7 ธ.ค. 2022 เวลา 11:00 • ธุรกิจ
Ryan Roslansky CEO จาก LinkedIn ได้ให้แนวคิดไว้ว่าการจ้างงานโดยคำนึงถึง “ทักษะ” เป็นอันดับแรกจะสร้าง "ตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งจะสร้างโอกาสที่ดีกว่าสำหรับทุกคน" เขากล่าวกับ Harvard Business Review ในการสัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้
🟥 ทำไมองค์กรยักษ์ใหญ่หลายแห่งจึงเฟ้นหาคนที่ “ทักษะ”
แม้ว่าปริญญาในระดับวิทยาลัยจะเป็นใบเบิกทางขั้นแรกในการก้าวเข้าสู่องค์กรมาอย่างเนิ่นนาน แต่ในขณะเดียวกันบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาบางแห่ง เช่น Google, EY, Microsoft และ Apple ได้มีการจ้างงานแบบ Skills-over-degree หรือคนที่มีทักษะสูงเป็นจำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
หลังจากที่โลกแห่งการทำงานเปลี่ยนแปลงไปด้วยปัจจัยต่างๆ อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การทำงานมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น และไม่ได้ถูกตีกรอบให้ทำงานจากแค่ที่ออฟฟิศอีกต่อไป เช่น การทำงานแบบ Remote หรือการทำงานทางไกลซึ่งสิ่งนี้ได้ตอกย้ำให้การจ้างงานที่ “เน้นทักษะ” ทำได้ง่ายขึ้น เพราะองค์กรมีทางเลือกมากขึ้นในการเลือกคนเก่งๆ จากประเทศใดก็ได้เพื่อมาร่วมงาน ส่วนคนเก่งๆ ก็จะได้อิสระและความยืดหยุ่นในการทำงาน สามารถจัดสรรเวลาด้วยตัวเองได้มากยิ่งขึ้น
เพื่อให้การจ้างงานที่ “เน้นทักษะ” เห็นภาพมากขึ้น บริษัท General Motors ได้ยกเลิกข้อกำหนดระดับปริญญาออกจาก Degree requirements ในการสมัครงานทั้งหมด ซึ่ง Telva McGruder ตำแหน่ง Chief diversity, equity, and inclusion officer กล่าวว่า “ปริญญาไม่ใช่ตัวกำหนดศักยภาพของใคร”
นอกจากนี้ ภายใต้การนำของ Ginni Rometty ซึ่งเป็นอดีต CEO จาก IBM ได้บัญญัติคำว่า “New collar jobs” สำหรับตำแหน่งที่ต้องการเน้นที่ทักษะเฉพาะด้านมากกว่าระดับการศึกษา โดยสัดส่วนของตำแหน่งงานที่เปิดรับและต้องใช้วุฒิการศึกษาสี่ปีของ IBM ร่วงลง 95% ในปี 2011 และเหลือน้อยกว่าครึ่งหนึ่งในเดือนมกราคม 2021 Ginni ได้กล่าวว่า “การจ้างงานคนที่ไม่มีวุฒิการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจะมีผลเช่นเดียวกับคนที่มีวุฒิปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ”
และ Accenture ได้เปิดตัวโครงการฝึกงานที่มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดพนักงานที่ไม่มีวุฒิการศึกษาและเปลี่ยนให้เป็น Talent ที่มากด้วยทักษะ ในปี 2016 Jimmy Etheredge CEO จาก Accenture กล่าวว่า “เนื่องจากปริญญาไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จเพียงอย่างเดียว บริษัทจึงได้ยกระดับมากขึ้นโดยการมุ่งเน้นพัฒนาและมองหาคนจากทักษะ”
🟥 การมุ่งเน้นที่ทักษะอาจเป็นวิธีแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
Ryan Roslansky จาก LinkedIn กล่าวถึงการเลิกจ้างในช่วงต้นของการเกิดวิกฤตของโรคระบาดใหญ่ว่ามีพนักงานบริการในร้านต่างๆ หลายพันคนที่ถูกเลิกจ้าง เพราะร้านอาหารหลายๆ ที่ปิด ในทางกลับกัน บทบาทที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในขณะนั้นคือ ตำแหน่งงานบริการลูกค้าแบบดิจิทัล เพราะวิกฤตนั้นทำให้สิ่งต่างๆ ถูกเคลื่อนไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น Ryan เสริมว่าหากพิจารณาจากทักษะพื้นฐานของพนักงานบริการในร้านอาหารแล้วโดยเฉลี่ยมีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นถึง 70% ในการเป็นตัวแทนบริการลูกค้าดิจิทัลในระดับ Entry level ได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นคือพนักงานบริการอาหารจำนวนมากก็ยังคงตกงานอยู่ดี เพราะไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะเติมเต็มตำแหน่งบริการลูกค้าดิจิทัลได้
นอกจากนี้ Ryan ยังได้ทิ้งท้ายไว้ว่า หากเราพิจารณาว่าทักษะใดที่จำเป็น กลุ่มคนใดบ้างที่มีทักษะเหล่านั้น เราก็จะสามารถช่วยเพิ่มทักษะสองถึงสามทักษะเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถทำงานได้ องค์กรก็จะได้คนที่มีทักษะช่วยในการดำเนินธุรกิจ ส่วนพนักงานก็จะได้ทั้งทักษะและงานเพื่อสร้างรายได้ หลังจากนั้นเราจะพบว่าตัวเองอยู่ในตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อ่านบทความได้ที่ : https://bit.ly/3Y0igLZ
มาร่วม CONNEXT THE DOT ก้าวสู่โลกการทำงานอย่างมั่นใจไปด้วยกัน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา