10 ธ.ค. 2022 เวลา 05:22 • ไลฟ์สไตล์
More dangerous! More Fun?
ทำไมคนเรามีความกลัวไม่เหมือนกัน?
ทำไมบางคนถึงมองว่าการเผชิญสิ่งที่น่ากลัว ตื่นเต้น หวาดเสียว เป็นเรื่องสนุกได้อย่างน่าประหลาด
ถ้าหากเปรียบเทียบกับประสบการณ์ในการชมภาพยนตร์สยองขวัญ ความกลัวเหล่านี้สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งทำการสแกนสมองของผู้ทดสอบที่ชมภาพยนตร์สยองขวัญพบว่า สมองส่วนอะมิกดะลา (Amygdala) ที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ อารมณ์ จะตื่นตัวทันทีเมื่อเผชิญกับความกลัว ในเวลานั้นฮอร์โมนต่างๆ เช่น อาดรีนาลีน รวมทั้ง โดพามีน จะพลุ่งพล่านทั่วร่างกาย ส่งผลให้รูม่านตาขยาย เหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งเป็นระยะที่เรียกว่าพร้อมตอบสนองที่จะ "สู้" หรือ "หนี"
แต่ว่า ทำไมคนเรายังชอบกระโดดจากที่สูง (Bungy Jump) ไปเที่ยวบ้านผีสิง หรือชมภาพยนตร์สยองขวัญ ทั้งที่รู้ว่าจะต้องเจอกับเรื่องน่ากลัว
การทดสอบนี้ได้ไขสู่คำตอบว่า การที่ยังมีคนที่กล้าทำสิ่งที่ตื่นเต้นหวาดเสียว หรือน่ากลัวอยู่ นั่นก็เพราะว่า "จิตใต้สำนึก" ของพวกของรู้ว่าพวกเขาปลอดภัย ไม่ได้เป็นอันตราย และไม่มีทางต้องตายแน่นอน
คนกลุ่มนี้จะใช้ประโยชน์จากสารเคมีในสมองและฮอร์โมนที่พลุ่งพล่านถาโถมท่ามกลางความกลัว ณ เวลานั้น เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดี หรือที่เรียกว่า "High” ในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าคุณเป็นคนประเภทที่ชอบประสบการณ์หวาดเสียวหรือน่ากลัว และรู้สึกสนุกสนานเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์เหล่านี้ ก็ถือว่าเป็นของขวัญล้ำค่าที่ร่างกายมอบความสุขรูปแบบนี้ให้คุณ ผ่านทางการหลั่งฮอร์โมนและสารสื่อประสาท เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถควบคุมสมองเมื่อเผชิญกับความกลัวชั่วขณะแบบนี้ได้
นั่นอธิบายได้ว่าทำไมร่างกายของนักแข่งมอเตอร์ไซค์จึงต้องการแรงเหวี่ยง!
OR BRIC Superbike Championship
แล้วร่างกายเราได้ประโยชน์อะไรจากการทำเรื่องแบบนี้อีกมั๊ย? นอกจาก "ความตื่นเต้น" หรือ "ความสนุกสนาน"
ก็คงงั้นมั้ง เพราะอะดรีนาลีนมีความจำเป็นต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดมากทีเดียว มันช่วยทำให้หัวใจเต้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เลือดสูบฉีดได้ดีและหัวใจของเราก็จะแข็งแรง โดยการหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีนออกมามากกว่าเดิมในช่วงเวลาที่ร่างกายตกอยู่ในสภาวะความเครียด, ความกดดัน, ความกลัว หรือความโกรธ มันก็จะยิ่งช่วยส่งเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของร่างกายได้มากขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้ร่างกายเรามีประสิทธิภาพสูงขึ้นภายในระยะเวลาสั้นๆ
นั่นอธิบายได้ว่าทำไมบางคนถึงสามารถวิ่งหนีอันตรายได้อย่างรวดเร็ว หรือยกของหนักๆ หนีออกจากบ้านที่กำลังไฟไหม้ รวมถึงรอดจากเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์
แล้วถ้าอยากทำให้อะดรีนาลีนหลั่งเพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง แต่ไม่ชอบความตื่นเต้นหวาดเสียว แบบนี้ต้องทำยังไง?
มีข้อมูลจากบทความและงานวิจัยหลายชิ้นที่ให้ข้อสรุปที่อาจได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกันว่า ในโลกนี้มีสิ่งดีๆ หลายอย่าง สิ่งที่สวยงาม สิ่งที่เราไม่อาจมองเห็นมันด้วยตา ไม่อาจใช้มือจับต้องมันได้ แต่เราสามารถสัมผัสรับรู้มันได้ด้วยหัวใจ หนึ่งในนั้นคือความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นในขณะที่เรา "วิ่ง"
ประสบการณ์ที่ได้รับจากการวิ่งของแต่ละคนนั้นอาจแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่จะทำให้รู้สึกเศร้าน้อยลง ใจสงบมากขึ้น ไม่กี่นาทีหลังจากที่เหนื่อยหอบ เราจะหยุดคิดเรื่องร้ายๆ ความคิดที่สงบลงจะทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย และสิ่งที่เกิดขึ้นจากการวิ่งมันเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนที่ชื่อ คอร์ติซอล (Cortisol) หรือ “ฮอร์โมนแห่งความเครียด” ที่ร่างกายหลั่งออกมาเมื่ออยู่ในสภาวะสู้หรือหนี
นักวิทยาศาสตร์พบว่าเมื่อเราออกกำลัง ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลจะลดต่ำลง และเราก็จะรู้สึกเครียดน้อยลง ผลจากการออกกำลังกายมันจะคล้ายๆ กับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในตอนที่หลั่งอะดรีนาลีนออกมามากขึ้น คือ รูม่านตาขยาย, เหงื่อออก, หัวใจเต้นเร็วขึ้น บลาๆๆ
ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องเอามอเตอร์ไซค์ออกไปซิ่งหนีตำรวจบนถนนเพื่อให้อะดรีนาลีนหลั่ง แล้วเสพความตื่นเต้นกับเรื่องสนุกอย่างน่ากลัวแบบนั้นหรอกนะวัยรุ่น...ออกไปวิ่งไป๊!
โฆษณา