9 ธ.ค. 2022 เวลา 11:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
จ่ายโบนัสดุดัน ไม่เกรงใจใครจริงๆ 💸🚗
สำหรับกลุ่มบริษัทรถยนต์ที่ออกมาประกาศโบนัส เป็นจำนวนที่นำโด่งจากกลุ่มธุรกิจอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด
แม้สถานการณ์ในไตรมาสที่ผ่านมา หลายบริษัทจะได้รายได้ไม่ตามที่คาดหวัง จากปัญหาค่าเงินบาทอ่อนค่า ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต และปัญหาการส่งออกที่ชะลอตัวจากเงินเฟ้อทั่วโลก
แต่เพราะอะไร ? อุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงจ่ายโบนัสในจำนวนที่เยอะขนาดนี้ ?
วันนี้ เราจะพาทุกท่านมาเจาะลึกเหตุผลที่ทำให้กลุ่มบริษัทรถยนต์เหล่านี้ จ่ายโบนัสเยอะกว่าธุรกิจอื่นกัน พร้อมแล้วก็ไปดูกันเลยครับ !
📌 กลุ่มบริษัทรถยนต์ แห่ประกาศโบนัสปี 2565
● บริษัท TOYOTA GOSEI โบนัสสิ้นปี 4 เดือน บวกเงินพิเศษ 60,000
● บริษัท ISUZU โบนัสสิ้นปี 5.9 เดือน บวกเงินพิเศษ 17,550 บาท
● บริษัท HINO โบนัสสิ้นปี 7.4 เดือน บวกเงินพิเศษ 35,000 บาท
● บริษัท TOYOTA โบนัสสิ้นปี 7.5 เดือน บวกเงินพิเศษ 34,000 บาท
● บริษัท MG โบนัสสิ้นปี 2 เดือน บวกเงินพิเศษตามเกรดเฉลี่ย
● บริษัท โตโยต้า ทูโช ฟอร์คลิฟท์ฯ โบนัสสิ้นปี 10.2 เดือน บวกเงินพิเศษ 25,000-28,000 บาท
นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รถ ก็ออกมาประกาศจ่ายโบนัสและเงินบวกพิเศษสำหรับพนักงานด้วยเช่นกัน
● บริษัท ADVICS นิคมปิ่นทอง 3 โบนัสสิ้นปี 6.5 เดือน บวกเงินพิเศษ 25,000 บาท
● บริษัท JTEKT โบนัสสิ้นปี 6 เดือน บวกเงินพิเศษ 17,500 บาท + สงกรานต์ 20,000 บาท
● บริษัท DENSO โบนัสสิ้นปี 7.4 เดือน บวกเงินพิเศษ 17,500+15,000 บาท
● บริษัท โยโกฮามา ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่งฯ โบนัสสิ้นปี 5 เดือน บวกเงินพิเศษ 25,000 บาท เงินขึ้น 4%
● บริษัท SUMITOMO RUBBER THAILAND โบนัสสิ้นปี 5 เดือน บวกเงินพิเศษ 22,000 +3,000 บาท
● บริษัท SSMC ระยอง โบนัสสิ้นปี 6 เดือน บวกเงินพิเศษ 20,000 บาท
● บริษัท AIT โบนัสสิ้นปี 6 เดือน บวกเงินพิเศษ 46,000 บาท
● บริษัท Aisin มาบปู ชลบุรี โบนัสสิ้นปี 7 เดือน บวกเงินพิเศษ 30,000 บาท
● บริษัท ออฟโร้ด โบนัสสิ้นปีจำนวน 3 เดือน บวกเงินพิเศษ 52,000 บาท
📌 เจาะสาเหตุ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์มีรายได้เท่าไหร่ในปีที่ผ่านมา
หากลองดูข้อมูลปริมาณการขายของตลาดรถยนต์รวม จะพบว่าปี 2565 นี้ สามารถขายรถยนต์ออกไปได้ทั้งหมด 427,303 คัน เพิ่มขึ้น 14.5% โดยมีเจ้าตลาดเป็นแบรนด์โตโยต้า ที่ทำปริมาณการขายได้ 142,032 คัน เพิ่มขึ้น 21.2% ได้ส่วนแบ่งตลาด 33.2% รองลงมาอันดับที่ 2 คืออีซูซุ ทำปริมาณการขายได้ทั้งหมด 109,889 คัน เพิ่มขึ้น 18.0% ส่วนแบ่งตลาด 25.7% และอันดับที่ 3 คือฮอนด้า ที่ทำปริมาณการขายได้ทั้งหมด 40,161 คัน ลดลง 6.0% ได้ส่วนแบ่งตลาด 9.4%
1
จะเห็นว่าภาพรวมปริมาณการขายรถยนต์ส่วนใหญ่ยังคงเพิ่มขึ้น เทียบกับปีที่แล้ว
📌 ปี 2565 บริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่ผลิตรถได้น้อยลง
ตามข้อมูลการผลิตรถยนต์ภาพรวมของทั้งตลาด สรุปได้ดังนี้
ไตรมาสที่ 2/2564 ผลิตได้ 3.78 แสนคัน ลดลงร้อยละ 18
ไตรมาสที่ 3/2564 ผลิตได้ 3.67 แสนคัน ลดลงร้อยละ 3.02
ไตรมาสที่ 4/2564 ผลิตได้ 4.73 แสนคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.97
ไตรมาสที่ 1/2565 ผลิตได้ 4.8 แสนคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.33
ไตรมาสที่ 2/2565 ผลิตได้ 3.9 แสนคัน ลดลงร้อยละ 18.76
โดยปริมาณการผลิตรถยนต์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เราจะเห็นว่ามีปริมาณการผลิตที่สูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากขนาดตลาดในประเทศที่ขยายตัวขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้คนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น
แต่ในอีกแง่มุม ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่แพงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจนทำให้ต้นทุนการผลิตสูง รวมถึงการชะลอตัวของตลาดส่งออกทั่วโลกจากปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนรถยนต์
อย่างไรก็ตาม ยังมีเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV Car ที่กำลังได้รับความสนใจจากทั้งผู้บริโภค และกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาราคาน้ำมันได้ดี โดยมีหลายบริษัทรถยนต์ที่กำลังวางแผนผลิต รวมทั้งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาวางขายในตลาด ไม่ว่าจะเป็น Toyota bZ4X, MG4 EV (MG CyberE), MG EP Minorchange, Nissan Ariya ฯลฯ นี่จึงอาจเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับรายได้ของบริษัทรถยนต์เหล่านี้ในปีหน้า และเป็นที่มาของการจ่ายเงินโบนัสที่สูงท่ามกลางวิกฤติ
📌 2566 อุตสาหกรรมรถยนต์หนุนไทยผลิตรถ EV ระดับโลก
หากในปีนี้ ใครที่ได้ติดตามข่าวสารของอุตสาหกรรมรถยนต์ อาจจะได้เห็นข่าวแบรนด์รถยนต์ดังๆ หลายแบรนด์ที่เข้ามาสร้างฐานการผลิตรถยนต์ในไทย ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ และนักลงทุนควรจับตามอง
โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้รายงานความคืบหน้าการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ถึงปัจจุบัน มีโครงการที่ได้รับส่งเสริมในกิจการดังกล่าวแล้ว รวม 26 โครงการ จาก 17 บริษัท ได้แก่
1. โครงการผลิต Hybrid Electric Vehicle (HEV) จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ GWM, Honda, Mazda, MG, Mitsubishi, Nissan, Toyota
2. โครงการผลิต Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) จำนวน 8 โครงการ ได้แก่ BMW, BYD, GWM, Mercedes Benz, Mazda, MG, Mitsubishi, Toyota
3. โครงการผลิต Battery Electric Vehicle (BEV) จำนวน 15 โครงการ ได้แก่ BYD, FOMM, GWM, Honda, Horizon, Mazda, Mercedes Benz, MG, Mine Mobility (2 โครงการ), Mitsubishi, Nissan Skywell, Takano, Toyota
4. โครงการผลิตรถบัสไฟฟ้า (E-bus) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ Absolute Assembly และสกุลฎ์ซี (เนื่องจากบางโครงการได้รับการส่งเสริมในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 1 ประเภทในโครงการเดียวกัน ทำให้จำนวนโครงการเมื่อแยกตามรายประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว จะสูงกว่าจำนวนโครงการรวม)
ทั้งนี้ เป็นมูลค่าการลงทุนรวม 80,208.6 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) รวมกำลังการผลิตจำนวน 838,775 คัน แยกเป็น HEV 38,623.9 ล้านบาท 440,955 คัน, PHEV 11,665.6 ล้านบาท 137,600 คัน, BEV 27,745.2 ล้านบาท 256,220 คัน และ Battery Electric Bus 2,173.8 ล้านบาท 4,000 คัน โดยบริษัทที่เริ่มการผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว ได้แก่ Absolute Assembly, BMW, FOMM, GWM, Honda, Mercedes Benz, MG, Mitsubishi, Nissan, Takano, Toyota
และยังมีอีกหลายโครงการที่มีแผนที่จะผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 2566 และ 2567 เช่น
🚗 BYD ตัดสินใจลงทุนสร้างฐานการผลิตแห่งแรกนอกประเทศจีน ที่นิคมอุตสาหกรรม WHA ระยอง 36 โดยคาดกำลังผลิต 1.5 แสนคันต่อปี
🚗 Ford ตั้งไทยเป็นฐานผลิต EV รุ่นใหม่ โดยตั้งเป้าผลิต Ford Ranger รุ่นไฟฟ้าภายในปี 2024 แล้วค่อยพัฒนา Ford Everest รุ่นไฟฟ้าต่อไป
🚗 GWM วางแผนให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนภายในไตรมาส 4 ปีหน้า โดยเริ่มประกอบแบตเตอรี่ และผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% จากสายการผลิตระยองได้ในไตรมาส 1 ปี 2024
นี่จึงอาจเป็นสัญญาณดีของวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในอนาคต ที่มองเห็นช่องทางใหม่ทางธุรกิจ ส่งผลดีต่อแรงงานในไทย และเป็นที่มาของการจ่ายโบนัสก้อนใหญ่ในปีนี้ก็เป็นได้ สำหรับนักลงทุนก็ควรติดตามข่าวสาร ระมัดระวังในการลงทุน และอย่าลืมติดตามข่าวสารดีๆ จาก SkillLane นะครับ
#การลงทุน #เศรษฐกิจ #โบนัส #รถยนต์ #อุตสาหกรรมรถยนต์
#เรียนออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา
โฆษณา