10 ธ.ค. 2022 เวลา 02:07 • ข่าว
มังกรการเมือง บรรหาร ศิลปอาชา กับมรดกการเมืองชิ้นใหญ่ ที่ผลักดันรฐน 40 ฉนับประชาชน
วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็น
วันที่ระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม
ถ้ากล่าวถึงรัฐธรรมนูญแล้ว เชื่อว่าคนไทยทุกคนจะต้องนึกถึง “รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดฉบับที่ 16 ของประเทศ” และถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และผู้ที่ริเริ่มขึ้นคือพรรคชาติไทย นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ของประเทศไทย หรือได้รับขนานนามในดินแดนบ้านเกิดเมืองสุพรรณบุรีว่า 'มังกรการเมืองแห่งสุพรรณฯ'
ความเกี่ยวเนื่องของรัฐธรรมนูญ 2540 เริ่มจาก ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2538 พรรคชาติไทย ภายใต้การนำของ ท่านบรรหารฯ ได้มีปณิธานอันแน่วแน่ที่จะปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ซึ่งความคิดเรื่องปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นหลังการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2534 จาก ศ.อมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำเสนอข้อเขียนเรื่อง 'รัฐธรรมนูญ : โครงสร้างและกลไกกฎหมาย' ซึ่งเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ขณะนั้นล้าหลังกว่าที่ควรจะเป็นถึง 50 ปี
"หากเลือกพรรคชาติไทยเป็นรัฐบาล ผมจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 เพื่อดำเนินการปฏิรูปการเมือง" นี่คือสัญญาประชาคมที่ท่านได้ประกาศไว้ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2538 และท่านก็ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2538 ดังนี้
1.การพัฒนาสถาบันการเมืองและการจัดทำแผนพัฒนาการเมือง
-จัดทำแผนพัฒนาการเมืองที่สอดคล้องกับนโยบายแห่งรัฐและปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดยดำเนินการปฏิรูปการเมืองเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินและตรวจสอบทางการเมือง
-สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ทั้งนี้โดยคำนึงถึงข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย
หลังเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ท่านบรรหารฯ ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 118/2538 แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) เพื่อจัดทำแผนพัฒนาการเมืองให้สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
และให้เสนอแนวทางและวิธีการปฏิรูปการเมืองและดำเนินการแก้ไขประเด็นการปฏิรูปการเมืองเร่งด่วนและให้พิจารณาแนวทางดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 211 แม้จะมีคำคัดค้านบั่นทอนว่า “เป็นเรื่องยากที่จะผลักดัน ควรจะค่อยๆ ทำกันไปจนกว่าจะหมดรัฐบาลก็ได้" หรือแม้แต่ “บรรหารตระบัดสัตย์ ไม่จริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ” แต่ท่านยังแน่วแน่ให้เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จตามที่เคยลั่นวาจาไว้
หลังจากนั้นได้มีการเสนอในคณะรัฐมนตรี เพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ซึ่งได้สำเร็จในวาระที่สามเมื่อครั้งการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 3 สมัยวิสามัญ ครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2539 ถึงแม้รัฐบาลท่านบรรหารฯ จะสิ้นสุดลงจากการยุบสภาเมื่อปี พ.ศ.2539 แต่สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดดังกล่าวก็ยังทำหน้าที่และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เป็นผลสำเร็จจำนวน 339 มาตรา
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2540 สภาร่างรัฐธรรมนูญมีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่ปรับลดเหลือ 336 มาตรา โดยในวันที่ 4-10 กันยายน พ.ศ.2540 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ และรอการพิจารณาลงมติไว้อีก 15 วัน กระทั่งวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2540 รัฐสภาจึงลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ...
ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2540 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาขณะนั้น พร้อมด้วยนายมีชัย ฤชุพันธุ์' ประธานวุฒิสภา, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี, 'นายชวน หลีกภัย' ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. 2540 เป็นต้นไป
นี่ถือเป็นมรดกชิ้นสำคัญของมังกรการเมืองสุพรรณฯ ที่ได้มอบให้กับประชาชนก่อนคืนสู่ฟากฟ้า แม้ว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 จะมีอายุการใช้เพียง 8 ปี 11 เดือน 9 วัน ก็ตาม แต่กลับถูกยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน และดีที่สุดอีกฉบับหนึ่งซึ่งท่านบรรหารฯ เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั่นเอง
โฆษณา