6 ธ.ค. 2022 เวลา 12:47 • ประวัติศาสตร์
• มีร์ จาฟาร์ จอมทรยศผู้ทำให้อินเดียตกเป็นอาณานิคมอังกฤษ
บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษได้เข้ามาในอินเดียตั้งแต่ปี 1600 ในช่วงแรกก็มาทำการค้า แต่พอเวลาผ่านไป บริษัทอินเดียตะวันออกกลับต้องการยึดครองอินเดียในฐานะอาณานิคมแทน ซึ่งสุดท้ายก็ทำได้สำเร็จในกลางศตวรรษที่ 19
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้อังกฤษสามารถครอบครองอินเดียได้ ก็มาจากการยึดครองแคว้นเบงกอล ที่เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์และมั่งคั่งที่สุดของอินเดีย
อังกฤษไม่ได้ใช้เฉพาะกำลังทหารในการเอาชนะเบงกอล แต่พวกเขายังได้รับการสนับสนุนจากแม่ทัพเบงกอลคนหนึ่งที่มีชื่อว่า มีร์ จาฟาร์ (Mir Jafar)
เดิมทีเบงกอลเคยอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิมุคัล แต่เมื่อจักรวรรดิมุคัลอ่อนแอลง เบงกอลจึงแยกตัวเป็นอิสระ และปกครองภายใต้กษัตริย์ที่เรียกว่า นะวาบ (Nawab)
มีร์ จาฟาร์ เป็นแม่ทัพใหญ่ของนะวาบ ซิราจ อัล-ดาวลาห์ (Siraj-ud-Daulah) แม้จะทำตัวเหมือนเป็นผู้จงรักภักดี แต่จาฟาร์ก็ปรารถนาที่อยากจะเป็นนะวาบซะเอง และเมื่อเบงกอลเกิดข้อพิพาทกับอังกฤษจนนำไปสู่สงคราม จาฟาร์จึงเห็นโอกาสที่จะขึ้นเป็นใหญ่โดยการทรยศเบงกอล
จาฟาร์ได้แอบไปเจรจากับอังกฤษ โดยให้สัญญาว่า ถ้าหากอังกฤษช่วยให้เขาได้เป็นนะวาบ เขาจะมอบเงินเกือบ 1 ล้านปอนด์ให้กับอังกฤษ เพื่อเป็นค่าชดเชยจากการที่เบงกอลเคยโจมตีเมืองกัลกัตตา ที่เป็นที่มั่นของบริษัทอินเดียตะวันออก
มีร์ จาฟาร์ แอบเจรจากับอังกฤษ
23 มิถุนายน 1757 เบงกอลกับอังกฤษได้ทำสงครามในการรบที่ปลาศี (Battle of Plassey) มีร์ จาฟาร์ ได้ทรยศโดยการไม่ส่งกองทัพใหญ่เข้าช่วยเหลือกองทัพของนะวาบ จนสุดท้ายเบงกอลก็เป็นฝ่ายแพ้ และนะวาบก็ถูกอังกฤษจับตัวก่อนถูกประหารชีวิต
1
ในที่สุดมีร์ จาฟาร์ ก็ได้เป็นนะวาบคนใหม่ของเบงกอล แต่เขาก็เป็นแค่ผู้นำหุ่นเชิดให้กับอังกฤษเท่านั้น ผู้ปกครองเบงกอลจริง ๆ ก็คืออังกฤษ และอังกฤษก็สูบเงินของเบงกอล จนเศรษฐกิจภายในพังพินาศ
3
มีร์ จาฟาร์ รู้สึกว่าเขาถูกอังกฤษกดขี่และเรียกร้องผลประโยชน์มากจนเกินไป จาฟาร์จึงไปแอบเจรจากับทางดัตช์ ทำให้อังกฤษไม่พอใจและปลดเขาจากการเป็นนะวาบในปี 1760
แต่นะวาบคนใหม่ที่อังกฤษตั้งมา ก็มีความขัดแย้งกับอังกฤษอีก ทำให้อังกฤษตัดสินใจให้มีร์ จาฟาร์ กลับมาเป็นนะวาบอีกครั้งในปี 1763 ก่อนที่ในอีกสองปีต่อมา นะวาบหุ่นเชิดอย่างมีร์ จาฟาร์ จะเสียชีวิตลง
4
การทรยศของมีร์ จาฟาร์ สร้างความโกรธแค้นให้กับชาวเบงกอล ชื่อของเขาได้กลายเป็นคำที่มีความหมายเดียวกับคำว่า 'คนทรยศ'
*** References
• Britannica. Mīr Jaʿfar. http://bitly.ws/xwXF
• All That Interesting. The Six Biggest Betrayals In History. http://bitly.ws/xwXQ
#HistofunDeluxe
โฆษณา