6 ธ.ค. 2022 เวลา 11:53 • อสังหาริมทรัพย์
แนะนำโครงการ: Beijing Capital International Airport Terminal 3
Beijing Capital International Airport Terminal 3 - Setting standard for passenger experience and sustainable design
บทความฉบับนี้จะขอพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับโครงการ Beijing Capital International Airport Terminal 3 โดยประกอบด้วยข้อมูลด้านการออกแบบด้านวิศวกรรมที่น่าสนใจของอาคารเทียบเครื่องบินและอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่นี้ ติดตามมาได้เลยครับ
บทนำ (Introduction)
โครงการ Beijing Capital International Airport Terminal 3 ประกอบด้วยอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่ในสนามบินนานาชาติของกรุงปักกิ่ง เป็นสัญญลักษณ์แสดงถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ, ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และ สถาปัตยกรรมที่ทันสมัย
โครงการ Beijing Capital International Airport Terminal 3 แห่งนี้ได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว นักเดินทาง และผู้โดยสารจำนวนหลายล้านคนที่เดินทางมาร่วมชมกีฬาโอลิมปิคฤดูร้อนในปี ค.ศ. 2008 ความสะดวกสบาย ความประทับใจ และความตื่นตาตื่นใจที่ผู้โดยสารได้รับจากการใช้บริการสนามบินนานาชาติแห่งนี้แสดงให้เห็นว่าบัดนี้ประเทศจีนพร้อมแล้วที่จะสร้างความมหัศจรรย์ให้ปรากฏแก่สายตาของชาวโลก
สนามบินนานาชาติกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน พร้อมด้วยอาคารเทียบเครื่องบิน แห่งที่ 3 (Terminal 3) และรันเวย์ที่ 3 (สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิมี 2 รันเวย์เท่านั้น) ทำให้สนามบินนานาชาติกรุงปักกิ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 80 ล้านคนต่อปี อาคารเทียบเครื่องบิน Beijing Capital International Airport Terminal 3 ได้กลายเป็นมาตรฐานโลกในการออกแบบอาคารเทียบเครื่องบิน/อาคารผู้โดยสาร ที่พรั่งพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย และเป็นอาคารที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
รูปที่่ 1: ภาพแสดงผังและรูปด้านของสนามบินแห่งใหม่ และอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ Beijing Capital International Airport Terminal 3
รูปที่ 2: การก่อสร้างชั้นใต้ดินตามแนวยาวของอาคาร
แนวความคิดในการออกแบบ (Conceptual design)
รูปที่ 3: ภายในอาคารเทียบเครื่องบินแห่งใหม่ที่ผสมผสานแสงธรรมชาติและระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่มีแสงสีแดงและสีทอง
รูปที่ 4 a : การเคลื่อนย้ายของผู้โดยสาร (passenger circulation) ภายในสนามบินโดยการใช้เสาและแสงสว่างเพื่อนำทางไปยังจุดต่างๆที่ต้องการ
หลักการพื้นฐานที่สำคัญในการออกแบบโครงการนี้ คือ การสร้างความรู้สึกให้กับผู้โดยสารว่าสนามบินแห่งนี้ยินดีต้อนรับผู้โดยสารทุกคน ด้วยการทำให้ผู้โดยสารเดินไปยังจุดหมายต่างๆภายในอาคารเทียบเครื่องบิน / อาคารผู้โดยสารได้อย่างสะดวกและรวดเร็วโดยการสร้างรูปทรงของอาคาร ทิศทางของหลังคา และรูปแบบของฝ้าเพดานเพื่อก่อให้เกิดเป็นเส้นนำสายตาและเส้นนำทาง รวมถึงการผสมผสานของแสงธรรมชาติ (Natural light) และระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่ให้แสงสีทองและแสงสีแดงเพื่อการส่องสว่าง
รูปที่่ 4 b; การเคลื่อนย้ายของผู้โดยสาร (passenger circulation) ที่มีประสิทธิภาพด้วยการออกแบบเสาโครงสร้างและระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่ช่วยนำทางไปยังจุดหมายต่างๆภายในอาคาร ทำให้ผู้โดยสารเดินไปยังจุดหมายได้อย่างรวดเร็ว ลดเวลาการเดินระหว่างชั้นและช่วยลดระยะทางในการเดินระหว่างจุดต่างๆลงได้
เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายของผู้โดยสารภายในอาคารเทียบเครื่องบิน/อาคารผู้โดยสาร จึงได้ออกแบบและติดตั้งเคาน์เตอร์เช็ค – อินของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจำนวนถึง 330 เคาน์เตอร์ ต่อเนื่องไปยังระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (baggage-handling system) ที่ทันสมัย โดยมีความยาวของสายพานรวมถึง 50 กิโลเมตร พร้อมระบบ IT ในการควบคุมการทำงานอย่างอัตโนมัติทำให้ระบบสายพานลำเลียงนี้กลายเป็นระบบที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
รูปที่ 5: บริเวณสายพานลำเลียงกระเป๋า
การออกแบบอาคารเทียบเครื่องบิน/อาคารผู้โดยสาร
ด้วยพื้นที่ใช้สอยของอาคารเทียบเครื่องบิน/อาคารผู้โดยสารที่สูงถึง 1.5 ล้านตารางเมตร (สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 500,000 ตารางเมตรเท่านั้น) และมีช่วงกว้างที่สุดของอาคารเทียบเครื่องบิน/อาคารผู้โดยสารถึง 800 เมตร ทำให้อาคารแห่งนี้มีขนาดใหญ่ติดอันดับโลก
พื้นที่ใช้สอยทั้งหมดออกแบบให้อยู่ภายใต้อาคารที่มีหลังคาเดียวกันบนเสาที่มีขนาดกะทัดรัดโดยมีโครงสร้างของอาคารที่ออกแบบให้ทนต่อแรงของแผ่นดินไหว เสาที่รับหลังคาขนาดใหญ่มีความคงทนและมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่ทำให้หลังคาขนาดใหญ่สามารถเคลื่อนตัวได้อย่างปลอดภัยในขณะเกิดแผ่นดินไหว
รูปที่ 6: Engineering Design principles of the terminal building แบบโครงสร้างหลังคาโค้ง 2 ชั้นของอาคาร the terminal building ทำให้เกิดจุดเชื่อมต่อจำนวนมากถึง 18,262 ตำแหน่ง และชิ้นส่วนที่ต่อเชื่อมกันถึง 76,924 ชิ้น
รูปที่ 7: เพื่อให้มีชิ้นส่วนเหล็กโครงสร้างมีน้ำหนักที่เหมาะสม การออกแบบชิ้นส่วนเหล่านี้จึงต้องกำหนดขนาดชิ้นส่วนโดยคำนึงถึงคุณลักษณะเฉพาะตัว
รูปที่ 9: อาคารขณะกำลังก่อสร้างโดยเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 5 ชั้นอยู่ภายใต้หลังคาโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ โครงสร้างทั้งหมดของอาคารถูกออกแบบให้ทนต่อแรงแผ่นดินได้อย่างปลอดภัย
การออกแบบอย่างยั่งยืน (Sustainable Design)
การออกแบบสภาวะแวดล้อมภายในอาคาร Terminal Building ที่ผู้โดยสารสามารถสัมผัสด้วยสายตาและความรู้สึกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบสนามบินนานาชาติ Beijing Capital International Airport Terminal 3 ให้เป็นสนามบินที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ช่องรับแสงที่อยู่บันหลังคาโค้งในแนวตะวันออกเฉียงใต้ทำหน้าที่นำแสงธรรมชาติเข้ามาให้ความสว่างภายในอาคารและนำความร้อนเข้ามาให้ความอบอุ่นภายในอาคารในยามเช้าของฤดูหนาวซึ่งสามารถช่วยโหลดความร้อนที่ต้องการลงได้ และด้วยขนาดช่องเปิดที่ไม่ใหญ่เกินไปทำให้สามารถลดโหลดความเย็น (cooling loads) ที่เกิดจากความร้อนจากแสงอาทิตย์ (solar gain) ไม่ให้เข้ามาในอาคารมากเกินไปในฤดูร้อน
การใช้ประโยชน์จากธรรมชาติด้วย passive technology ได้แก่ การบังเงา (shading) การทำความร้อนและทำความเย็นจากธรรมชาติ (natural heating and cooling) และการใช้แสงธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพทำให้สนามบิน Beijing Capital International Airport Terminal 3 เป็นสนามบินที่ใช้พลังงานอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
รูปที่ 10: แสงธรรมชาติเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทดแทนระบบไฟฟ้าแสงสว่าง แสงธรรมชาติยังช่วยให้ผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ในสนามบินมีความรู้สึกอบอุ่นและกระตือรือร้น
รูปที่ 11:  รายละเอียดของหลังคาอาคารที่ออกแบบให้ใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติ
รูปที่ 12: แบบจำลองคอมพิวเตอร์ศึกษาการส่องสว่างของแสงอาทิตย์ที่เข้ามาภายในอาคารด้วยการใช้เทคโนโลยีการบังเงา (passive shading)
การเดินทางและการขนส่งที่ยั่งยืน (Sustainable transportation)
การเดินทางเข้า – ออกสนามบินด้วยระบบขนส่งสาธารณะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร ซึ่งโครงการสนามบิน Beijing Capital International Airport Terminal 3 ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากโดยได้ออกแบบและก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่ทันสมัยและสะดวกสบายไว้รองรับ
รูปที่่ 13: ภาพแสดง ส่วนของหลังคาโครงสร้างที่ยื่นยาวออกไป บริเวณอาคาผู้โดยสาร  (Terminal Building)
เมื่อผู้โดยสารเดินออกจากอาคารผู้โดยสารก็จะมาหยุดยืนอยู่ภายใต้หลังคาที่ยื่นออกจากตัวอาคาร (cantilevered roof) ที่มีความกว้างถึง 800 เมตร โดยมีทางเดินเชื่อมต่อกับศูนย์ขนส่งสาธารณะ ซึ่งประกอบด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่จะนำผู้โดยสารไปยังสถานี Dongzhimen กลางกรุงปักกิ่งภายในเวลาเพียง 15 นาที (มีที่จอดรองรับรถแท็กซี่ได้ถึง 2,500 คันในชั่วโมงเร่งด่วน และ ที่จอดรถบัสขนาดใหญ่พร้อมกันจำนวน 30 คัน และมีที่จอดรถยนต์ส่วนตัวชั่วคราวสำหรับจอดรับและส่งผู้โดยสารได้ถึง 7,000 คัน
รูปที่่ 14 : แสดงโครงสร้างหลังคาของ อาคารศูนย์การขนส่ง คลุมระหว่างอาคารศูนย์การขนส่งกับอาคารผู้โดยสาร
สรุป
จากจุดเริ่มต้นของการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคปี 2008 ทำให้รัฐบาลจีนได้ลงทุนก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่จำนวนมากเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและนักกีฬาที่เดินทางมาท่องเที่ยวและร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิค โครงการสนามบิน Beijing Capital International Airport Terminal 3 ก็เป็นหนึ่งในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งแม้ว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคจะจบไปแล้วพร้อมความประทับใจ แต่สนามบินแห่งใหม่นี้ก็ยังเปิดให้บริการอยู่อย่างต่อเนื่องต่อไป
รูปที่่ 15: ภาพวาดแสดงให้เห็นถึงความงดงามที่น่าประทับใจของอาคารผู้โดยสารหลังที่่ 3
โฆษณา