6 ธ.ค. 2022 เวลา 23:48 • ศิลปะ & ออกแบบ
ภาพมารผจญในบริบทของ อจ. ถวัลย์ ดัชนี (2)
วางรูปแบบ ปรมัตสัจจะ .. คือไม่ได้ยึดรูปแบบโบราณ หากแต่มุ่งประเด็นไปยัง แก่นของพุทธปัญญา ในเนื้อหาคือ กิเลสมาร ที่เป็นตัวตนของการเกิด-ดับ ของกิเลส
- ภวตันหา .. ความแยากให้เป็นไป
- วิภวตันหา .. ความไม่อยากให้เป็นไป
ทั้งสองกิเลสที่มนุษย์ต้องต่อสู้อยู่ตลอดเวลา .. ศิลปิน ทำความแตกหักกับรูปแบบโบราณ มาสู่การนำเสนอแบบศิลปะร่วมสมัย แต่ยังคงมีเนื้อหาดิ่งลึกทางพุทธปัญญา คงไว้ซึ่ง พลานุภาพ ฝีมือองค์ประกอบ ที่สื่อความหมายได้เฉียบคม
มารผจญของ อจ.ถวัลย์ … จึงไม่มีพระแม่ธรณี ไม่มีการพ่ายแพ้ ..
เนื่องจาก กิเลสมาร นั้น .. การเกิด-ดับอยู่ที่ อจินไตย ในความนึกคิด ความรู้สึก ความอยาก ความเกาะเกี่ยวอยู่ในปัญจกามคุณ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
รายละเอียดของชิ้นงาน
ภาพมารผจญ .. เป็นภาพที่ศิลปินวาดขึ้นหลังจากที่มีการตกผลึกด้านความคิดและฝีมือการวาดมาแล้ว 50-60 ปี จึงมีความลุ่มลึก แกร่งกร้าว มีความเป็นปัจเจกแห่งตัวตนของศิลปิน และมีความงดงามยิ่ง
.. ศิลปินวาดภาพให้มีองค์ประกอบแบบสมมาตร .. พระพักตร์ของพระพุทธเจ้าอยู่ตรงกลางภาพ บนผืนผ้าใบสีแดง เช่นเดียวกับจิตรกรรมประเพณี .. พระพักตร์ของพระพุทธองค์งดงามด้วยท่วงท่าสงบ แย้มพระโอษฐ์พอประมาณ สายพระเนตรมองลงเบื้องล่าง เรืองรองด้วยสีทองของทองคำเปลว
- ด้านบนพระเศียร มีภาพเสือที่สองตาเบิกโพลง ส่องเป็นประกาย .. ซึ่งปกติ ศิลปินจะใช้เป็นสัญลักษณ์แทน ความกล้าหาญ ความสง่างาม ความองอาจ
- ด้านซ้ายและขวา รายล้อมด้วยรูปร่างของสิ่งมีชีวิต ที่มีรูปลักษณ์ประหลาด เป็นอสูรที่ประกบอยู่ข้างใบหน้าของพระพุทธองค์ ในลักษณะยกเท้าขึ้นข้างหนึ่ง เหมือนกำลังจะพุ่งออกไปข้างหน้า ลำตัวด้านบนแอ่นไปข้างหลัง แขนที่ทรงพลังและกรงเล็บที่ทรงอานุภาพ เหมือนพร้อมที่จะพุ่งออกไปขย้ำเป้าหมายที่อยู่ข้างหน้า
- รูปมาร .. ศิลปินสร้างรูปทรงขึ้นด้วยสีดำ ลักษณะมีเขี้ยวคมกริบ ดูระยิบระยับด้วยสีขาว และการวาดลายไทยสีทองในบางส่วนของภาพ
- ด้านซ้าย มีรูปร่างคนกำยำ มีลายเสือโคร่ง มีปีกนก 2 หัว เสือเขี้ยวยาว มือและเท้าเป็นกรงเล็บของสัตว์กินเนื้อ ซึ่งเป็นอาวุธที่มาพร้อมกับสัญชาตญาณการหาเลี้ยงดำรงชีวิต
- เท้าซ้ายเหยียบบนเสือดาว ตัวเป็นพญานาค
-ด้านขวา .. มีรูปร่างพญานก มี 2 หัว มือและเท้ามีกรงเล็บกำยำ
- ขนาดสัดส่วนดูน่าเกรงขามไม่แพ้มารด้านซ้าย
- ด้านล่างมีรูปพญางู ลายข้ามหลามตัด คล้ายงูอนาคอนดา
ภาพที่รายล้อมทั้งหมดมุ่งไปยังจุดกึ่งกลางของภาพ คือ พระพุทธเจ้า ซึ่งการจัดองค์ประกอบนี้ คล้ายกับภาพมารผจญในรูปแบบประเพณี
ขณะนี้ แม้ผู้เขียนยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่า ส่วนประกอบที่เป็นภาพพญามารทั้งสองข้างที่มีเขี้ยวเล็บคมกริบเปี่ยมพลัง (ภวตันหา และวิภวตันหา) คืออะไรแน่ .. แต่สิ่งเหล่านี้ศิลปินอาจจะต้องการแสดงให้เห็นว่า หมู่มารในจิตใจของคนเราก็คือ ตัณหาต่างๆในใจเราเอง ที่รุมล้อมให้เราทุกคนต้องต่อสู้
หากเรามีใจที่ความสงบ ไม่หวั่นไหว ก็จะชนะ หลุดพ้น ดังการแสดงออกของภาพ ที่พระพุทธองค์แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย ไม่หวั่นหวั่น อ่อนโอนไปตามการคุกคาม
โฆษณา