8 ธ.ค. 2022 เวลา 04:53 • สิ่งแวดล้อม
น้ำท่วมนานต้องรีบแก้ไข สส นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วย พี่น้องบางปลาม้า สองพี่น้อง
1
ธันวาคมเดือนแห่งฤดูหนาว โดยปกติควรเป็นเช่นนั้น แต่ในความจริงบางพื้นที่และบางจังหวัดยังพบเจอกับฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาลอยู่ ไม่เพียงแค่นั้นยังสร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย นั่นคือชาวบ้านอำเภอบางปลาม้าและสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
2
ไม่เพียงแต่ในปี 2565 ที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่ แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 10 ปีจังหวัดสุพรรณบุรีกลายเป็นทุ่งรับน้ำเสมอ ทั้งที่เป็นจังหวัดที่มีการจัดการด้านขยะได้เป็นอย่างดี และเป็นจังหวัดที่มีคาร์บอนต่ำ ปัจจัยแรกเนื่องจากสุพรรณบุรีเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ ปัจจัยที่สอง เมื่อวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนพบว่า ฝนที่ตกลงมาไม่ใช่ฝนตามฤดูกาล แต่น่าจะเป็นผลพวงมาจากการเกิดภาวะโลกร้อน ทำให้ฝนมีปริมาณมากกว่าปกติ เป็นเหตุที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงทำให้เกิดน้ำท่วมในครั้งนี้
ด้านนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี เขต 2 พรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าว ตนพร้อมคณะทำงานและหน่วยงานราชการจังหวัดสุพรรณบุรี จึงลงพื้นที่เพื่อหารือติดตามการบริหารจัดการน้ำ ในอำเภอ บางปลาม้า และ อำเภอสองพี่น้อง ทั้งหมด 3 จุด ประกอบด้วย
-ประตูระบายน้ำบางสาม (อำเภอสองพี่น้อง)
-ประตูระบายน้ำบางใหญ่ (อำเภอบางปลาม้า)
-วัดดอนทอง (อำเภอบางปลาม้า)
เนื่องจากพบว่าระดับน้ำกลับมาเพิ่มสูงขึ้นทั้งในแม่น้ำท่าจีนและทุ่งรับน้ำทั้งหมดในพื้นที่ โดยหลังจากประชุมร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมพบปะผู้นำประชาชประชาชน เพื่อชี้แจงแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและมาตรการเยียวยาช่วยเหลือในแต่ละครัวเรือน ซึ่งจังหวัดมีแผนการจัดการ ดังนี้
1.ทุ่งเจ้าเจ็ด จะหยุดการสูบน้ำทุกประตูลงแม่น้ำท่าจีน และเร่งแก้ไขสถานีสูบน้ำวัดเจ้าขาว อำเภอบางปลาม้า
2.ทุ่งโพธิ์พระยาและแม่น้ำท่าจีน ให้ลดการระบายน้ำที่ ประตูระบายน้ำพลเทพ และประตูระบายน้ำมะขามเฒ่า-อู่ทอง เพื่อให้นำ้ในทุ่งตอนล่างและแม่นำ้ท่าจีนลดลง
3.ประตูระบายน้ำบางยี่หน และประตูระบายน้ำพระยาบันลือ หยุดการสูบน้ำลงแม่น้ำท่าจีน ให้สูบออกแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น
4.ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่ม และจัดการกำจัดผักตบชวาที่ขวางทางระบายน้ำ ที่ประตูระบายน้ำบางสาม, สำเภาทอง และบางหัวบ้าน
5.เตรียมระดมเครื่องสูบน้ำให้พร้อม เพื่อเร่งสูบน้ำออกจากทุ่ง ประสานทุกท้องถิ่นให้ประสาน พร้อมทำเรื่องขอเครื่องสูบน้ำ
สำหรับแผนการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบภัย เมื่อ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติเป็นที่เรียบร้อย โดยคุ้มครองในครัวเรือนละ 5,000 – 9,000 บาท ใน 66 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะมอบหมายให้ท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ดำเนินการสำรวจและช่วยพี่น้องประชาชนลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือไม่ให้ตกหล่น
เราคงได้เห็นกันแล้วว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างไร ขอให้เหตุการณ์เหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นความคิดและจิตสำนึก ไม่ให้เราทำลายทรัพยากรธรรมชาติ หรือการใช้ชีวิตของเรากลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอีกต่อไป
โฆษณา