถูกล่วงละเมิดเป็นเรื่องปกติ”
🤫 Cinematic Language ที่จัดวางอย่างตั้งใจ
อีกอย่างที่เราชอบคือภาษาหนัง (Cinematic Language) เราจะได้เห็นว่า ออฟฟิศของ New York Times รายล้อมไปด้วยกระจกใส ซึ่งไม่ได้แสดงแค่ความโปร่งใส หรือความพร้อมเปิดโปงเท่านั้น หากแต่สะท้อนถึงภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อของคนที่อยู่ในที่แจ้งอย่างพวกเขา (เป็นหนังเรื่องแรกที่ถ่ายจริงในตึกออฟฟิศ New York Times จริง ๆ) ทุกครั้งที่พวกเขานัดคุยกันก็มักมีแก้วน้ำเป็นส่วนประกอบเด่นอยู่ในฉากอย่างตั้งใจ (ไม่ใช่จัดแค่เหมือนเป็นพร็อพบนโต๊ะอาหารดาษดื่นทั่วไป)
นอกจากนี้เรายังอนุมานล่วงหน้าได้คร่าว ๆ อีกว่า ผู้เกี่ยวข้องในฉากนั้น ๆ พร้อมจะเปิดเผยหรือร่วมมือหรือไม่ เช่น ถ้าฉากนั้น ตัวละครนัดคุยกันในร้านกาแฟที่แจ้งและเต็มไปด้วยกระจก นั่นเดาได้เลยว่า คนคนนี้พร้อมลุย 100%, ถ้าฉากนั้น ตัวละครเจอกันในที่ที่ดูปิด ๆ หน่อย หรือยังอยู่ในบ้านที่เปรียบเสมือนบังเกอร์หรือหลุมหลบภัย นั่นอาจเดาได้ว่า พวกเขายังไม่พร้อมที่จะร่วมมือ หรือถ้าอยู่ในบ้านแต่คุยในบริเวณที่เปิดกว้างหน่อย ก็อาจจะร่วมมือแบบไม่เต็มตัวหรือไม่เปิดเผยมากนัก เช่น ฉากที่บ้านของ Gwyneth Paltrow
ด้วยความที่หนังสร้างจากเรื่องจริง เล่าคล้ายกึ่งสารคดี ส่วนใหญ่มักเป็นฉากสนทนาของนักข่าวกับบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางโทรศัพท์ อีเมล และการนัดพบตัวต่อตัว ซึ่งโดยธรรมชาติ หนังไม่สามารถยัดรายละเอียดหรือบางสิ่งบางอย่างลงไปในไดอะล็อกหรือบทสนทนาได้อย่างโจ่งแจ้งทั้งหมด แต่ภาษาของหนังช่วยชี้ให้เราเข้าใจบริบทและสถานการณ์ของตัวละครได้มากขึ้นถึงแม้จะไม่มีใครเอื้อนเอ่ยมันออกมา
ทุก ๆ การเยี่ยมเยือนและการนัดพบของแต่ละตัวละคร เราจะได้เห็นว่า หนังมีความตั้งใจที่จะสื่อว่า ทุก ๆ คนล้วนมีครอบครัวอยู่ข้างหลัง เหยื่อทุกคนมีพ่อแม่หรือสามี และทุกครอบครัว ไม่ใช่แค่เหยื่อ ก็ล้วนมีหรือเคยมีผู้หญิงกันทั้งสิ้น ซึ่งมันยิ่งทำให้คนดูเข้าใจมากขึ้นว่าการล่วงละเมิดทางเพศคนคนนึง มันส่งผลกระทบต่อคนคนนั้นและคนรอบข้างของเขามากมายขนาดไหน
ทั้งเรื่องเราจะไม่ได้เห็นฉากที่เหยื่อถูกล่วงละเมิดเลย นับเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดของคนทำหนัง เพราะฉากเหล่านั้นอาจ trigger ความรู้สึกหรือสภาพจิตใจของเหยื่อและญาติได้ (ไม่ใช่แค่ในเคสของ Harvey Weinstein ซึ่งมีเป็นร้อย ๆ คนเท่านั้น แต่หมายถึงผู้ที่เคยตกอยู่ในเหตุการณ์เหล่านี้เช่นเดียวกัน)
การเลือกไม่ให้คนดูได้เห็นหน้าของ Harvey Weinstein ก็เป็นการตัดสินใจที่ดี ไม่ใช่แค่เพราะเราไม่อยากให้ค่าผู้ชายหรืออาชญากรคนนี้เท่านั้น แต่เราเชื่อว่า การปรากฏตัวของ Harvey Weinstein บนจอภาพยนตร์ในช่วงที่สถานการณ์ยังค่อนข้างสดใหม่อยู่แบบนี้ (ถึงแม้จะเป็นเพียงตัวแสดงแทน) ก็อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของเหยื่อหรือญาติของเหยื่อเช่นกัน นอกจากนี้ มันยังป้องกันให้คนดูไม่ stereotype ได้ว่า คนลักษณะแบบนี้คือนักข่มขืน เพราะในชีวิตจริง ไม่ว่าจะรูปร่างหน้าตาอย่างไร ก็อาจเป็นอาชญากรได้ทั้งสิ้น
🤫 Bradd Pitt เป็นโปรดิวเซอร์ เพราะ.../ทั้งที่....???
She Said มี Brad Pitt เป็นหนึ่งในผู้อำนวยการสร้าง เขาเคยคบหากับ Gwyneth Paltrow นักแสดงสาวที่ถูกกล่าวถึงบ่อยมากในหนังเรื่องนี้ในฐานะหนึ่งในเหยื่อของ Harvey Weinstein ซึ่ง Brad Pitt รู้มาตลอดว่าเธอถูกล่วงละเมิดในช่วงที่พวกเขาคบกับอยู่ ก่อนที่เขาจะแต่งงานกับ Angelina Jolie ซึ่งก็เคยถูก Harvey Weinstein ล่วงละเมิดตั้งแต่ก่อนเธอจะโด่งดังเช่นกัน
แต่มีความย้อนแย้งอยู่ที่ว่า ก่อนหน้านี้ Brad Pitt ก็เคยขอให้ Harvey Weinstein มาช่วยอำนวยการสร้างหนังของเขา ทั้งที่เขารู้พฤติกรรมฉาว ๆ ของ Harvey Weinstein มาตลอดสิบ ๆ ปี จนเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เขาต้องมีปัญหากับ Angelina Jolie และเลิกรากันในที่สุด
อ่านรีวิว
===
#kwanmanie
#รีวิวหนัง #SheSaid #MeToo
===
📌 ช่องทางการติดตาม Kwanmanie
📌 ช่องทางการติดต่อ Kwanmanie >>>
LINE: @kwanmanie
โฆษณา