Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ญี่ปุ่น 5 นาที
•
ติดตาม
9 ธ.ค. 2022 เวลา 13:32 • ประวัติศาสตร์
กิโมโนแบบไหนที่ผู้หญิงแต่งงานแล้วใส่ไม่ได้ ?
เครดิตภาพ : https://ameblo.jp/kimonowasen/entry-12446509958.html
เมื่อพูดถึงการเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศญี่ปุ่น อีกหนึ่งกิจกรรมที่เรียกได้ว่าเป็น must have! นั่นก็คือ การสวมใส่ชุดประจำชาติอย่าง “กิโมโน” ถ่ายรูปสวย ๆ เก็บไว้เป็นที่ระลึก
2
นอกจากความสวยงามของชุดกิโมโนแล้ว เคยสังเกตหรือไม่ว่ากิโมโนมีทั้งแขนสั้นและยาว ซึ่งแต่ละแบบยังมีความหมายในตัวเองอีกด้วย
1
"ที่มาที่ไปของกิโมโน"
กล่าวกันว่าญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลเครื่องแต่งกายมาจากง่อก๊กหรือตงอู๋ ซึ่งเป็นดินแดนทางใต้ของจีน (บริเวณเมืองหนานจิงในปัจจุบัน) มาตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 3 และต่อมาได้ปรับให้เป็นรูปแบบของตัวเองในช่วงศตวรรษที่ 8 (ยุคเฮอัน) โดยนำผ้าไหมมาตัดซ้อนชิ้นกันจนกลายเป็นจูนิฮิโตเอะ (十二単) เสื้อแขนกว้างที่นิยมใส่กันในราชสำนัก ส่วนชนชั้นนักรบจะสวมใส่เสื้อซ้อนชั้นแขนแคบ (ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของกิโมโนในยุคปัจจุบัน) และประชาชนทั่วไปจะสวมเสื้อแขนทรงกระบอกเพื่อให้ความคล่องตัวเวลาทำงาน
2
จูนิฮิโตเอะ การแต่งกายที่นำเสื้อมาใส่ซ้อนทับกัน 12 ชั้น เครดิตภาพ : https://kyoto-kyuteibunka.or.jp/column/741/
เมื่อชนชั้นนักรบเข้ามามีบทบาทด้านการปกครองในยุคคามาคุระ การแต่งกายแบบเสื้อแขนแคบเริ่มได้รับความนิยม แม้แต่ผู้หญิงก็เปลี่ยนมาสวมเสื้อซ้อนชั้นแบบแขนแคบและเพิ่มการสวมเสื้อคลุมฮาโอริ (羽織) เพื่อให้ดูหรูหรามากขึ้น แต่ด้วยความที่เสื้อผ้าดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับเสื้อแขนกระบอกของประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก จึงมีการนำชิ้นผ้ามาต่อเข้ากับชายแขนให้ยาวคล้ายถุงเรียกว่า “กิโมโน” เป็นการแบ่งแยกจากเสื้อแขนกระบอกแบบทั่วไป
1
ลักษณะการเอาถุงผ้ามาต่อแขนให้กลายเป็นกิโมโนอย่างในปัจจุบัน เครดิตภาพ : https://ameblo.jp/color-of-the-sunset/entry-11712215614.html
ต่อมาในยุคเอโดะ บ้านเมืองพัฒนาประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น การแต่งกายแบบกิโมโนแพร่หลายไปสู่บรรดาพ่อค้าประชาชน มีการกำหนดขอบเขตการแต่งกายขึ้นตราเป็นกฎหมายป้องกันความฟุ่มเฟือย (奢侈禁止令) เพื่อยับยั้งความหรูหราฟุ่มเฟื่อยที่เกินพอดีในการใช้จ่ายเงินไปกับการแต่งกาย โดยกำหนดให้สีสัน ลวดลาย และเนื้อผ้าที่ใช้ทำกิโมโนต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ “ชิจูฮัตจะเฮียกุเนสึมิ – 四十八茶百鼠” ทว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวถูกยกเลิกไปเมื่อเข้าสู่ยุคเมจิที่ต้องการมุ่งเน้นแนวคิดความเท่าเทียมกันของบุคคล
3
ตัวอย่างสีผ้าที่กำหนดไว้ใน "ชิจูฮัตจะเฮียกุเนสึมิ" เครดิตภาพ : https://note.com/keisfacotry/n/n17ba90bd5644
"ลวดลายสวยบนกิโมโนล้วนมีความหมาย"
เห็นกิโมโนสีสันสวยงามละลานตา ทว่าแต่ละชุดแต่ละลายกลับแฝงด้วยความหมายพิเศษซึ่งช่วยให้สาว ๆ แดนปลาดิบเลือกใส่ให้เข้ากับวาระพิเศษได้ง่ายขึ้น
2
เครดิตภาพ : https://thegate12.com/jp/article/416
ลวดลายกิโมโนที่เหมาะกับงานมงคล
【นกกระเรียน】อายุยืนยาว, ชีวิตคู่ราบรื่น นิยมใส่ในงานแต่งงาน
【นกฟีนิกซ์】สันติสุขและความปรองดอง นิยมใส่ในงานแต่งงานหรืองานเฉลิมฉลองต่าง ๆ
【สนไผ่และดอกบ๊วย】ความอดทนไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคและการก่อกำเนิด เหมาะกับงานอวยพรเด็กแรกเกิด
【กระแสน้ำ】อนาคตที่ไม่มีจุดสิ้นสุดเฉกเช่นสายน้ำที่ไหลรินไปไม่หยุดนิ่ง นิยมใส่ในวันปฐมนิเทศหรือพิธีจบการศึกษา
2
นอกจากนี้ลวดลายดอกไม้อย่างซากุระ โบตั๋น และสึบากิ ยังแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ สัตว์อย่างผีเสื้อที่สื่อถึงสุขภาพดี และกระต่ายที่ให้ความหมายถึงการสืบทอดวงศ์ตระกูลยังเป็นลายกิโมโนที่เป็นที่นิยมอีกด้วย
3
"ประเภทของกิโมโน"
เครื่องแต่งกายประจำชาติแดนซากุระเองก็มีลำดับขั้นในการแต่งกายตามวาระโอกาสที่แตกต่างกันไป โดยเรียงลำดับจากงานที่เป็นทางการที่สุด
1
อุจิคาเคะ – 打掛
เป็นกิโมโนบุผ้าหนาสำหรับใส่ในพิธีแต่งงานที่มีความเป็นพิธีรีตอง แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ อุจิคาเคะสีขาว และอุจิคาเคะสี
3
อุจิคาเคะสีขาว เครดิตภาพ : https://www.l-cinderella.com/column/?act=Detail&mode=View&id=00000397
นัยยะสำคัญของอุจิคาเคะสีขาวคือ ความบริสุทธิ์และยังเป็นการแสดงถึงความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อมาเป็นสมาชิกของอีกครอบครัวหนึ่ง เหมือนกระดาษสีขาวที่แต่งแต้มสีสันใหม่ ๆ ลงไปได้ ส่วนอุจิคาเคะสี นิยมใช้สีแดงเนื่องจากสื่อความหมายถึง เลือดจากครอบครัวใหม่ที่จะหลอมรวมเข้ากับตัวเจ้าสาว ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นกิโมโนสีขาวหรือสีแดงล้วนแต่มีความหมายถึงการหลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเจ้าบ่าวนั่นเอง
2
อุจิคาเคะสีแดง เครดิตภาพ : https://cordy.jp/products/detail.php?product_id=1173
ทั้งนี้กิโมโนสำหรับพิธีแต่งงานอย่างอุจิคาเคะก็ยังมีข้อกำหนดในการสวมใส่ยิบย่อยลงมาอีก เช่น อุจิคาเคะสีขาวเป็นเครื่องแต่งกายที่มีความเป็นทางการสูงที่สุดจึงมักสวมใส่เฉพาะเมื่อประกอบพิธีแต่งงานทางศาสนาอย่างการประกอบพิธีในศาลเจ้า ส่วนอุจิคาเคะสีแดงนิยมสวมใส่ในงานเลี้ยงฉลองเสียมากกว่า
2
คุโรมงสึคิ – 黒紋付
กิโมโนสีดำล้วน ไร้ลวดลายใด ๆ มีตราประจำตระกูลบริเวณหลังคอเสื้อ แขนทั้งสองข้าง และข้างอกสองฝั่ง เป็นกิโมโนสำหรับงานอวมงคล
1
เครดิตภาพ : https://kitsuke-school.jp/basic/533/
ฟูริโซเดะ – 振袖
กิโมโนชายแขนยาวที่ทำด้วยความปราณีต ถือเป็นกิโมโนทางการที่สุดสำหรับหญิงสาวที่ยังไม่ผ่านการแต่งงาน นิยมทำลวดลายดอกไม้ที่มีสีสันสดใส ใช้ใส่ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น พิธีบรรลุนิติภาวะ งานเลี้ยงฉลอง พิธีชงชาครั้งแรกของปีที่เรียกว่า ฮัตสึคามะ – 初釜 เป็นต้น นอกจากนี้ฟูริโซเดะยังแบ่งความยาวของชายแขนออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับยาว 85 ซม. นิยมใส่ในพิธีชงชา, ระดับยาวปานกลาง 100 ซม. นิยมใส่ในพิธีบรรลุนิติภาวะ และระดับยาวที่สุด 114 ซม. นิยมใส่ในพิธีเฉลิมฉลองต่าง ๆ อย่างงานแต่งงาน
2
ฟูริโซเดะทั้งสามประเภท เครดิตภาพ https://labliss.net/search/column/types-of-kimono/
ฟูริโซเดะยังเป็นต้นกำเนิดของคำศัพท์ยอดฮิตอย่างคำว่า “นก” อีกด้วย
ศัพท์แสลงภาษาไทยที่ให้ความหมายว่า อกหักหรือถูกปฏิเสธรัก อย่างคำว่า “นก” ในภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า “ฟุราเรตะ – 振られた” ซึ่งมีที่มาจากการส่ายชายแขนกิโมโนฟูริโซเดะของฝ่ายหญิงนั่นเอง เนื่องจากในอดีตการที่ผู้หญิงโสดพูดโต้ตอบกับฝ่ายชายเป็นการกระทำที่ดูไม่เหมาะสม จึงใช้ชายแขนกิโมโนเป็นการแสดงความรู้สึกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขอบคุณ ขอโทษ ดีใจ เศร้าใจ หรือแม้แต่การปฏิเสธ
2
ดังนั้น ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วส่วนใหญ่อยู่แต่ในบ้าน ไม่จำเป็นต้องสื่อสารกับผู้ชายนอกบ้าน รวมทั้งหญิงชนชั้นสูงที่ต้องเข้าสังคม หากแต่งงานแล้วก็จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใส่กิโมโนแขนสั้น (โทเมโซเดะ – 留袖) เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเข้าใจผิดในการแสดงความรู้สึกผ่านชายกิโมโน
1
โทเมโซเดะ – 留袖
กิโมโนชายแขนสั้นที่มีลวดลายเฉพาะท่อนล่าง แบ่งออกเป็นโทเมโซเดะสีดำ (黒留袖) เป็นกิโมโนที่ใช้ในงานทางการของหญิงที่แต่งงานแล้ว มีตราประจำตระกูลที่ด้านหลังคอเสื้อ แขนสองข้าง และข้างอกสองฝั่ง สามารถสวมใส่เข้าร่วมงานมงคลที่เป็นทางการได้หลากหลายและสุภาพมากที่สุด ส่วนโทเมโซเดะสี (色留袖) เป็นกิโมโนที่ใช้ในงานทางการ สามารถสวมใส่ได้ทั้งผู้หญิงที่ยังโสดและแต่งงานแล้ว ตราประจำตระกูลที่ชุดก็มักมีจำนวนลดหลั่นลงตามวาระของงานที่เข้าร่วมด้วย
1
เครดิตภาพ : https://www.nanairokimono.jp/products/detail/150
โฮมงกิ – 訪問着
เป็นกิโมโนที่เป็นทางการน้อย รองจากฟูริโซเดะและโทเมโซเดะ มีลวดลายตั้งแต่ปก แขน เรื่อยลงมาถึงท่อนล่าง เหมาะสำหรับสวมใส่ร่วมงานกึ่งทางการอย่างการร่วมรับประทานอาหาร ชมการแสดง เป็นต้น
1
กิโมโนแบบโฮมงกิ เครดิตภาพ : https://tokyo-kimono.com/kimono/houmongi.php
สึเคซาเกะ – 付け下げ
มีลักษณะคล้ายคลึงกับโฮมงกิเป็นอย่างมาก แต่เป็นทางการน้อยกว่า มักมีลวดลายที่ไหล่ซ้ายและมีสีสันที่เรียบง่ายกว่า นิยมสวมใส่ร่วมงานกึ่งทางการ
2
สึเคซาเกะจะมีสีสันและลวดลายที่ไม่โดดเด่นมากนัก เครดิตภาพ : https://walin.jp/plan/natsu.html
อิโรมุจิ – 色無地
กิโมโนสีพื้นที่ไม่มีลวดลายใด ๆ นิยมใส่ร่วมงานที่ไม่เป็นทางการมากนักอย่างงานเลี้ยงรุ่น ทว่าหากมีตราประจำตระกูลติดอยู่ที่กิโมโนอิโรมุจิ ก็สามารถสวมใส่เข้าร่วมงานทางการได้มีความสุภาพเทียบเท่าโฮมงกิ
1
อิโรมุจิ เครดิตภาพ : https://kitsuke-school.jp/basic/533/
โคะมง – 小紋
เป็นกิโมโนแบบลำลองที่ผู้หญิงญี่ปุ่นในอดีตสวมใส่ในชีวิตประจำวัน นิยมใส่เดินเล่นหรือร่วมงานเลี้ยงที่มีความเป็นกันเองค่อนข้างสูง ไม่นิยมใส่กิโมโนโคะมงเข้าร่วมงานที่เป็นทางการเพราะดูไม่สุภาพ กิโมโนชนิดนี้ยังแบ่งออกเป็น 3 ชนิดตามลวดลายบนผ้า
2
กิโมโนแบบโคะมง เครดิตภาพ : https://kitsuke-school.jp/basic/533/
ซึ่งหากเป็นลวดลายขนาดเล็กมีความละเอียดมาก เรียกว่า เอโดะโคะมง (江戸小紋) ส่วนลวดลายที่ใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อยและสีสันสดใส เรียกว่า คะกะโคะมง (加賀小紋) และลายผ้าที่ทอเป็นลวดลายต้นไม้ใบหญ้าดอกไม้ต่าง ๆ เรียกว่า เคียวโคะมง ซึ่งแต่ละแบบล้วนแล้วทำให้ผู้สวมใส่เพลิดเพลินกับการแต่งกายในชีวิตประจำวัน
1
สึมุงิ – 紬
เป็นกิโมโนลำลองที่ใช้ด้ายจากรังไหมนำไปย้อมสีก่อนทอขึ้นเป็นผ้าสำหรับตัดกิโมโน ดังนั้นเนื้อผ้าจึงมีความทนทานมากกว่ากิโมโนชนิดอื่น ๆ ใช้สวมใส่ในชีวิตประจำวันทั่วไป และไม่เหมาะที่จะสวมใส่เข้าร่วมงานที่เป็นทางการต่าง ๆ
1
สึมุงิ เครดิตภาพ : https://kitsuke-school.jp/basic/533/
ยูกาตะ – 浴衣
กิโมโนที่คนไทยอย่างเรา ๆ น่าจะคุ้นเคยมากที่สุด ทำจากผ้าฝ้ายบางทำให้อากาศถ่ายเทสะดวกและทำความสะอาดง่าย เหมาะกับการสวมใส่ในฤดูร้อน มีความเป็นทางการน้อยที่สุด ปัจจุบันหนุ่มสาวญี่ปุ่นนิยมสวมใส่ชุดยูกาตะเดินเที่ยวงานเทศกาลฤดูร้อนหรืองานดอกไม้ไฟ นอกจากนี้ตามเรียวกัง โรงแรมแบบญี่ปุ่นยังจัดเตรียมชุดยูกาตะให้แขกที่มาพักสวมใส่ขณะพักผ่อนภายในโรงแรมด้วย
1
ชุดยูกาตะที่นิยมใส่ในฤดูร้อน เครดิตภาพ : https://kitsuke-school.jp/basic/533/
แม้ว่าในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่จะไม่ได้สวมใส่ชุดกิโมโนในชีวิตประจำวันเหมือนอย่างในอดีต ด้วยการรับเอาวัฒนธรรมการสวมใส่เสื้อผ้าตามแบบตะวันตกเข้ามาในช่วงปฏิรูปเมจิก็ดี แต่ก็ยังสามารถพบเห็นการสวมใส่กิโมโนในวาระโอกาสต่าง ๆ ได้ สาเหตุก็คงมาจากการที่ผู้คนยังให้ความสำคัญกับการสวมใส่ชุดประจำชาติในพิธีการสำคัญต่าง ๆ เช่น พิธีเฉลิมฉลองอายุครบ 3,5,7 ขวบ พิธีบรรลุนิติภาวะ พิธีสำเร็จการศึกษา พิธีแต่งงาน เป็นต้น
1
นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมพิเศษที่สนับสนุนให้คนญี่ปุ่นหันมาสวมใส่ชุดกิโมโนอีกด้วยอย่าง อย่างเช่น
1
กิโมโนพาสปอร์ตเมืองเกียวโต
ช่วงปลายเดือนกันยายนของทุกปี การท่องเที่ยวจังหวัดเกียวโตจะจัดทำพาสปอร์ตกิโมโนนำไปวางไว้ที่จุดบริการตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ และร้านค้า เพื่อให้ผู้ที่สนใจหยิบไปใช้ โดยการสวมใส่ชุดกิโมโนเดินเล่นตามสถานที่ท่องเที่ยวหรือเข้าไปใช้บริการในร้านค้าที่เข้าร่วมกิจกรรม จะได้รับตราประทับ เมื่อรวบรวมได้ตามที่กำหนดจะได้รับสิทธิหรือบริการพิเศษ โดยพาสปอร์ตกิโมโนจะมีอายุการสะสมถึงหนึ่งปีเลยทีเดียว
2
เครดิตภาพ : https://okimono.citylife-new.com/e106418.html
วันกิโมโน – เมืองคาวะโกเอะ จังหวัดไซตามะ
เมืองคาวะโกเอะได้กำหนดให้ทุกวันที่ 8, 18 และ 28 ของเดือน เป็นวันสวมใส่ชุดกิโมโนครอบคลุมไปจนถึงชุดยูกาตะ ออกมาเดินเล่นหรือใช้บริการตามร้านค้าต่าง ๆ ในเมือง จะได้รับส่วนลดในการซื้อสินค้าหรือใช้บริการ โดยเฉพาะวันที่ 8 มกราคม ซึ่งอยู่ในช่วงไหว้พระขอพรปีใหม่จะเป็นช่วงที่ผู้คนเข้าร่วมกิจกรรมมากที่สุดในทุก ๆ ปี
1
คาวะโกเอะ ย่านเมืองเก่าแห่งไซตามะ เครดิตภาพ : https://www.tobu.co.jp/odekake/area/tojo-line-south/tojo-line-south012.html
สัปดาห์สวมกิโมโนชมใบไม้แดง – เมืองฮากิ จังหวัดยามากุจิ
สมาคมการท่องเที่ยวเมืองฮากิ ในจังหวัดยามากุจิ ได้จัดให้มีสัปดาห์กิโมโนขึ้นเป็นประจำทุกสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม โดยจะแจกสมุดบันทึกให้แก่ผู้ที่สวมใส่ชุดกิโมโนเพื่อสะสมแต้ม แล้วนำไปใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าหรือเข้ารับบริการตามร้านค้าต่าง ๆ ในเมือง โดยไฮไลท์ของกิจกรรมคือ การสวมกิโมโนเดินในตรอกเก่าย่านโจคะมาจิชมใบไม้แดง
1
เครดิตภาพ : https://www.hagikan.com/news/detail.php?id=32
เครื่องแต่งกายประจำชาติอย่างกิโมโนที่มีขั้นตอนการสวมใส่ซับซ้อน ราคาแพง และเก็บรักษายาก ประกอบกับแฟชั่นการแต่งกายในปัจจุบันที่ไม่ยุ่งยากเท่าและดูเป็นสากลมากกว่า กลายเป็นเหตุที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญน้อยลง แต่เนื่องจากการนำเอาชุดกิโมโนไปผูกไว้กับพิธีการสำคัญ ๆ ในชีวิต ประกอบกับการส่งเสริมให้ผู้คนได้มีโอกาสหรือประสบการณ์ในการแต่งกายด้วยชุดประจำชาติที่บ่อยขึ้น จึงทำให้ความงดงามของกิโมโนไม่ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา
1
ญี่ปุ่น
ความรู้รอบตัว
3 บันทึก
6
10
3
6
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย