5 ธ.ค. 2022 เวลา 17:24 • หนังสือ
จิด.ตระ.ธานี #ป้ายยาหนังสือ : #ผู้พิทักษ์ต้นการบูร : クスノキの番人 | The Camphorwood Custodian
Soft power ที่เป็นดั่งตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้ความนิยมคลั่งไคล้ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นแผ่กระจายไปทั่วโลก รวมถึงเข้าสู่เมืองไทยได้อย่างแนบเนียนคือ #มังงะ (漫画 / マンガ : Manga) หรือ #การ์ตูนญี่ปุ่น ผมเป็นคนหนึ่งที่ #เสพติดการอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น มาตั้งแต่เด็กๆ* หากถามว่าอ่าน “มังงะ” ทำให้รู้จักอะไรบ้าง?
ก็...มีตั้งแต่เรื่องพื้นๆ อย่าง #ภูเขาไฟฟูจิ (富士山) หอคอยสื่อสาร #โตเกียวทาวเวอร์ (東京タワー) #ขนมดังโงะ (団子) ชุดประจำชาติ #กิโมโน (着物) #ซามูไร (侍) #นินจา (忍者) #ยากูซ่า (ヤクザ) #เสื่อทาทามิ (畳) เทศกาลชม #ดอกซากุระ (桜) บานในฤดูใบไม้ผลิ #ฮานามิ (花見) #ศาสนาชินโต (神道) ซุ้มประตูศาลเจ้าสีแดงสด #โทริอิ (鳥居) ร่างทรงหญิง #มิโกะ (巫女) เทพเจ้าสุนัขจิ้งจอก #อินาริ (稲荷)
ไปจนถึงตำนานภูติผีปีศาจ #โยไก (妖怪) ของญี่ปุ่น อาทิ ปีศาจจมูกยาว #เท็งงุ (天狗) #ผีนับจาน สุดดัง ซะระยะชิกิ (皿屋敷) หรือ ‘โอคิคุ’ คำพูดประโยคสั้นๆ #อิตาดาคิมัส (いただきます) ที่คนญี่ปุ่นมักพูดติดปากเสมอก่อนกินข้าว หรือคำว่า ‘หน่านิ๊’ (なに) ที่แปลว่า “อะไร”, ‘อิไต้’ (いたい) ที่แปลว่า “เจ็บ”, ‘คิโมจี้’ (気持ちいい) ที่แปลว่า “รู้สึกดีจังเลย...ตะเอง” อุ้ย..!!! เหอๆ และยังมีอีกมากมายร้อยแปดอย่าง
ผมไม่ถึงขนาดเป็นติ่งญี่ปุ่น แต่หาก...มีอะไรที่ชูอัตลักษณ์ความเป็นญี่ปุ๊น..ญี่ปุ่น ที่ผมซึมซับผ่านมังงะมาตั้งแต่เด็กๆ โดยไม่รู้ตัวแล้วล่ะก็ จะรู้สึกชอบและสนใจเป็นพิเศษ ‘Kusunoki no Bannin : クスノキの番人’ หรือชื่อไทยคือ ‘ผู้พิทักษ์ต้นการบูร’ นวนิยายแนวสืบสวนลึกลับของเจ้าพ่อ #นิยายรหัสคดี (Mystery novel) อย่าง ฮิงาชิโงะ เคโงะ (東野 圭吾 : Keigo Higashino) ที่ผูกเส้นเรื่องคาบโยงกับวัฒนธรรมและความเชื่อ (สายมู) แบบญี่ปุ่น ได้อย่างลึกลับ ลงตัว น่าค้นหาว่าอะไร? คือความจริงแท้
เด็กหนุ่มสุดอาภัพนาม ‘นาโออิ เรโตะ’ คือตัวดำเนินเรื่องหลักในเรื่องนี้ ที่จับพลัดจับผลูต้องเข้ามาพัวพันกับปริศนาลึกลับ ที่ตัวเขาเองก็ยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร? ผ่านคำกล่าวขานที่ร่ำลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของต้นการบูรยักษ์อายุนับพันปี ณ ศาลเจ้าประจำตระกูลยางิซาวะ ที่ดึงดูดผู้คนให้เข้ามาขอพรอธิษฐาน เพราะเชื่อว่าจะสมหวังดั่งใจปรารถนา
‘จิฟุเนะ’ ตัวละครสำคัญอีกคนในเรื่อง ที่เรโตะเองก็ไม่เคยทราบมาก่อนว่า...เธอคือป้าแท้ๆ ของเขา เคโงะใช้กลวิธีเล่าเรื่องโดยให้ตัวละครแต่ละตัวสลับกันเล่าเพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องราวต่างๆ โดยมีฉากหลังเป็นบรรยากาศความเชื่อดั้งเดิมแบบญี่ปุ่น จนปริศนาค่อยๆ ถูกคลายปมลงทีละนิดๆ แล้วก็หักมุมในตอนจบ จนต้องร้อง...โอ๊ย! ตามสไตล์ป๋าเคโงะ
หนังสือมีความหนา 418 หน้า แต่กลับอ่านเพลินจนติด (สำหรับผมไม่ถึงกับใช้คำว่า ‘วางไม่ลง’ แต่หากมีเวลาเมื่อไหร่...ต้องอ่านต่อให้จบ) เหตุเพราะอยากรู้ที่มาที่ไปของปริศนาต่างๆ ที่เคโงะแทรกเข้าไปเป็นระยะๆ
เอาเป็นว่า...ผมจะไม่สปอยล์ใดๆ ต่อจากนี้ก็แล้วกันนะครับ เดี๋ยวคนที่ยังไม่เคยอ่าน จะเสียอรรถรสได้ ถึง ‘ผู้พิทักษ์ต้นการบูร’ จะเป็นนวนิยายลึกลับแนวสืบสวนตามถนัดของเคโงะ แต่กลับไม่ปรากฏเหตุการณ์ฆ่าสยองขวัญ เลือดสาด (เหมือนนิยายดังของเขาเล่มอื่นๆ) แต่ปมกลับขมวดย้อนกลับไปสู่ปัญหาครอบครัวที่สะท้อนค่านิยมในสังคมญี่ปุ่นได้อย่างแยบคายจนถึงแก่น
บทหนึ่งในเล่มที่ผมอ่านแล้วรู้สึกซาบซึ้งสะเทือนใจ เพราะหนึ่งในตัวละครสำคัญ เมื่อเกิดจุดพลิกผันในชีวิต มีสภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกับครอบครัวผม (แค่..คล้าย ไม่ถึงกับเหมือนกันหมดนะครับ) ทำให้เมื่อไล่อ่านไปจนถึงบทนั้น ก็ทำเอาน้ำตาแตกได้เหมือนกัน
เคยกล่าวไว้ว่า ไม่ได้ชอบงานเคโงะไปหมดทุกเล่ม แต่เล่มนี้..? ถือว่า....ผ่านฉลุยเลยครับ (มีลำเอียงนิดหน่อย เพราะเนื้อเรื่องมีบรรยากาศมูๆ แบบญี่ปุ่นแทรกลงไปนี่แหละ 555+) อีกอย่างต้องยกเครดิตให้กับผู้แปลคือ คุณฉัตรขวัญ อดิศัย และกอง บก. สนพ. Bibli (บิบลิ) ที่ตรวจทานต้นฉบับด้วย เพราะแม้ต้นฉบับหนังสือจะยอดเยี่ยมแค่ไหน หากสำนวนแปลไทยมีปัญหา ก็เป็นเหตุสำคัญให้เสียอรรถรสลงไปได้เหมือนกัน
หนังสือเล่มนี้ออกในช่วงต้นปี 2020 สนพ. Bibli (บิบลิ) ได้ลิขสิทธิ์มาแปล และจัดพิมพ์รูปเล่มออกมาได้อย่างสวยงามน่าชม หากใครชอบนิยายลึกลับแนวสืบสวนสไตล์เคโงะ ที่มีฉากหลังอิงความเชื่อแบบชินโตในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ถือว่าเล่มนี้ตอบโจทย์ทุกประการครับ
หลังเสิร์จหาข้อมูลในเน็ต เพราะสนใจเรื่องราวของต้นการบูรในนิยาย พบว่าที่ญี่ปุ่นมีต้นการบูรยักษ์ ที่มีอายุยืนหลายร้อยจนถึงหลายพันปีอยู่จริงๆ หลายต้น และต้นที่มีชื่อเสียงก็มักจะอยู่ในเขตพื้นที่ของศาลเจ้าซะด้วยสิ อาทิ
1. ต้นการบูรยักษ์อายุกว่า 1,600 ปี ที่ #ศาลเจ้าคาโมะฮะจิมัง (蒲生八幡神社 : Kamou Hachiman Shrine) ศาลเจ้าที่มีอายุเก่าแก่กว่า 900 ปีแห่งนี้ ตั้งอยู่ในเมืองคาโมะ (蒲生町 : Kamō-chō) เขตไอระ จ.คาโกชิม่า ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางทางทิศตะวันตกเฉียงใต้บนเกาะคิวชู ในประเทศญี่ปุ่น
2. #ศาลเจ้าทาเคโอะ (武雄神社 : Takeo Shrine) ตั้งอยู่ที่เมืองทาเคโอะ ออนเซ็น (武雄温泉 : Takeo Onsen) เมืองน้ำพุร้อนทางตะวันตกของ จ.ซากะ บนเกาะคิวชู ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ศาลเจ้าทาเคโอะสร้างในสมัยนาระ (ค.ศ. 735 / พ.ศ. 1278) และต้นการบูรยักษ์ศักดิ์สิทธิ์ที่นี่ (Takeo's Okusu Tree) มีอายุยืนยาวกว่า 3,000 ปี
ต้นการบูรยักษ์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ศาลเจ้าทาเคโอะ (Takeo's Okusu Tree) มีอายุกว่า 3,000 ปี | Photo credit : https://www.kyushuandtokyo.org/spot_47/
ความใหญ่โตของลำต้นและกิ่งก้านสาขาที่แผ่กว้าง ทำให้สัมผัสได้ถึงความน่าเกรงขามและพลังงานลึกลับจากธรรมชาติ และบริเวณโคนต้นยังมีโพรงขนาดใหญ่ที่คนสามารถเข้าไปภายในได้ด้วย เหมือนกับต้นการบูรยักษ์ในนิยายที่เคโงะบรรยายไว้...เป๊ะ! (ในปี ค.ศ. 1970 ต้นการบูรยักษ์ที่ศาลเจ้าทาเคโอะ ถูกเลือกให้เป็น #อนุสรณ์ทางธรรมชาติของเมืองทาเคโอะ)
โพรงขนาดใหญ่บริเวณโคนต้นการบูรยักษ์ ที่ศาลเจ้าทาเคโอะ ที่คนสามารถเข้าไปข้างในได้ | Photo credit : https://www.kyushuandtokyo.org/spot_47/
คนญี่ปุ่นยังมีความเชื่อว่า ศาลเจ้าทาเคโอะเป็นที่สถิตของเทพเจ้า ‘ทาเคโนะอุจิ โนะ สุคุเนะ’ ( 武内宿禰 : Takeuchi-no-Sukune) ซึ่งเป็นวีรบุรุษในตำนานเก่าแก่ของญี่ปุ่น ที่มีอายุยืนยาว จึงเป็นเหตุให้ผู้คนมาไหว้ขอพรเพื่อให้มีอายุยืนยาวเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อเรื่องต้นการบูรยักษ์ ที่มีอายุยืนนานนับพันปี ณ ศาลเจ้าแห่งนี้ด้วย
น่าสนใจว่าข้อมูลที่ได้มาจากค้นหาประวัติ กลับ....ไม่พบความเชื่อมหัศจรรย์เกี่ยวกับต้นการบูรยักษ์ แบบที่เคโงะใส่ลงไปในนิยาย (ถ้าอยากทราบว่าต้นการบูรยักษ์ต้นนี้มีความมหัศจรรย์ยังไง แนะนำให้ลองอ่านเองจะดีที่สุดนะครับ รับรองความฟิน!)
ซึ่งความมหัศจรรย์ที่ว่านี้ เปรียบได้กับเชือกศักดิ์สิทธิ์ ‘ชิเมะนะวะ’ (標縄 / しめ縄 : Shimenawa) ที่ผูกเป็นเกลียวร้อยเรียงตัวละครแต่ละตัวในเรื่อง ให้โคจรมาพบกันตั้งแต่ต้นจนจบ และนั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญว่า....ทำไม? หนุ่มเรโตะจึงต้องทำหน้าที่ที่สำคัญยิ่ง คือการพิทักษ์ต้นการบูรยักษ์ต้นนี้ให้คงอยู่ตลอดไป
จิด.ตระ.ธานี : #เล่าสู่กันฟังนะครับ
#Jitdrathanee
#ปกิณกะ :
1. *มังงะ หรือการ์ตูนญี่ปุ่น ที่ผมอ่านสมัยเด็กๆ แล้วติดงอมแงมมีหลายเรื่อง เอาที่เด่นๆ คือ #โดราเอมอน (ドラえもん) ดร.สลัมป์ กับหนูน้อยอาราเร่ (Dr. (ドクター) スランプ) #นินจาฮัตโตริ (忍者ハットリくん) #รันม่า ½ ไอ้หนุ่มกังฟู (らんま1/2) ช่วงที่ผมเข้าสู่วัยรุ่นคือ กลางๆ ยุค 80’s (1985 - 1989) เข้าสู่ยุค 90’s (1990 - 1999) ซึ่งเป็นช่วงวัยรุ่นตอนกลางและตอนปลาย
ปลายยุค 90’s ต่อต้นยุค 2000’s เข้าสู่วัยทำงาน ผมก็ห่างเหินจากการอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นไป แต่ยังคงชอบอยู่ หลังๆ พอมีตังค์ก็เลือกสะสมการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นเล่มกระดาษเก็บไว้บ้าง แต่พอถึงยุคนี้ความคิดเปลี่ยน ผมเริ่มสะสมเป็น E-book แทน
สำคัญคือ...สะดวก ไม่เปลืองที่เก็บ แถมยังพกพาไปอ่านได้ทุกที่แบบไม่ต้องหนักมือ จะอ่านในมือถือ (Smart Phone) หรือ #กระดานชนวนอิเล็กทรอนิกส์ (Tablet) ก็สะดวก แถมยังไม่เก่า ปลวกเมิน และไม่มีวันที่กระดาษจะเหลืองกรอบ แบบเล่มกระดาษด้วยสิ! แต่...ความเสี่ยงอาจมีอยู่บ้าง เช่น เน็ตล่ม หรือเข้าแอพเปิดอ่านไม่ได้ แต่ทุกวันนี้...ยังไม่ค่อยเจอครับ
จะว่าไป...ความคลาสสิคของเล่มกระดาษอาจมีมากกว่า แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป ผมก็เริ่มปรับตัวตาม อีกอย่างการ์ตูนแบบเล่มกระดาษ ที่มีจำนวนรวมเล่มเกินกว่า 10 หรือ 20 เล่มขึ้นไป พอของในตลาดขาด (คือขายหมด และ สนพ. ไม่พิมพ์ซ้ำใหม่) ก็ทำให้การเก็บสะสมเกิดการสะดุดได้ แต่ถ้าเป็น E-book จะไม่มีปัญหาตรงนี้ เพราะยังไงๆ ก็มีครบทุกเล่มแหงๆ
ข้อเสียที่เห็นสำหรับ E-book มังงะ ในเวลานี้คือ มีอีกหลายเรื่องที่ผมอยากสะสม (ส่วนใหญ่เป็นการ์ตูนคลาสสิคในความทรงจำ) แต่ยังไม่ทำออกมาขายเป็น E-book (มีแต่เล่มกระดาษ แถมยังเหลือไม่ครบทุกเล่มซะงั้น) แบบนี้...ก็คงต้องรอลุ้นกันต่อไป
2. #ต้นการบูร (Cinnamomum camphora) เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีถิ่นกระจายพันธุ์ในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม มีความสูงได้ถึง 30 เมตร ทุกส่วนมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะที่รากและโคนต้น ทรงพุ่มกว้าง ทึบ ลำต้นมีขนาดใหญ่
#การบูร (Camphor) คือผลึกเล็กๆ สีขาว มีกลิ่นแรง มีรสร้อนปร่า ได้จากการสกัดจากส่วนต่างๆ ที่เกิดอยู่ทั่วทั้งต้นการบูร แต่จะมีมากบริเวณใกล้กับโคนต้นและราก ซึ่งจะมีกลิ่นหอมมากกว่าส่วนอื่นๆ
เกล็ดการบูรละเอียดที่ได้จากการสกัด | Photo cradit : https://www.pinkvilla.com/fashion/beauty/beauty-benefits-camphor-how-you-can-use-it-healthy-skin-and-hair-514435
#การสกัดการบูร มักใช้ต้นการบูรที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ทำโดยนำส่วนต่างๆ ของต้นการบูร มาหั่นเป็นชื้นเล็กๆ แล้วนำไปต้มหรือกลั่นโดยใช้ไอน้ำ น้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้จะอยู่ในภาชนะรองรับ เมื่อได้น้ำมันหอมกระเหยจำนวนมากพอ จะเห็นการบูรเริ่มตกผลึกเป็นก้อนสีขาวๆ แยกตัวออกจากน้ำมันหอมระเหย จากนั้นจึงเก็บผลึกมาทำเป็นก้อน หรือบดให้ละเอียดเป็นชิ้นเล็กๆ
#สรรพคุณของการบูร : ใช้เป็นยาระงับเชื้ออย่างอ่อนๆ ยากระตุ้นหัวใจ ขับลม ขับเสมหะ ใช้ทำยาถูนวด แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ ใช้แก้อาการคันผิวหนัง เป็นต้น
โฆษณา